ส่วนประกอบที่สำคัญของการแสดงลิเก
การด้น
ลิเกเป็นการแสดงละครที่อาศัยการด้นเป็นปัจจัยหลัก การด้น หมายถึง การผูกเรื่องที่จะแสดงบทเจรจา และบทร้อง ท่ารำ อุปกรณ์การแสดง ในทันทีทันใดโดยมิได้เตรียมตัวมาก่อน แต่ทั้งนี้โต้โผ และผู้แสดงมีประสบการณ์ที่สั่งสมมาก่อนแล้ว ดังนั้น การด้นจึงมักเป็นการนำเรื่อง คำกลอน กระบวนรำ ที่อยู่ในความทรงจำกลับมาใช้ในโอกาสที่เหมาะสม น้อยครั้งที่โต้โผต้องด้นเรื่องใหม่ทั้งหมดหรือผู้แสดงต้องด้นกลอนร้องใหม่ทั้งเพลง
หัวหน้าคณะจะบอกเรื่องให้ผู้แสดงฟังเพื่อนำไปด้นบนเวที
การด้นเรื่อง
โต้โผหรือหัวหน้าคณะจะแต่งโครงเรื่องสำหรับการแสดงครั้งนั้น โดยพิจารณาจากจำนวนผู้แสดงที่มาร่วมกันแสดง ตลอดจนความชำนาญเฉพาะบทของผู้แสดงแต่ละคน เรื่องที่แต่ง ก็นำมาจากเค้าโครงเรื่องเดิมๆ ที่เคยใช้แสดง แต่ได้ดัดแปลงให้เหมาะกับการแสดงในครั้งนั้นๆ ผู้แสดงมีจำนวนประมาณ ๗ - ๑๕ คน ทั้งนี้ขึ้นกับว่า ผู้ว่าจ้างต้องการลิเกโรงเล็ก หรือโรงใหญ่ สำหรับลิเกโรงเล็กมีผู้แสดงน้อย เนื้อเรื่องจึงมักเน้นพระเอกนางเอกเพียงคู่เดียว ส่วนลิเกโรงใหญ่มีผู้แสดงมาก จึงมักสร้างตัวละคร ตั้งแต่รุ่นพ่อ ต่อมาถึงรุ่นลูก หรือเป็นเรื่องที่มีพระเอกนางเอก ๒ คู่
การด้นบทร้องบทเจรจา
การด้นบทร้องบทเจรจา
ผู้แสดงจะแต่งบทเจรจา และบทร้องตลอดการแสดงลิเก สำหรับบทเจรจานั้น ผู้แสดงสามารถด้นสดได้ทั้งหมด เพราะเป็นภาษาพูด ที่เข้าใจง่าย ไม่มีใจความที่ลึกซึ้ง ส่วนบทร้องมีเพลง และรูปแบบคำกลอนของเพลงไทย และเพลงราชนิเกลิงกำกับ ประกอบด้วยคำร้องซึ่งเป็นเนื้อร้องตอนต้นที่มีหลายคำกลอน และคำลงซึ่งเป็นเนื้อร้องตอนจบที่มีเพียง ๑คำกลอน การด้นบทร้องมีศิลปะ ๓ ระดับ ระดับสูงคือ ด้นคำร้อง และคำลง ขึ้นใหม่หมดทั้งเพลง ระดับกลางคือ ด้นคำร้อง ให้มาสัมผัสกับกลอนของคำลง ที่ตนจำมาใช้ ระดับล่างคือ ด้นคำร้องและคำลงที่ลักจำมา หรือจ้างคนเขียนให้มาใช้ทั้งเพลง
การด้นทำอุปกรณ์การแสดง
การด้นบทร้องบทเจรจา
ผู้แสดงจะแต่งบทเจรจา และบทร้องตลอดการแสดงลิเก สำหรับบทเจรจานั้น ผู้แสดงสามารถด้นสดได้ทั้งหมด เพราะเป็นภาษาพูด ที่เข้าใจง่าย ไม่มีใจความที่ลึกซึ้ง ส่วนบทร้องมีเพลง และรูปแบบคำกลอนของเพลงไทย และเพลงราชนิเกลิงกำกับ ประกอบด้วยคำร้องซึ่งเป็นเนื้อร้องตอนต้นที่มีหลายคำกลอน และคำลงซึ่งเป็นเนื้อร้องตอนจบที่มีเพียง ๑คำกลอน การด้นบทร้องมีศิลปะ ๓ ระดับ ระดับสูงคือ ด้นคำร้อง และคำลง ขึ้นใหม่หมดทั้งเพลง ระดับกลางคือ ด้นคำร้อง ให้มาสัมผัสกับกลอนของคำลง ที่ตนจำมาใช้ ระดับล่างคือ ด้นคำร้องและคำลงที่ลักจำมา หรือจ้างคนเขียนให้มาใช้ทั้งเพลง
การด้นท่ารำ
