สิ่งปลูกสร้างประเภทปูชนียสถาน
สิ่งปลูกสร้างประเภทปูชนียสถาน คือ สถานที่ประดิษฐานสิ่งสำคัญ อันควรแก่การนับถือ และการบูชา ในพระพุทธศาสนา คือ พระบรมสารีริกธาตุ หรือพระอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งนิยมสร้างขึ้นเป็น ๒ ประเภท คือ พระสถูปเจดีย์ และพระมหาธาตุเจดีย์ ปูชนียสถานทั้ง ๒ ประเภทนี้ สร้างขึ้น เพื่อถวายไว้เป็น “พุทธานุสรณ์” คือ ที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า โดยปูชนียสถานทั้ง ๒ ประเภท มีลักษณะรูปแบบแตกต่างกัน ดังนี้
๑. ปูชนียสถานประเภทพระสถูปเจดีย์
มีลักษณะของรูปแบบโดยรวมแตกต่างกัน ๒ แบบ คือ
- พระสถูปเจดีย์แบบทรงกรวยกลม ประกอบด้วย “ฐานบัตร” รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นฐานชั้นต้น รองรับ “ฐานเขียง” ลักษณะทรงกระบอกหน้าตัด ถัดขึ้นไปเป็น “ฐานบัวถลา” บ้าง “ฐานบัวลูกแก้ว” ซ้อนกัน ๓ ชั้นเป็นเถา จนถึง “ฐานปัทม์” ลักษณะเป็นรูปบัวคว่ำ และบัวหงาย หรือบางทีเรียกว่า “บัวปากระฆัง” หลังฐานชั้นนี้ ก่อเป็น “พระสถูป” รูปทรงระฆังคว่ำ ซึ่งในภาษาช่างเรียกว่า “องค์ระฆัง” เหนือชั้นนี้ ก่อทำเป็น “ฐานบัวเชิงบาตร” สมมติเรียกว่า “บัลลังก์” หลังฐานตอนบนนี้ ก่อเสากลมเตี้ยๆ ตั้งขึ้นเรียกว่า “ก้านฉัตร” เพื่อรองรับ และเทินส่วน “ฉัตร” หรือในภาษาช่างเรียกว่า “บัวฝาละมี” เหนือขึ้นไปจาก “ฉัตร” ก่อทำส่วนยอดทรงกรวยกลมปลายเรียวยาว ตอนต้นๆ ควั่นเป็นปล้องๆ กลมๆ เรียกว่า “ฉัตรวลี” หรือ “ปล้องไฉน” ตอนปลายเรียวแหลมและเกลี้ยง เรียกว่า “ปลี” และปลายสุดปลี ทำเป็นตุ่มกลมๆ เรียกว่า “ลูกแก้ว” หรือ “หยาดน้ำค้าง” พระสถูปเจดีย์แบบทรงกรวย กลมดังอธิบายมานี้ มีชื่อเฉพาะแบบอย่างว่า พระสถูปเจดีย์แบบลังกา หรือสิงหลเจดีย์ ตัวอย่างของพระสถูปเจดีย์แบบทรงกรวยกลม ในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ พระศรีรัตนมหาเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระสถูปเจดีย์ วัดบวรนิเวศวิหาร ส่วนในต่างจังหวัด ได้แก่ พระสถูปเจดีย์ วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- พระสถูปเจดีย์แบบทรงกรวยสี่เหลี่ยม เป็นพระสถูปเจดีย์แบบที่ได้รับความนิยมสร้างขึ้น ต่อมาจากพระสถูปเจดีย์แบบทรงกรวยกลม พระสถูปเจดีย์แบบนี้ประกอบขึ้นด้วย “ฐานบัตร” รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสก่อเป็นฐานชั้นต้น