องค์ประกอบอื่นๆ ที่สำคัญ
การผสมโรง
หมายถึง การที่ผู้แสดงลิเกมารวมตัวกันเป็นคณะ เพื่อทำการแสดงครั้งหนึ่ง เดิมคณะลิเกเป็นการรวมตัวที่ค่อนข้างถาวร มีหัวหน้าคณะ หรือโต้โผ และมีลูกโรงคือ ผู้แสดง กินอยู่ด้วยกัน และแสดงเป็นระยะเวลานานๆ โดยที่ผู้แสดงเหล่านั้น มักเป็นญาติพี่น้องกัน และอาจมีผู้แสดงที่ไม่ใช่เครือญาติกันมาร่วมแสดงเป็นครั้งคราว ปัจจุบัน คำว่า คณะลิเก หมายถึง บุคคลกลุ่มเล็กที่ประกอบด้วยโต้โผ ทำหน้าที่หาหรือรับงานมาจัดแสดง โดยมีภรรยาและลูกหลานอีก ๒ - ๓ คน เป็นแกนนำในการแสดง จากนั้นก็เรียกผู้แสดงที่เคยร่วมงานกันมาผสมโรงให้มีจำนวนพอที่จะแสดงในครั้งนี้ได้ ผู้แสดงทุกคนมีเครื่องแต่งกายและเครื่องแต่งหน้าของตัวเอง ในส่วนของวงดนตรีก็เช่นเดียวกัน เมื่อได้รับการว่าจ้างจากโต้โผลิเกแล้ว โต้โผวงปี่พาทย์ก็ไปเรียกนักดนตรีที่เคยเล่นประจำวงมาร่วมกันบรรเลง เมื่องานแสดงลิเกครั้งนั้นเสร็จสิ้นลงแล้วทุกคนก็แยกย้ายกันไปรองานหรือหางานใหม่ ถ้าโต้โผที่เคยร่วมงานกันจองตัวไว้ก็จะให้โอกาสก่อน การผสมโรงเช่นนี้ทุกคนต้องรับผิดชอบตนเอง ความรุ่งเรืองหรือความเสื่อมเป็นเรื่องเฉพาะตน การที่ผู้แสดงทุกคนต้องรับผิดชอบงานและชีวิตของตนเองย่อมส่งผลดีให้แก่วงการลิเกในภาพรวม ลิเกจึงดำรงอยู่ได้ตลอดมา
ผู้ชม
ผู้ชมลิเกส่วนใหญ่เป็นสตรีวัยกลางคนขึ้นไป กลุ่มรองลงมาคือ เด็ก ส่วนวัยรุ่น และหนุ่มสาว มีน้อย ผู้ชมสนใจความสวยงามของผู้แสดง และเครื่องแต่งกาย รวมทั้งคำกลอน การแสดงบทบาทในอารมณ์ต่างๆ และบทตลก ผู้ชมลิเกครั้งหนึ่งๆมีประมาณ ๓๕๐ - ๕๐๐ คน พวกที่ตั้งใจมาชม จะให้เด็กนำเสื่อ หรือหนังสือพิมพ์มาปูจอง ที่นั่งด้านหน้า ขณะที่ลิเกกำลังแสดง ถ้าผู้ชมเกิดความพอใจผู้แสดงคนใด ซึ่งโดยมากจะเป็นตัวพระเอก ก็จะลุกขึ้นมาที่หน้าเวทีแล้วมอบเงินรางวัล หรือคล้องพวงมาลัย ประดับธนบัตรเป็นรางวัล ผู้แสดงจะมารับรางวัล ในช่วงที่ปี่พาทย์บรรเลงรับการร้องเพลง เงินรางวัลที่ได้รับจะเป็นของผู้แสดงคนนั้นโดยเฉพาะ
ผู้แสดงลิเกทุกคนจะมีเครื่องแต่งหน้าและเครื่องแต่งกายเป็นของตนเอง
แม่ยก
เป็นผู้ชมผู้หญิงที่ติดตามชม และสนับสนุนเงินรางวัลแก่ผู้แสดงชาย หรือพระเอกลิเกคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ คำว่า “แม่ยก” มาจากคำที่ผู้แสดงเรียกผู้ชมกลุ่มนี้ว่า “แม่” ด้วยความ “ยกย่อง” เงินรางวัลจากแม่ยก เป็นรายได้ที่สำคัญอย่างยิ่ง สำหรับพระเอกลิเก อีกทั้งเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ลิเกยังคงอยู่ และเป็นสิ่งดึงดูดใจเยาวชนให้สนใจ ที่จะเข้ามาสืบทอดการแสดงลิเกให้คงอยู่ต่อไป
แม่ยกคล้องพวงมาลัยประดับธนบัตรให้แก่ผู้แสดงที่ตนชื่นชอบ
สถานภาพของผู้แสดง
ผู้แสดงลิเก มี ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นลูกหลานของลิเก ที่สืบทอดอาชีพกันมา อีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้แสดง ที่มาจากครอบครัวเกษตรกรผู้ยากจน ที่ไม่ต้องการทนความยากลำบากในการทำนาทำไร่ หรือชอบร้องรำทำเพลง ก็มาขออาศัยอยู่กับโต้โผลิเก และฝึกหัดไปแสดงไปพร้อมกัน ประมาณ ๒ - ๓ ปี ก็สามารถออกโรงแสดงได้เต็มตัว ผู้แสดงลิเกส่วนใหญ่ จบการศึกษาภาคบังคับระดับประถมศึกษา มีบางคนจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ปวช. ปวส. และอุดมศึกษา บางคนจบการศึกษาจากวิทยาลัยนาฏศิลป ผู้แสดงส่วนใหญ่มีรายได้พอเลี้ยงตน เมื่อรายได้ลดลงเพราะมีนักแสดงรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่ หรือเมื่อมีอายุมากขึ้นก็เลิกแสดงลิเก และหันไปประกอบอาชีพอื่น ผู้แสดงที่มีฐานะดี ซึ่งมีจำนวนไม่มาก เมื่อมีอายุมากขึ้น ก็จะเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นโต้โผตั้งคณะลิเกของ ตนเอง ปัจจุบัน ผู้แสดงลิเกมีสถานภาพทางสังคมดีขึ้นกว่าแต่ก่อน สังคมยอมรับ และมีบางคนได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ
การบันทึกการแสดงลิเกสำหรับออกอากาศทางโทรทัศน์
การประยุกต์เพื่อการสื่อสาร
ลิเกเป็นละครพื้นบ้าน ที่เป็นที่นิยมกันในบริเวณภาคกลางของประเทศ ที่พูดภาษาไทยกลาง ซึ่งเป็นภาษาที่ลิเกใช้แสดง แต่ลิเกก็เป็นที่นิยมในภูมิภาคอื่นๆ อยู่บ้าง การแสดงลิเกมีผลต่อการชม การฟัง และการกระตุ้นการรับข่าวสารของผู้ชม ดังนั้น ลิเกจึงเป็นสื่อสำคัญที่ทั้งภาครัฐและเอกชนนำมาใช้เพื่อช่วยส่งข่าวสารไปสู่ผู้ชม เช่น การต่อต้านลัทธิบางอย่างที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ การป้องกันและการรักษาสุขภาพอนามัยและโภชนาการ การเสริมสร้างลัทธิชาตินิยมและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งนับว่าได้ผลดี