เล่มที่ 27
ลิเก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ที่มาของลิเก

            ลิเก เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษา ฮิบรู ว่า ซาคูร (Zakhur) ซึ่งหมายถึง การสวดสรรเสริญพระเจ้าในศาสนายูดาย หรือยิว มาแต่โบราณหลายพันปี ต่อมาชาวอาหรับเรียกการสวดสรรเสริญพระเจ้าว่า ซิกร (Zikr) และ ซิกิร (Zikir) ผู้สวดนั่งล้อมเป็นวงโยกตัวไปมา เมื่อการสวดแพร่หลายเข้าไปในอินเดียโดยชาวอิหร่าน เรียกว่า ดฮิกิร (Dhikir) โดยมีการตีกลองรำมะนาประกอบ ครั้นการสวดแพร่มาถึงจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย ก็เรียกเป็นภาษาถิ่นว่า ดิเก (Dikay) และจิเก (Jikay) ชาวมุสลิมนำดิเกเข้ามาสู่กรุงเทพมหานคร ตอนต้นสมัยรัตนโกสินทร์ การเรียกก็เปลี่ยนเป็น ยิเก หรือ ยี่เก (Yikay) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงเรียกว่า ลิเก (Likay) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ และใช้เรียกอย่างเป็นทางการตั้งแต่นั้นมา ส่วนคำว่า ยี่เก ยังคงใช้เรียกกันอยู่ อนึ่ง ลิเกได้ถูกเปลี่ยนชื่อตามพระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมทางศิลปกรรม พ.ศ. ๒๔๘๕ เป็น นาฏดนตรี และเรียกคำนี้แทนลิเกอยู่ประมาณ ๑๕ ปี ก็กลับมาเรียกว่า ลิเก เหมือนเดิมจนถึงปัจจุบัน