วัตถุประสงค์ของการใช้วัสดุการแพทย์
วัสดุการแพทย์สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายลักษณะ ทั้งการนำตัววัสดุนั้นไปใช้ประโยชน์ในการทำหน้าที่ต่างๆ โดยตรง และการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อที่จะนำไปใช้งานทางการแพทย์อีกต่อหนึ่งก็ได้ วัสดุบางประเภทอาจนำไปใช้งานเป็นระยะเวลานาน บางประเภทอาจใช้งานได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ หากมองถึงวัตถุประสงค์ในการใช้งานโดยรวม ของวัสดุการแพทย์แล้ว อาจแบ่งออกได้ ดังนี้
๑. ใช้ในการทดแทนส่วนของร่างกายที่เสียหาย
เมื่ออวัยวะหรือส่วนของอวัยวะภายใน ร่างกายเกิดความเสียหาย ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีเช่นเดิม ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุจากการเจ็บป่วย หรือจากการเสื่อมสภาพ ของอวัยวะดังกล่าวก็ตาม จะต้องเอาอวัยวะ หรือส่วนของอวัยวะดังกล่าวออกไป แล้วนำวัสดุ หรืออุปกรณ์การแพทย์ มาใช้ทดแทนการทำหน้าที่ของอวัยวะ หรือส่วนของอวัยวะดังกล่าวนั้น เพื่อให้สามารถกลับมาทำหน้าที่ ได้ใกล้เคียงอวัยวะนั้นๆ ดังเดิม ตัวอย่างของวัสดุการแพทย์ ที่นำมาใช้งานในลักษณะนี้ ได้แก่ ข้อเทียม หมอนรองกระดูกเทียม เครื่องล้างไตเทียม

เครื่องล้างไตเทียม ใช้สำหรับผู้ป่วยที่ไตวาย
และไม่สามารถขจัดของเสียได้ตามธรรมชาติ
๒. ช่วยรักษาการบาดเจ็บของร่างกาย
การบาดเจ็บของผู้ป่วยในบางลักษณะ เช่น การฉีกขาดของผิวหนัง หรือการแตกหักของกระดูก ร่างกายสามารถรักษาบาดแผลเหล่านั้น ได้ด้วยตัวเอง แต่เพื่อให้การรักษานั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ แพทย์จะใช้วัสดุหรืออุปกรณ์ต่างๆ ในการช่วยรักษาตัวเองของร่างกาย ตัวอย่างของวัสดุการแพทย์ ที่ใช้เพื่อจุดประสงค์นี้ ได้แก่ ไหมเย็บแผล สำหรับยึดติดการฉีกขาดของเนื้อเยื่อ เฝือก แผ่นดามกระดูก และสกรูดามกระดูกสำหรับยึดติด ในบริเวณที่เกิดการแตกหักของกระดูก

ดั้งจมูกเทียม
๓. ปรับปรุงการทำงานของร่างกาย
ในบางครั้ง อวัยวะของมนุษย์ อาจจะมีประสิทธิภาพในการทำงาน ลดลง ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เราก็ต้องการวัสดุการแพทย์ ที่จะเข้าไปช่วยเสริม หรือปรับปรุงการทำงานของอวัยวะดังกล่าว ให้กลับมาทำงานได้ดีเช่นเดิม โดยไม่ต้องเปลี่ยนอวัยวะนั้น เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจ สำหรับควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ ให้เป็นไปตามปกติ เลนส์สัมผัสหรือคอนแทกเลนส์ (contact lens) ที่ใช้แก้ไขความผิดปกติ ของสายตา
เต้านมเทียม
๔. เพื่อเพิ่มความสวยงาม
บางครั้งอาจไม่ได้นำวัสดุการแพทย์ไปใช้งาน เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บ แต่ใช้เกี่ยวกับการเพิ่มความสวยงาม ของผู้ที่ไม่พึงพอใจในอวัยวะ ที่ตนเองมีอยู่ ในลักษณะที่เป็นการตกแต่ง หรือเสริมแต่งให้อวัยวะต่างๆ มีความสวยงามมากขึ้น ตัวอย่างเช่น เต้านมเทียม คางเทียม ดั้งจมูกเทียม
๕. ช่วยในการวิเคราะห์โรคและการรักษา
ในการวินิจฉัยและการรักษาโรคต่างๆ แพทย์ต้องมีการใช้วัสดุการแพทย์ต่างๆ เพื่อช่วยในการทำงาน วัสดุการแพทย์เหล่านี้มักใช้งานได้ในระยะสั้นๆ เช่น สายสวน สายล้าง ท่อยางต่างๆ