เล่มที่ 25
แนวโน้มของเทคโนโลยีสารสนเทศต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
โลกในยุคทางด่วนสารสนเทศ

            ขณะนี้โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของสภาพเสมือนจริง (Virtual Reality) ซึ่งเปรียบได้ว่า เป็นเขตแดนบุกเบิกของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ เราจะพบว่า ประกอบด้วยถนนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ประกอบด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet) ซึ่งมีทั้งนิวส์กรุ๊ป (Newsgroup) เวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web) และบริการสารสนเทศต่างๆ รวมถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของเอกชนอีกมากมาย คำว่า ทางด่วนสารสนเทศนั้น มักใช้อ้างถึงระบบเชื่อมโยงทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ครอบคลุมทั่วโลก ในปัจจุบัน บางครั้งก็มีการใช้คำว่า โครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศของประเทศ (National Information Infrastructure) บางครั้งสื่อมวลชนก็ใช้คำว่า ไซเบอร์สเปซ (cyberspace) ในเขตแดนใหม่ที่กล่าวถึงนี้ มีกิจกรรมอีกหลายอย่างที่กำลังเปลี่ยนแปลงสังคม ที่เราเคยรู้จักอยู่ ทั้งในด้านบันเทิง การศึกษา ธุรกิจ ฯลฯ และมีปัญหาเกิดขึ้นตามมาอีกหลายอย่าง ที่จะต้องมีการแก้ไขกันต่อไป เช่น ในเรื่องการละเมิดกฎหมาย หรืออาชญากรรมที่กระทำผ่านไซเบอร์สเปซ


คอมพิวเตอร์ช่วยในด้านการเรียนการสอน

            ในอนาคต กิจกรรมในชีวิตประจำวันแทบทุกอย่างของมนุษย์ ที่อาศัยอยู่ในสังคมสมัยใหม่ จะเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และการประยุกต์ใช้วิชาการหุ่นยนต์ (robotics) ที่ว่าด้วยการใช้หุ่นยนต์ที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำงานโต้ตอบกันเป็นภาษาพูดของมนุษย์ (human language interaction) การที่ต้องเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์ หรือวิธีการใช้คอมพิวเตอร์ที่ยุ่งยากซับซ้อนนั้น จะหมดไป รายการของงานที่คาดว่าจะมีการใช้คอมพิวเตอร์เป็นอย่างมากได้แก่

            ๑. งานประยุกต์ที่อาศัยความจริงเสมือน (virtual reality applications)
  • เกม (games)
  • นาโนเทคโนโลยี (nanotechnology) ที่ใช้สร้างเครื่องจักรขนาดจิ๋วระดับโมเลกุลของสสาร
  • เครื่องมือฝึกอบรม (training tools)
  • กองทัพ (military)
  • การแพทย์ (medical)
            ๒. การเรียนโดยใช้คอมพิวเตอร์ (computer assisted learning)
  • การเรียนทางไกล (distance learning)
  • การเรียนโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วย (technology aided learning)
            ๓. พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic commerce; E-commerce)
  • เงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic money; E-money)
  • ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Interchange - EDI)
            ๔. หุ่นยนต์ใช้ในบ้าน (household robots) คนรับใช้ไซเบอร์ (cybermaid) รถยนต์ที่ไม่ต้องใช้คนขับ (driverless cars)

            ๕. การเข้าใจภาษามนุษย์ (natural language understanding) การรับรู้คำพูด (speech recognition)

            ๖. โทรศัพท์ภาพ (videophone) การประชุมทางไกล (video conference) สำนักงานแบบเสมือน (virtual office) โทรเวช (telemedicine)


โทรศัพท์ภาพ (videophone)

            
            ๗. ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic mail) ไปรษณีย์เสียง (audio mail) ไปรษณีย์ภาพ (video mail) การแพร่ข่าวบนเว็บ (web multicast) การกระจายข่าวบนเว็บ (web broadcast)

            ๘. ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (electronic library) ห้องสมุดแบบเสมือน (virtual library) วิดีโอตามความต้องการ (video on demand - vod)

            ๙. โทรทัศน์แบบมีการโต้ตอบ (interactive TV) การร่วมงานอิเล็กทรอนิกส์ (electronic work collaboration)

            ๑๐. ฐานข้อมูลแห่งชาติ (national database) การลงคะแนนเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ (electronic voting) การหยั่งเสียงระบบอิเล็กทรอนิกส์ (electronic polling)

            ๑๑. ซอฟต์แวร์เอเยนต์ (ที่ทำงานแทนคน) ในทางด่วนสารสนเทศ (software agents on information superhighway)

            ๑๒. คอมพิวเตอร์แบบสวมใส่ได้ (wearable computers) เน็ตเวิร์กคอมพิวเตอร์ (network computer) เน็ตเวิร์กพีซี (network PC) เว็บทีวี (web TV)

            ๑๓. การพิมพ์แบบซอฟต์ก๊อบปี้ (softcopy publications) แค็ตตาล็อกสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ (electronic catalogs) บัตรอวยพรอิเล็กทรอนิกส์ (E-greeting cards) ข่าวอิเล็กทรอนิกส์ (E-news) การโฆษณาบนเว็บ (web advertising)