ลิเกจะเน้นการร้องทั้งบทกลอน และน้ำเสียง ส่วนการรำเป็นเพียงส่วนประกอบ ดังนั้น ผู้แสดงจึงไม่เคร่งครัดในการรำให้ถูกต้อง ทั้งๆ ที่นำแบบแผนมาจากละครรำ การรำของลิเก จึงเป็นการย่างกรายของแขนและขา ส่วนการใช้มือทำท่าทางประกอบคำร้องที่เรียกว่า รำตีบทนั้น ตามธรรมเนียมของละครรำ มีเพียงไม่กี่ท่า นอกเหนือจากนั้น ผู้แสดงจะรำกรีดกรายไปตามที่เห็นงาม การด้นท่ารำอีกลักษณะหนึ่งเป็นการรำแสดงความสามารถเฉพาะตัวของผู้แสดงบางคนในท่ารำชุดที่กรมศิลปากรได้สร้างสรรค์เป็นมาตรฐานเอาไว้แล้ว แต่ผู้แสดงลิเกลักจำมาได้ไม่หมด ก็ด้นท่ารำของดั้งเดิมให้เต็มเพลง
การด้นทำอุปกรณ์การแสดง
การแสดงลิเกมีการสมมติในท้องเรื่องมากมาย และไม่มีการเตรียมอุปกรณ์การแสดงไว้ให้ดูสมจริง นอกจากดาบ ดังนั้น ผู้แสดงจำเป็นต้องหาวัสดุใกล้มือขณะนั้น มาทำเป็นอุปกรณ์ที่ตนต้องการใช้ เช่น เอาผ้าขนหนูมาม้วนเป็นตุ๊กตาแทนทารก เอาผ้าขาวม้ามาคลุมตัวเป็นผี เอาดาบผูกกับฝาหม้อข้าวเป็นพัดวิเศษ เอาผ้าขาวม้าผูกเป็นหัวปล่อยชาย แล้วขี่คร่อมเป็นม้าวิเศษ การคิดทำอุปกรณ์การแสดงอย่างกะทันหันเช่นนี้มุ่งให้ความขบขันเป็นสำคัญ และผู้ชมก็ชอบมาก
การแสดงฉากตลก
การร้องการเจรจา
การร้อง และการเจรจาของลิเก มีลักษณะเฉพาะ ผู้แสดงจะเปล่งเสียงร้อง และเสียงเจรจาเต็มที่ แม้จะมีไมโครโฟนช่วย จึงทำให้เสียงร้อง และเจรจาค่อนข้างแหลม นอกจากนั้นยังเน้นเสียง ที่ขึ้นนาสิกคือ มีกระแสเสียงกระทบโพรงจมูก เพื่อให้มีเสียงหวาน การร้องเพลงสองชั้น และเพลงราชนิเกลิงนั้น ผู้แสดงให้ความสำคัญที่การเอื้อนและลูกคอมาก ในการร้องเพลงสองชั้น ผู้แสดงร้องคำหนึ่ง ปี่พาทย์บรรเลงรับท่อนหนึ่ง เพื่อให้ผู้แสดงพักเสียงและคิดกลอน ส่วนการเจรจานั้น ผู้แสดงพูดลากเสียงหรือเน้นคำมากกว่าการพูดธรรมดา เพื่อให้ได้ยินชัดเจน อนึ่ง คำที่สะกดด้วย “น” ผู้แสดงลิเกจะออกเสียงเป็น “ล” นับเป็นลักษณะของลิเกอีกอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ ลิเกนิยมแสดงเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ที่มีกษัตริย์เป็นตัวเอก แต่ผู้แสดงมักใช้คำราชาศัพท์ที่ไม่ถูกต้อง ด้วยสาเหตุ ๒ ประการคือ ความไม่รู้ และความตั้งใจให้ตลกขบขัน
การรำ
การแสดงลิเกใช้กระบวนรำ และท่ารำตามแบบแผนนาฏศิลป์ไทย โดยแบ่งเป็น ๓ ประเภทคือ รำเพลง รำใช้บท หรือรำตีบท และรำชุด
รำเพลง
คือ การรำในเพลงที่มีกำหนดท่ารำไว้ชัดเจน เช่น เพลงช้า - เพลงเร็ว เพลงเสมอ ผู้แสดงพยายามรำเพลงเหล่านี้ ให้มีท่ารำ และกระบวนรำ ใกล้เคียงกับแบบฉบับมาตรฐานให้มากที่สุด
รำใช้บทหรือรำตีบท
คือ การรำทำท่าประกอบคำร้อง และคำเจรจา เป็นท่าที่นำมาจากละครรำ และเป็นท่าง่ายๆ มีประมาณ ๑๓ ท่า คือ ท่ารัก ท่าโศก ท่าโอด ท่าชี้ ท่าฟาดนิ้ว ท่ามา ท่าไป ท่าตาย ท่าคู่ครอง ท่าช่วยเหลือ ท่าเคือง ท่าโกรธ และท่าป้อง ซึ่งเป็นท่าให้สัญญาณปี่พาทย์หยุดบรรเลง
รำชุด คือ
การรำที่ผู้แสดงลิเกลักจำมาจากท่ารำชุดต่างๆ ของกรมศิลปากร เช่น มโนห์ราบูชายัญ ซัดชาตรี และพลายชุมพล แต่ผู้แสดงจำได้ไม่หมด จึงแต่งเติมจนกลายไปจากเดิมมาก ท่ารำบางชุดเป็นท่ารำที่ลิเกคิดขึ้นเองมาแต่เดิม เช่น พม่ารำขวาน และขี่ม้ารำทวน จึงมีท่ารำต่างไปจากของกรมศิลปากรโดยสิ้นเชิง การรำของลิเกต่างกับละคร กล่าวคือ ละครรำเป็นท่า แต่ลิเกรำเป็นที ซึ่งหมายความว่า การรำละครนั้น ผู้รำจะรำเต็มตั้งแต่ท่าเริ่มต้นจนจบกระบวนท่าโดยสมบูรณ์ แต่การรำลิเกนั้น ผู้แสดงจะรำเลียนแบบท่าของละคร แต่ไม่รำเต็มกระบวนรำมาตรฐาน เช่น ตัดทอนหรือลดท่ารำบางท่า รำให้เร็วขึ้น ลดความกรีดกราย ในขณะเดียวกันผู้แสดงลิเกตัวพระนิยมยกขาสูง และย่อเข่าต่ำกว่าท่าของละครรำ อีกทั้งนิยมเอียงลำตัว และเอนไหล่ให้ดูอ่อนช้อยกว่าละคร
แสดงท่ารำ
การแต่งกาย
เครื่องแต่งกายของลิเกมีลักษณะเฉพาะ ซึ่งต่างไปจากละครรำ เครื่องแต่งกายของผู้แสดงชายมีแบบแผนที่ชัดเจนกว่าผู้แสดงหญิง เครื่องแต่งกายของลิเกแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ ชุดลิเกทรงเครื่อง ชุดลิเกลูกบท และชุดลิเกเพชร
ชุดลิเกทรงเครื่อง
เป็นรูปแบบการแต่งกายของลิเกแบบเดิม เมื่อเริ่มมีลิเกในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยเลียนแบบการแต่งกายของข้าราชสำนักในยุคนั้น และมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่อมาบ้าง จนถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อวัสดุที่ใช้สร้างเครื่องแต่งกายลิเกที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศขาดแคลน ชุดลิเกทรงเครื่องก็หมดไป คงเหลือให้เห็นเฉพาะในการแสดงสาธิตเท่านั้น
ชุดลิเกลูกบท
เป็นชุดเครื่องแต่งกายลำลองของคนไทยในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ นิยมแต่งในการแสดงเพลงพื้นบ้าน เมื่อวัสดุที่ใช้สร้างชุดลิเกทรงเครื่องขาดแคลน ผู้แสดงจึงหันมาแต่งกายแบบลำลองที่เรียกว่า ชุดลิเกลูกบท
ชุดลิเกเพชร
เป็นชุดที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยการนำเพชรซีก และแถบเพชร มาประดับเครื่องแต่งกายชุดลิเกลูกบท สวมเสื้อกั๊กทับเสื้อตัวเดิมให้ดูหรูหราขึ้น จากนั้นก็เพิ่มความวิจิตรขึ้น จนกลายเป็นเครื่องเพชรแทบทั้งชุด สำหรับชุดของผู้แสดงหญิงมีแบบหลากหลาย แต่ไม่ประดับเพชรมากเท่าชุดของผู้แสดงชาย
ชุดลิเกเพชรของผู้แสดงหญิง
ฉาก
ฉากลิเกเป็นฉากผ้าใบเขียนเป็นภาพต่างๆ ด้วยสีที่ฉูดฉาด ฉากลิเกแบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ ฉากชุดเดี่ยว ฉากชุดใหญ่ และฉากสามมิติ
ฉากชุดเดี่ยว
คือ มีฉากผ้าใบ ๑ ชั้น เป็นฉากหลัง เขียนภาพท้องพระโรงขนาด ๓.๕ x ๕ เมตร และ/หรือผ้าใบ ๒ ผืน อยู่ทางด้านซ้าย - ขวาของเวที เขียนเป็นภาพประตูสมมติให้เป็นทางเข้า - ออกของผู้แสดง และมีระบายผ้าเขียนชื่อคณะลิเกอีก ๑ ผืน ฉากชุดเดี่ยวนี้เป็นฉากมาตรฐานของลิเก ที่จัดแสดงเพียงคืนเดียว