สิ่งปลูกสร้างประเภทศาสนสถาน
สิ่งปลูกสร้างประเภทศาสนสถาน ใช้เป็นสถานที่สำหรับพระสงฆ์ประชุมทำสังฆกรรม และทำพิธีต่างๆ ตามประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา ประกอบด้วยอาคารต่างๆ ดังต่อไปนี้
๑. วิหาร
คือ อาคารที่ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป คำว่า วิหาร นี้ แต่เดิมหมายถึง “ที่อยู่” โดยไม่จำกัดบุคคลชั้นใด ต่อมาในสมัยพุทธกาล หมายถึง ที่อยู่สำหรับพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวก ครั้นพระพุทธเจ้าดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว วิหารได้รับการสร้างขึ้น สำหรับเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธปฏิมากร” คือ รูปแทนองค์พระพุทธเจ้า ดังนั้น คำว่า วิหาร ในความเข้าใจ โดยประเพณีนิยม จึงมีความหมายจำเพาะว่า “สถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูป”
วัดไทยแต่ละแห่ง อาจมีวิหารได้มากกว่า ๑ หลัง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการที่จะใช้ประโยชน์ และสนองคติความเชื่อ ฉะนั้นจึงมีสิ่งปลูกสร้างทำเป็นวิหารประเภทต่างๆ ในบริเวณพุทธาวาส ดังต่อไปนี้
- วิหารหลวง คือ วิหารหลังที่สร้างบนพื้นที่ที่อยู่ทางด้านหน้าพระสถูปเจดีย์ หรือมหาธาตุเจดีย์ ออกไปทางทิศตะวันออก มักทำให้มีขนาดกว้างยาวและสูงเป็นพิเศษ แต่ทั้งนี้มิได้อาศัยคำว่า “หลวง” ซึ่งแปลว่า “ใหญ่” เป็นเครื่องกำหนดความใหญ่โตของวิหาร คำว่า “วิหารหลวง” เป็นชื่อเฉพาะ หรือวิสามัญนามของวิหารประเภทนี้เท่านั้น ตัวอย่างเช่น วิหารหลวงในวัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
- วิหารทิศ คือ วิหารหลังที่สร้างขึ้นเป็นบริวารของปูชนียสถาน และอุโบสถสถาน อยู่ต่อออกไปทางทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก เว้นแต่ทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตั้งวิหารหลวง ตัวอย่างเช่น พระวิหารทิศในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร
- วิหารคด คือ วิหารขนาดย่อมๆ ที่สร้างไว้ตามมุมใดมุมหนึ่ง ในเขตพุทธาวาส ลักษณะเป็นหลัง ยาวหักเป็นข้อศอก รับกับมุม ในเขตพุทธาวาส ตัวอย่างเช่น พระวิหารคด ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
- วิหารราย คือ วิหารขนาดย่อมๆ มีทั้งลักษณะอย่าง “วิหารโถง” และ “วิหารกั้นฝารอบ” สร้างเป็นหลังๆ เรียงรายอยู่รอบเขตพุทธาวาส ตัวอย่างเช่น วิหารรายในวัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- วิหารน้อย คือ วิหารหลังย่อมๆ ที่สร้างขึ้นสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ สร้างไว้ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งในเขตพุทธาวาส ตัวอย่างเช่น พระวิหารน้อย ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
- วิหารแกลบ คือ วิหารขนาดเล็กมาก ภายในวิหารมีพื้นที่ขนาดพอรับรองพระภิกษุนั่งได้เพียงรูปเดียว วิหารแกลบใช้เป็นสถานที่สำหรับพระภิกษุเจริญกัมมัฏฐาน ตัวอย่างเช่น วิหารแกลบในวัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- วิหารพระไสยาสน์ คือ วิหารที่สร้างขึ้น สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ วิหารประเภทนี้ มีทั้งที่สร้างขนาดใหญ่ และขนาดย่อม ตามส่วนที่ต้องการบังแดดและฝน ให้แก่พระพุทธรูป ซึ่งมีขนาดยาวต่างกัน ตัวอย่างเช่น พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
๒. มณฑป
คือ อาคารที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นอย่างเรือนรูปสี่เหลี่ยม มักทำหลังคาเป็นรูปทรงกรวยสี่เหลี่ยม ปลายเรียวแหลม ใช้เป็นสถานที่สำหรับประดิษฐาน พระพุทธรูป รอยพระพุทธบาท หรือพระไตรปิฎกที่สำคัญ ตัวอย่างเช่น พระมณฑป วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร และพระมณฑปวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
๓. อุโบสถ
คือ อาคารสำหรับพระสงฆ์ ใช้ประโยชน์ในการทำ “อุโบสถกรรม” เป็นประจำทุกๆ กึ่งเดือน สถานที่ประเภทนี้ จึงได้รับการขนานนามตามกิจของพระสงฆ์ดังกล่าวว่า “อุโบสถ” หรือเรียกโดยย่อว่า โบสถ์ การทำอุโบสถกรรม หมายถึง การที่พระสงฆ์มาประชุมร่วมกัน เพื่อสวดปาติโมกข์ อันได้แก่ พุทธบัญญัติว่าด้วยวินัยของสงฆ์ ๒๒๗ ข้อ
๔. หอพระธรรม หรือ หอไตร
คือ อาคารสำหรับเก็บรักษา “พระไตรปิฎก” เปรียบเสมือน “หอสมุด” ของวัดแต่ละแห่ง เป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์คำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งพระสงฆ์ใช้สำหรับศึกษา และเผยแผ่แก่บรรดาพุทธศาสนิกชน หอพระธรรม หรือหอไตรเป็นอาคารขนาดเล็กๆ ยกพื้นสูง มักทำเฉลียงรอบ และปลูกสร้างหอขึ้นในสระ โดยใช้น้ำหล่อเสา เพื่อกันมด ปลวก และหนู มิให้ไปทำลายพระคัมภีร์ต่างๆ วัดส่วนมากมีหอไตรเพียงหลังเดียว แต่วัดใหญ่ๆ โดยเฉพาะวัดที่เป็นพระอารามหลวง จะมีหอพระธรรม หรือหอไตรมากกว่า ๑ หลัง
๕. ระเบียง
คือ สิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะอย่างโรงยาวๆ ด้านหน้าเปิดโล่งด้านหลังกั้นฝาทึบ มีหลังคาคลุมตลอด ระเบียง มักทำขึ้นล้อมพระสถูปเจดีย์ มหาธาตุเจดีย์ อุโบสถ และวิหาร อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยสร้างขึ้นเป็น ๒ ลักษณะ คือ
- ระเบียงเหลี่ยม มีลักษณะเป็นโรงยาววงเป็นรูปกรอบสี่เหลี่ยมล้อมรอบสิ่งที่อยู่ภายใน ระเบียงลักษณะนี้เรียกว่า ระเบียงเหลี่ยมหรือระเบียงสี่เหลี่ยม ตัวอย่างเช่น พระระเบียงล้อมรอบพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
- ระเบียงกลม มีลักษณะเป็นโรงยาว วงเป็นรูปวงกลมล้อมรอบสิ่งที่อยู่ภายใน ระเบียงที่มีลักษณะเช่นนี้เรียกว่า ระเบียงกลม ตัวอย่างเช่น พระระเบียงล้อมรอบองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
๖. กำแพงแก้ว
คือ สิ่งก่อสร้างสำหรับ กั้นเขตแดนออกเป็นสัดส่วน มีลักษณะเป็นกำแพงขนาดเตี้ยๆ ที่ทำขึ้น สำหรับล้อมเขตที่ตั้งอุโบสถ วิหาร สถูปเจดีย์ มหาธาตุเจดีย์
๗. ศาลาราย
คือ สิ่งปลูกสร้างลักษณะอย่างโรงรูปทรงสี่เหลี่ยม โดยมากยกพื้นเตี้ยๆ มีหลังคาทรงจั่ว และมักทำเป็นศาลาโถง ไม่นิยมกั้นฝา ปลูกเรียงรายไปโดยรอบอุโบสถ หรือวิหาร สำหรับพุทธศาสนิกชนใช้เป็นที่เตรียมการบำเพ็ญกุศล หรือนั่งพักผ่อน ขณะมาปฏิบัติธรรมในวัด ตัวอย่างเช่น ศาลารายวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และวัดสุทัศนเทพวราราม ในกรุงเทพมหานคร