            เมื่อทางด่วนสารสนเทศครอบคลุมแพร่หลายไปในที่ต่างๆ ในช่วงสิบปีแรกของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ เราคงคาดได้ว่า การเข้าถึงสารสนเทศทั้งหลายในห้องสมุดขนาดใหญ่จะสามารถทำได้โดยตรงจากที่บ้าน คือ มีห้องสมุดอิเล็กทรอกนิกส์ (electronic library) อยู่ในบ้านเลย ทำให้ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปค้นเอกสาร หรือหนังสือที่ห้องสมุด ซึ่งอาจอยู่ห่างกันคนละทวีป การยืมหนังสือ หรือสำเนาของเอกสารก็สามารถทำได้โดยตรง โดยจะเป็นสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ หรือสำเนาดิจิตอล (digital copy) หนังสือพิมพ์ และวารสารต่างๆ ก็จะอยู่ในรูปดิจิตอลมากขึ้น แม้ในปัจจุบันก็เริ่มมีหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น The Los Angeles Times ผลิตหนังสือพิมพ์ทั้งฉบับ รวมทั้งโฆษณาให้อ่านได้ฟรีในอินเทอร์เน็ต และจากเดิมที่สิ่งพิมพ์จะมีแต่อักษรและภาพ ก็จะเปลี่ยนไปเป็นแบบ มัลติมีเดีย (multimedia) คือมีหลายสื่อรวมกัน ทั้งอักษร ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และเสียง อีกทั้งสามารถโต้ตอบกับผู้อ่านได้ในหลายกรณี สื่อมัลติมีเดียนี้จะบรรจุใน ซีดีรอม (CD-ROM) เพื่อให้ใช้ได้ในแบบที่ไม่ต้องการอาศัยเครือข่ายคอมพิวเตอร์อีกด้วย


การโฆษณาบนเว็บ (web advertising)

            การส่งข่าวสารถึงกันระหว่างบุคคลสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ รูปแบบของข้อมูลนี้ มีทั้งที่เป็นอักษร ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และเสียง คือ เป็นได้ทั้งไปรษณีย์เสียง (audio mail) และไปรษณีย์ภาพ (video mail) นอกจากนี้ การสั่งพิมพ์ข้อความในจดหมาย ก็อาจทำได้ด้วยการบอกให้จด (dictation) คือ พูดให้คอมพิวเตอร์แปลงคำพูดออกมาเป็นตัวอักษร ความสามารถในการรับรู้คำพูดภาษามนุษย์ (speech recognition) นี้ จะทำให้ง่ายที่จะโต้ตอบกับคอมพิวเตอร์เป็นภาษาพูดโดยตรง แทนที่จะต้องสั่งผ่านแป้นพิมพ์ หรือเลือกคำสั่งจากหน้าจอเหมือนในปัจจุบัน ผลดีอีกอย่างที่เด่นชัดคือ คอมพิวเตอร์จะช่วยคนพิการในด้านการมองเห็น การพูด หรือการรับฟัง การที่มีผู้ช่วยอิเล็กทรอนิกส์จะทำให้สามารถโต้ตอบกับผู้อื่นได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น

            ในอนาคต ผู้คนส่วนใหญ่จะไม่ต้องใช้เงินกระดาษ เพราะส่วนใหญ่จะซื้อของผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (electronic payment) การโอนเงินในธนาคาร ก็จะทำผ่านระบบโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Funds Transfer) แม้แต่การซื้อของผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ ก็สามารถใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-money) เช่นเดียวกับการซื้อของตามห้างร้านต่างๆ ซึ่งบัตรที่บรรจุข้อมูลจำนวนเงิน และคำผ่าน สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของนั้นก็คือ บัตรสมาร์ทการ์ด (Smart card) แบบที่เริ่มมีใช้กันอยู่บ้างแล้วในขณะนี้ นอกจากนั้น การประสานงาน การเงินของบริษัทห้างร้าน และธนาคาร ก็จะใช้ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Interchange - EDI) ซึ่งเป็นวิธีการร่วมมือกันระหว่างธุรกิจในส่วนของการสั่งซื้อ การแจ้งหนี้ และการชำระเงิน ให้สามารถผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารกระดาษส่งไปมาระหว่างกันอีก วิธีนี้ทำให้ธุรกิจเป็นการติดต่อกันโดยตรงระหว่างคอมพิวเตอร์ของบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อสินค้าคงคลังของร้านค้าน้อยลงกว่ากำหนด คอมพิวเตอร์ของร้านค้าก็อาจส่งคำสั่งซื้อ โดยอัตโนมัติ ไปยังคอมพิวเตอร์ของบริษัทผู้ขายส่งสินค้านั้น บริษัทผู้ขายก็จะมีคำสั่งให้คอมพิวเตอร์ของโกดังเก็บสินค้า ส่งของไปให้ร้านค้าที่สั่งซื้อมา พร้อมกับส่งใบแจ้งหนี้ไปให้คอมพิวเตอร์ของร้านค้านั้น เมื่อได้รับสินค้าแล้ว คอมพิวเตอร์ของร้านค้า ก็จะสั่งให้คอมพิวเตอร์ของธนาคารสั่งจ่ายเงินจากบัญชีของตน แก่คอมพิวเตอร์ของบริษัทขายส่ง ดังนี้จะเห็นว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ที่เคยต้องใช้เอกสารกระดาษและคนจำนวนมาก ก็จะกลายเป็นงานอัตโนมัติ ที่คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเองได้ระหว่างหน่วยงาน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และตัดปัญหาที่เกิดจากความผิดพลาด หรือความล่าช้าในแบบเก่าไปได้มาก


การโทรศัพท์โดยใช้บัตรสมาร์ตการ์ด (TOT card)