ถัดขึ้นมาทำเป็น “ฐานเท้าสิงห์” ตั้งซ้อนกัน ๓ ชั้น เป็นเถา แล้วทำเป็น “ฐานบัวจงกล” ขึ้นบนหลังฐานเท้าสิงห์ชั้นบนสุด เพื่อรับส่วน “องค์ระฆัง” ซึ่งทำอยู่ในรูปทรงสี่เหลี่ยมรับกันกับส่วนล่าง แต่ละชั้นส่วนบนองค์ระฆัง ก่อเป็น “ฐานเชิงบาตร” สมมติเรียกว่า บัลลังก์” เช่นเดียวกับพระสถูปเจดีย์แบบทรงกรวยกลม หลังบัลลังก์ก่อเสาทรงกระบอกขนาดเตี้ยๆ ทำเป็น ““ก้านฉัตร” ปลายเสาทำ “ฉัตร” หรือ “บัวฝาละมี” ทับไว้ ถัดหลังฉัตรขึ้นไป เป็นส่วนยอดทรงกรวยกลมปลายเรียวยาว ตอนต้นๆ ทำเป็นรูปบัวแย้มเรียงต่อกันขึ้นไป เป็นเถาอย่างน้อย ๗ ชั้น เรียกว่า “บัวกลุ่ม” ตอนปลายต่อขึ้นไปจากบัวกลุ่ม ทำปลายเรียวแหลมและเกลี้ยงเรียกว่า “ปลี” ปลายสุดปลี ทำเป็นตุ่มกลมๆ เรียกว่า “ลูกแก้ว” หรือ “หยาดน้ำค้าง” อนึ่ง พระสถูปเจดีย์แบบทรงกรวยสี่เหลี่ยมนี้ ตรงมุมทั้ง ๔ มุม ตั้งแต่ “ฐานบัตร” ขึ้นไปจนถึงส่วน “บัลลังก์” ทำย่อมุมแต่ละมุมเข้าไป ให้เกิดมุมเล็กๆ ขึ้น ๓ มุม มุมที่ได้รับการย่อเข้าไปทั้ง ๔ มุม เมื่อรวมกันแล้วเป็น ๑๒ มุม ทำให้เกิดเป็นลักษณะพิเศษขึ้น ในพระสถูปเจดีย์แบบนี้ และลักษณะพิเศษนี้เป็นเหตุให้มีชื่อเฉพาะกำหนดเรียกว่า “พระสถูปเจดีย์ย่อมุมไม้ ๑๒” หรือ “พระเจดีย์ย่อไม้ ๑๒” ตัวอย่างของพระสถูปเจดีย์แบบทรงกรวยสี่เหลี่ยมในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ พระสถูปเจดีย์เหลี่ยม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ส่วนในต่างจังหวัด ได้แก่ พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย ที่วัดสวนหลวงสบสวรรค์ จังหวังพระนครศรีอยุธยา
๒. ปูชนียสถานประเภทมหาธาตุเจดีย์
ปูชนียสถานประเภทนี้ ในปัจจุบันมักรู้จักในนามว่า “พระปรางค์” ส่วนคำว่า “มหาธาตุ” เป็นคำที่มีมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย หมายถึง พระอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้า และคำว่า “พระมหาธาตุเจดีย์” หมายถึง พระเจดีย์ที่ประดิษฐานพระอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้า ตัวอย่างได้แก่ พระปรางค์วัดราชบูรณะ และพระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร
พระมหาธาตุเจดีย์มีรูปทรงสัณฐานที่เลียนแบบมาจาก “ปราสาท” คือ เรือนที่สร้างซ้อนกันขึ้นไปหลายๆ ชั้น เดิมทำด้วยไม้ เป็นที่ประทับสำหรับเจ้านาย หรือที่อยู่ของคหบดี ภายหลังสร้างด้วยหินบ้างอิฐบ้าง สำหรับประดิษฐานรูปเคารพทางศาสนา จึงสร้างแต่พอใช้ประโยชน์เฉพาะชั้นล่างเพียงชั้นเดียว ส่วนชั้นที่อยู่เหนือขึ้นไป ก็ทำเป็นส่วนย่อจำลอง เพื่อให้ทราบว่า เดิมเป็นเรือนหลายชั้น แล้วก่อรวบตอนบนเป็นแท่งทึบ ซึ่งอยู่ในรูปทรงคล้าย “ฝักข้าวโพด” ปูชนียสถานประเภทมหาธาตุเจดีย์ในชั้นต้นๆ ก็มีรูปทรงดัง “ฝักข้าวโพด” นี้ โดยมีองค์ประกอบต่างๆ ประกอบร่วมกัน คือ ฐานชั้นต่ำสุดเป็นฐานแบบ “ฐานบัตร” รูปสี่เหลี่ยม จัตุรัสซ้อนกันขึ้นไป ๑ หรือ ๒ ชั้น จึงก่อทำเป็น “ฐานเชิงบาตร” ตั้งซ้อนกัน ๓ ชั้นเป็นเถา หลังฐานชั้นบนสุดก่อทำเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม มีช่องประตูประจำด้านละช่อง พร้อมกับซุ้มคูหาประกอบช่องประตูแต่ละช่อง ประตูด้านหลัง และด้านข้างทั้งสองด้าน มักก่อผนังปิดไว้ แล้วจัดให้มีพระพุทธรูปมีอาการทรงยืนแสดงปางต่างๆ ประดิษฐานไว้ ช่องละองค์ ส่วนประตูทางด้านหน้าเปิดว่างไว้ สำหรับเป็นทางเข้าออก ตอนที่เป็นเรือนดังกล่าวนี้เรียกว่า “เรือนธาตุ” หรือ “ครรภธาตุ” ตอนหลังเรือนธาตุขึ้นไปคือ ส่วนยอดของพระมหาธาตุ ก่อทำเป็นแท่งทึบ รูปทรง ๔ เหลี่ยม ตอนปลายสุดรวบเข้าหากันคล้ายรูปกรวยแหลมเตี้ยๆ ส่วนยอดที่เป็นรูปแท่ง ๔ เหลี่ยมตั้งสูงขึ้นไปนี้ แบ่งเป็นช่วงๆ คั่นด้วย “รัดประคด” ลักษณะเป็นแถบยาวๆ คาดขวางวงอยู่โดยรอบ ช่วงห่างระหว่างรัดประคดที่คาดคั่นอยู่แต่ละด้าน ประดับด้วย “บันแถลง” ทั้ง ๔ ด้าน ส่วนที่เป็นมุมทั้ง ๔ มุม ประดับด้วยกาบอย่าง “บัวกาบขนุน” ปลายบนสุดของมหาธาตุเจดีย์ ก่อเป็นกลีบคล้ายกลีบบัวรวบเข้าด้วยกัน เรียกว่า “จอมโมฬี” เหนือส่วนนี้ตั้ง “นภศูล” โดยปักตรงขึ้นไว้เป็นส่วนปลายบนสุดของมหาธาตุเจดีย์ อนึ่ง ด้านหน้ามหาธาตุเจดีย์มีบันไดก่อเป็นทางขึ้นไปยังประตูทางด้านหน้า ที่เปิดเป็นช่องว่างไว้ มหาธาตุเจดีย์ลักษณะดังอธิบายนี้มักเรียกว่า “พระปรางค์โดด” หรือ “ปรางค์โดด” ทั้งนี้เนื่องจากลักษณะเป็นมหาธาตุเจดีย์องค์เดียวเดี่ยวๆ ตัวอย่างของมหาธาตุเจดีย์ในสมัยต้นๆ นี้ ได้แก่ พระปรางค์วัดพุทไธสวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
