“วัด” โดยทั่วไปหมายถึง สถานที่ทางศาสนา สำหรับประกอบศาสนพิธีต่างๆ รวมทั้งเป็นที่พำนักของสงฆ์และนักบวช ส่วนคำว่า “วัดไทย” หมายถึง วัดทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังหมายความรวมถึง วัดที่ชุมชนชาวไทยไปสร้างไว้ในต่างประเทศ เพื่อเป็นที่พำนักของพระสงฆ์ไทย ที่ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา และเป็นสถานที่ประกอบศาสนพิธีของพุทธศาสนิกชนชาวไทย ที่อาศัยอยู่ในประเทศนั้นๆ แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงวัดไทย เฉพาะที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น
วัดไทย มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยที่พระสงฆ์นำเอาพระพุทธศาสนาจากประเทศอินเดีย เข้ามาเผยแผ่ยังดินแดนที่เป็นสยามประเทศ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙ - ๑๐ หรือตอนต้นสมัยทวารวดี พระสงฆ์ที่เดินทางเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้น เมื่อไปถึงเมืองใดๆ และได้มีโอกาสเผยแผ่สั่งสอนผู้คน ให้รู้จักเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนา และศรัทธาเชื่อถือ ในพระธรรมคำสั่งสอนเป็นที่มั่นคงแล้ว พระสงฆ์ก็จะจัดการให้มีวัดขึ้น เป็น “ศาสนสถาน” สำหรับเป็นที่พำนัก และปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ รวมทั้งเป็นสถานที่ สำหรับแสดงธรรมแก่ผู้คนในเมืองนั้นๆ ให้พระพุทธศาสนามั่นคงถาวรต่อมาเป็นลำดับ
ในการที่จะสร้างวัดขึ้นมา แต่ละแห่งๆ ย่อมต้องการที่ดินสำหรับปลูกสร้าง “เสนาสนะ” คือ ที่อยู่สำหรับพระสงฆ์ กับ “ศาสนสถาน” คือ สถานที่สำหรับปฏิบัติกิจทางศาสนาในหมู่สงฆ์ และร่วมกับฆราวาส เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ฯลฯ และ “ปูชนียสถาน” คือ มณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธรูป หอพระธรรม หรือหอไตร สำหรับเก็บรักษาคัมภีร์พระธรรม พระสถูปเจดีย์ หรือพระมหาธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นที่บรรจุ และเก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อเป็นประโยชน์แก่การพระพุทธศาสนา ที่ดินสำหรับสร้างวัดแต่ละแห่งมักเป็นที่ดิน ที่เจ้าของบริจาคถวายพระสงฆ์ไว้เป็นสิทธิ์ขาด เรียกว่า “ที่กัลปนา”
ตามประเพณีนิยม และธรรมเนียมในอดีต ที่ดิน หรือพื้นที่ ที่จะสร้างวัดแต่ละแห่ง มักจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นเขตๆ ไม่ปะปนกัน ได้แก่
- เขตพุทธาวาส คือ พื้นที่ส่วนหนึ่ง กำหนดให้เป็นที่ตั้งเฉพาะปูชนียสถาน และศาสนสถาน
- เขตสังฆาวาส คือ พื้นที่ส่วนหนึ่ง ซึ่งกำหนดให้เป็นที่พำนักสำหรับภิกษุ และสามเณร
- เขตที่ปรก คือ พื้นที่ส่วนหนึ่ง ไม่มี สิ่งปลูกสร้างอย่างถาวร มีเพียงซุ้มที่สร้างขึ้นชั่วคราวสำหรับพระภิกษุอาศัยในเวลาอยู่ “ปริวาส” คือ อยู่ชดใช้ หรือเรียกเป็นสามัญว่า “อยู่กรรม” ซึ่งเป็นวิธีการอย่างหนึ่ง ที่พระภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส คือ ปฏิบัติผิดพระธรรมวินัยในขั้นปานกลาง แล้วปกปิด ไว้ ต้องปฏิบัติ เพื่อเป็นการลงโทษตนเอง ชดใช้ให้เท่ากับจำนวนวัน ที่ผิดอาบัติ
วัดแต่ละแห่งมักหันหน้าวัดไปทางทิศบูรพา หรือทิศตะวันออก ทั้งนี้เนื่องมาจากสมัยที่พระพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้พระสัทธรรมนั้น เสด็จประทับใต้ต้นโพธิ์ โดยบ่ายพระพักตร์ตรงไปทางทิศตะวันออก ทิศนี้จึงถือว่า เป็นทิศมงคลตามความเชื่อ ในบรรดาพุทธศาสนิกชน
พื้นที่ของวัดแต่ละแห่ง ส่วนมากมักเป็นพื้นที่รูปสี่เหลี่ยม บริเวณชายพื้นที่แต่ละด้าน ในสมัยก่อนมักขุดดินทำเป็น “คูน้ำ” ล้อมไว้โดยรอบ จัดเป็นเครื่องแสดงเขตวัดอย่างหนึ่ง ซึ่งยังมีหลักฐานเหลืออยู่ให้เห็นตามวัด ที่สร้างในสมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา แม้กระทั่งวัดที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ ก็ยังมีให้เห็น เช่นกัน แต่ภายหลังคูน้ำรอบวัดได้ถูกถมไปเสียมากแล้ว
บริเวณชายพื้นที่ของวัด ที่อยู่ถัดริมคูน้ำเข้าไป มักสร้างกำแพงกั้น ซึ่งก่อด้วยอิฐบ้าง ศิลาแลงบ้าง ขนาดความสูงพอบังตาคนยืน โดยสร้างบรรจบกันทุกด้าน เพื่อกำหนดเป็นเขตแดนของวัด ตรงกลางกำแพงแต่ละด้าน มีประตูเป็นช่องทางเข้าออก อย่างน้อยด้านละประตู ประตูวัดทั่วไปมักทำ “ซุ้มคูหา” แบบต่างๆ เป็นส่วนประกอบของช่องประตู