เล่มที่ 25
แนวโน้มของเทคโนโลยีสารสนเทศต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ความจริงเสมือน (Virtual Reality - VR)

            คำนี้ถูกกำหนดขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๗๐ โดย ไมรอน ครูเกอร์ (Myron Krueger) ให้หมายถึง การใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกกับฮาร์ดแวร์พิเศษ ที่จะทำให้ผู้ใช้รู้สึกเหมือนเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมสามมิติ ที่ถูกสร้างด้วยคอมพิวเตอร์ให้ผู้ใช้ได้เห็นได้ยิน หรือรู้สึก ดังนั้น สิ่งที่ผู้ใช้รับรู้ผ่านอุปกรณ์ที่ป้อนต่อประสานสัมผัส จึงเป็น "ความจริงเสมือน (Virtual Reality - VR)" โดยปกติแล้ว จะมีฮาร์ดแวร์ที่ป้อนตรงต่อประสาทสัมผัสด้านการเห็น เป็นที่สวมศีรษะที่มีจอป้อนภาพ (Head - Mounted Display - HMD) ให้ตาทั้งสองได้เห็นภาพเป็นสามมิติจากจอขนาดเล็ก ที่ให้ภาพ (หรือต่อไปอาจลดขนาดลงเป็นแว่นตาก็ได้) และเมื่อผู้ใช้เคลื่อนไหว ภาพก็จะถูกสร้างให้รับกับความเคลื่อนไหวนั้น บางกรณีก็จะมีหูฟังแบบสตอริโอให้ได้ยินเสียงรอบทิศทาง และอาจมีถุงมือรับข้อมูล (data glove) หรืออุปกรณ์อื่น ที่จะทำให้ผู้ใช้โต้ตอบกับสิ่งแวดล้อมจำลองที่ตนเข้าไปอยู่


ระบบจำลองการบิน
(Flight Simulator)


            งานที่ใช้ระบบ VR มากนั้น ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของการเล่นเกม หรือการฝึกฝน เช่น การฝึกนักบิน แต่รวมไปถึงการทำงานจริง เช่น การสร้างสิ่งแวดล้อมให้มนุษย์สามารถควบคุมอุปกรณ์จากระยะไกล เสมือนว่าได้ไปอยู่ในที่นั้น เช่น การซ่อมเครื่องจักรในที่ซึ่งคนเข้าไปไม่ได้ การทำงานกับสิ่งแวดล้อมขนาดเล็กมากๆ จนไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า (เช่น เทคโนโลยีการสร้างเครื่องจักรขนาดเล็กมากๆ ใกล้เคียงกับโมเลกุลของสสาร ที่เรียกว่า นาโนเทคโนโลยี - Nanotechnology) คาดกันว่า การผสานภาพจริงกับภาพเสมือนจากคอมพิวเตอร์ จะช่วยให้แพทย์สามารถทำการผ่าตัดผ่านช่องเล็กๆ ที่เจาะเข้าไปในร่างกาย แต่จะเสมือนว่า สามารถมองทะลุเนื้อหนังเข้าไปได้โดยตรง เสมือนว่ามีตาทิพย์



คอมพิวเตอร์ช่วยในการผ่าตัดผ่านช่องเล็กๆ ที่เจาะเข้าไปในร่างกาย

            นอกจากนี้ คอมพิวเตอร์แบบสวมได้ติดตัว (wearable computer) ก็จะช่วยยกระดับความสามารถ ในการทำงานของมนุษย์ให้มากขึ้นอีก เพราะไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงาน เพื่อใช้คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ หรือแม้แต่คอมพิวเตอร์แบบพกพา แต่คอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็กมากๆ นั้น จะมีขนาดพอๆ กับเครื่องเล่นเทปแบบติดตัว หรืออาจจะมีขนาดเล็กลงไปจนถึงระดับนาฬิกาข้อมือ และในที่สุด ก็อาจเป็นไปได้ที่จะสร้างให้ฝังอยู่ในตัวของผู้ใช้ เหมือนกับอุปกรณ์ช่วยโรคหัวใจที่บรรจุอยู่ในตัวของผู้ป่วยแบบถาวรเลย

            ระบบคอมพิวเตอร์ที่สื่อสารกับดาวเทียมที่เรียกว่า Global Positioning System (GPS) จะสามารถบอกตำแหน่งที่อยู่บนพื้นโลกได้อย่างแม่นยำ ทำให้การเดินทางไกลเป็นไปได้อย่างไม่มีการหลงทาง ระบบเช่นนี้อาจติดอยู่กับยานพาหนะต่างๆ เพื่อช่วยการนำทาง หรือทำให้สามารถควบคุมเส้นทางได้แบบอัตโนมัติ