มหาธาตุเจดีย์มีมุขศาลา มหาธาตุเจดีย์แบบนี้จะมีลักษณะทั่วไปเหมือนกับ “พระปรางค์โดด” แต่ทางตอนหน้าออกมา สร้างเป็น “มุขศาลา” คือ เรือนรูปสี่เหลี่ยมหลังคาทรง “คฤห” มีจั่วอยู่ ๔ ด้าน ซึ่งมักเรียกว่า “จัตุรมุข” มุขศาลานี้สร้างขึ้น บนฐานที่ก่อยื่นออกมาจากฐานของมหาธาตุเจดีย์ ซึ่งพื้นของมุขศาลานี้เสมอกันกับพื้นของ “เรือนธาตุ” เมื่อสร้างมุขศาลาต่อออกมาจากเรือนธาตุ จึงต้องเลื่อนบันไดออกมาขึ้นลงทางด้านหน้ามุขศาลา ส่วนตอนหลังมุขศาลา กับเรือนธาตุทำเป็น “มุขกระสัน” คือ ทางเดินสั้นๆ ที่มีหลังคาคลุม เชื่อมต่อระหว่างมุขหน้าของเรือนธาตุกับมุขหลังของมุขศาลา ตัวอย่างได้แก่ พระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
มหาธาตุเจดีย์แบบ ๓ องค์ มหาธาตุเจดีย์แบบนี้ คือ “พระปรางค์โดด” ตั้งเรียงกัน ๓ องค์ เป็นแถว มักเรียกกันว่า พระปรางค์ ๓ องค์บ้าง พระปรางค์ ๓ ยอดบ้าง มหาธาตุเจดีย์แบบที่เรียงกันเป็นแถว จำนวน ๓ องค์นี้ แบบหนึ่งเป็นอย่างพระปรางค์โดด ซึ่งตั้งเรียงกันเว้นระยะห่างแต่ละองค์พอสมควร กับอีกแบบหนึ่งเป็นอย่างพระปรางค์โดดตั้งเรียงกัน เว้นช่วงว่างระหว่างพระปรางค์องค์กลางกับพระปรางค์องค์ที่อยู่ทางด้านซ้าย และด้านขวา ขนาดเท่าๆ กัน ช่วงว่างระหว่างองค์พระปรางค์ทั้งด้านซ้าย และด้านขวาจัดสร้าง “มุขกระสัน” เป็นทางเดินเชื่อมถึงกันได้ ตัวอย่างได้แก่ พระปรางค์วัดพระพายหลวงและพระปรางค์ วัดศรีสวาย ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และพระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี
มหาธาตุเจดีย์แบบ ๕ องค์ มหาธาตุเจดีย์แบบนี้ประกอบด้วยพระปรางค์โดด จำนวน ๕ องค์ รวมกัน โดยสร้างพระปรางค์ ๑ องค์ ให้มีขนาดใหญ่ และสูงมากตั้งไว้ตรง กลาง เป็นพระปรางค์ประธานในหมู่ และพระปรางค์ขนาดย่อมสูงน้อยกว่าพระปรางค์ ประธาน จัดให้ตั้งอยู่ทางด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้างทั้ง ๒ ข้าง ด้านละ ๑ องค์ ให้อยู่ห่างออกมาจากพระปรางค์องค์ประธานพอสมควร พระปรางค์ทั้ง ๕ องค์ ที่ได้รับการจัดวางในลักษณะเช่นนี้ เรียกว่า “พระปรางค์หมู่” การจัดวางพระปรางค์ร่วมกันจำนวน ๕ องค์นี้ ภายหลังได้มีการจัดเอาพระปรางค์ ที่เป็นปรางค์บริวาร ๔ องค์ ไปตั้งขึ้นตรงมุมทั้ง ๔ มุม บนฐานล่างสุดของพระปรางค์ องค์ประธาน โดยมิให้ตรงกับด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้างดังแบบแรก แม้กระนั้นก็ดี ก็ยังคงเรียกว่า “พระปรางค์หมู่” ตัวอย่างของมหาธาตุเจดีย์แบบ ๕ องค์ ได้แก่ พระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา