เล่มที่ 27
ผู้สูงอายุ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง

๑. การไม่สูบบุหรี่

        การสูบบุหรี่เป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่สำคัญที่สุด ที่นำไปสู่โรคที่สามารถป้องกันได้ เช่น

  • โรคหลอดลมอุดตันเรื้อรัง ทำให้ผู้สูงอายุมีอาการไอและหอบเหนื่อยเรื้อรัง 
  • โรคมะเร็งปอด เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ ๒ ในชายไทย และเป็นอันดับ ๓ ในหญิงไทย 
  • โรคหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง ยิ่งสูบบุหรี่จำนวนมากต่อวัน ก็ยิ่งมีโอกาสเกิดโรคมากขึ้น
  • โรคเส้นโลหิตในสมองตีบตัน 
  • โรคกระดูกพรุน 
  • สมรรถภาพของร่างกายที่ถดถอย

๒. การไม่ดื่มสุรา

        สารประกอบสำคัญที่มีอยู่ในสุรา เบียร์ หรือไวน์ คือ แอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์เป็นยาออกฤทธิ์กดการทำงานของสมอง เมื่อร่างกายได้รับอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เกิดการเสพติด และมีความต้องการดื่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดผลเสียต่อตับและสมอง ตลอดจนจิตใจ และคุณภาพชีวิตในที่สุด

ก. ผลกระทบต่อสุขภาพกาย

  • ผู้ที่ติดสุราจะมีอัตราของการเสียชีวิตมากกว่าประชากรทั่วไปเพิ่มขึ้นเป็น ๒ เท่า
  • ระบบทางเดินอาหาร ผู้ดื่มจะมีอาการ คลื่นไส้อาเจียนตอนเช้า และกระเพาะอาหารอักเสบ จากการที่แอลกอฮอล์ทำลายเยื่อบุกระเพาะ ทำให้มีเลือดออกมากจนช็อกได้
  • ภาวะขาดอาหาร เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ที่ทำให้เบื่ออาหาร 
  • ตับเกิดภาวะตับอักเสบ และลุกลามจนกลายเป็นตับแข็ง มีการอุดตันทางเดินเลือดและน้ำดี ทำให้เกิดภาวะท้องมาน ขาบวม ม้ามโต ผิวหนังคล้ำ เกิดภาวะเลือดออกง่าย ในระยะสุดท้ายที่ตับไม่สามารถทำงานได้แล้ว ผู้ป่วยจะซึม หมดสติ ชัก และเสียชีวิต 
  • ตับอ่อนอักเสบ มีอาการปวดท้องรุนแรงและช็อกได้ ในรายที่เป็นเรื้อรังอาจทำให้เป็นโรคเบาหวาน นิ่วในตับอ่อน หรือขาดอาหารอย่างรุนแรง
  • ระบบไหลเวียนเลือด แอลกอฮอล์ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และหัวใจบีบตัว อ่อนลง หรือเต้นไม่เป็นจังหวะ ในระยะยาว ทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย ภาวะที่ร่างกายขาด วิตามิน โดยเฉพาะวิตามินบี ๑ เนื่องจากภาวะขาดอาหารก็มีส่วนทำให้หัวใจวายด้วย 
  • ระบบกล้ามเนื้อ แอลกอฮอล์ทำลายกล้ามเนื้อได้หลายรูปแบบ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงลง 
  • ระบบเลือด เลือดจางจากหลายสาเหตุ เช่น จากการขาดธาตุเหล็กเนื่องจากสูญเสียเลือดเรื้อรังในทางเดินอาหาร หรือจากการขาดวิตามินโฟเลต ยังมีภาวะเลือดออกได้ง่าย จากการขาดวิตามินเค หรือจากเกล็ดเลือดที่ลดลง 
  • ภาวะไขมันในเลือดสูง แอลกอฮอล์ทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงขึ้น มีความเสี่ยงอย่างมากต่อภาวะตับอ่อนอักเสบ 
  • มะเร็ง พบว่า แอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็ง เช่น ในช่องปาก ในคอ หลอดอาหาร ปอด ตับอ่อน และตับ
  • ปลายประสาทเสื่อม โดยเฉพาะที่มือและเท้า ทำให้มีอาการชาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ 

ข. ผลกระทบต่อสุขภาพจิตและสังคม

  • เมื่อผู้ป่วยอยู่ในระยะติดสุราแล้ว จะไม่สามารถเลิกดื่มสุราได้เลย ปัญหาด้านสังคม มักจะเห็นได้ชัดก่อนอาการทางสุขภาพจิต เช่น ปัญหาภายในครอบครัว ปัญหาการขาดประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น ขาดงานบ่อย เกิดความผิดพลาดในการทำงาน ปัญหาทางกฎหมาย เช่น การเมาสุราทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุทางรถยนต์ และปัญหาทางเศรษฐฐานะ ทำให้มีหนี้สินรุงรัง 
  • กลุ่มอาการประสาทหลอน เช่น หูแว่ว ซึ่งอาจเกิดขึ้น ทั้งขณะดื่ม หรือกำลังลดการดื่มก็ได้ 
  • การทำอัตวินิบาตกรรม เนื่องจากแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าอย่างมาก
  • เกิดภาวะสมองเสื่อม นอกจากทำให้ผู้ป่วยหลงลืมง่ายแล้ว ยังมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ระแวงว่าคู่ของตนมีชู้ ไม่สามารถจำเหตุการณ์ต่างๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ จึงอาจกุเรื่องขึ้นมาเอง มีอาการเดินเซ มองเห็น ภาพซ้อน เป็นต้น 

ค. พฤติกรรมในการลดการดื่มสุราขณะร่วมงานสังคม

มีดังนี้

  • จำกัดปริมาณที่จะดื่มก่อน เช่น เบียร์ ๑ - ๒ กระป๋องต่อวัน และไม่เกิน ๒ - ๓ ครั้งต่อสัปดาห์ 
  • ดื่มน้อยๆ ช้าๆ ให้ครอบคลุมระยะเวลานานที่สุด 
  • พึงระลึกว่า ที่ผ่านมาดื่มเมื่อไร หรือดื่มอะไรไปแล้วบ้าง 
  • ไม่ดื่มขณะที่ท้องว่าง หรือก่อนนอน
  • ควรเจือจางสุราด้วยน้ำให้มากที่สุดก่อนดื่ม
  • ไม่ควรใช้เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในการช่วยแก้ปัญหาด้านอารมณ์ หรือคลายความเครียด ควรหันมาใช้วิธีอื่นๆ แทน เช่น ฟังเพลง ดูภาพยนตร์ อ่านหนังสือ เล่นกีฬา