พัฒนาการและการเจริญเติบโตของหอยเป๋าฮื้อ
พัฒนาการ และการเจริญเติบโตของหอยเป๋าฮื้อ พอจะแบ่งเป็นระยะต่างๆ อย่างคร่าวๆ ได้ดังต่อไปนี้
๑. ระยะคัพภะ
ระยะนี้เริ่มตั้งแต่มีการปฏิสนธิกันระหว่างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ และเพศเมีย การแบ่งเซลล์ในระยะต่างๆ ตั้งแต่ระยะบลาสทูลา (blastula) ระยะแกสทูลา (gastula) และระยะทรอโคฟอร์ (trochophore) จนถึงฟักเป็นตัวออกจากไข่ สำหรับระยะนี้จะใช้เวลาอยู่ระหว่าง ๕-๘ ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิที่ใช้เลี้ยง
๒. ระยะวัยอ่อน
ระยะนี้แบ่งออกเป็น ระยะตัวอ่อนที่ว่ายน้ำ (swimming larvae) และระยะตัวอ่อนที่คืบคลาน (creeping larvae)
๒.๑ ระยะตัวอ่อนที่ว่ายน้ำ
ตัวอ่อนระยะนี้ประกอบด้วยตัวอ่อนในระยะทรอโคฟอร์ (swimming trochophore larvae) ซึ่งว่ายน้ำได้ และจะมีพัฒนาการต่อไปเป็นตัวอ่อนระยะเวลิเจอร์ (veliger) ซึ่งจะล่องลอยอยู่ในมวลน้ำ และมีพฤติกรรมเคลื่อนที่เข้าหาแสงสว่าง (positive phototaxis) ระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ ๑๖-๒๒ ชั่วโมง
๒.๒ ระยะตัวอ่อนที่คืบคลาน
ตัวอ่อนในระยะนี้เริ่มคืบคลานไปมาบนพื้นภาชนะที่ใช้เลี้ยง สลับกับการว่ายน้ำ และจะใช้เวลาในการคืบคลานเป็นเวลามากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นตัวอ่อน ที่คืบคลานอย่างเต็มตัว โดยใช้เวลาในระยะนี้ประมาณ ๑-๓ วัน
๓. ระยะวัยรุ่น
ตัวอ่อนระยะคืบคลาน เมื่อพบจุดที่เหมาะสม ซึ่งเชื่อกันว่า มักเป็นบริเวณ ที่มีอาหารประเภทเบนทิกไดอะตอมเกาะติดอยู่ด้วย หรืออาจเป็นบริเวณ ที่มีสารเคมีบางอย่างติดอยู่ ก็จะมีการพัฒนาเข้าสู่ระยะต่อไป โดยมีการเปลี่ยนรูปร่างคือ การสร้างเปลือกและรูหายใจ หอยที่มีอายุประมาณ ๓๐ วัน จะมีรูหายใจปรากฏให้เห็น ประมาณ ๑-๓ รู และมีความยาวเปลือกประมาณ ๐.๑ - ๐.๓ เซนติเมตร ลูกหอยในระยะนี้ มีรูปร่างเหมือนพ่อแม่พันธุ์ทุกประการ แต่ยังไม่มีการพัฒนาเซลล์สืบพันธุ์
๔. ระยะวัยเจริญพันธุ์
หอยวัยรุ่นจะใช้เวลาในการเติบโตจนมีอายุประมาณ ๘ - ๑๐ เดือน โดยมีขนาดความยาวเปลือก ประมาณ ๓ เซนติเมตร ก็เริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ในสภาพการเลี้ยงในระบบบนบก ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและอาหารที่ให้ หอยที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ในระยะนี้ จะมีสัดส่วนของเพศผู้มากกว่าร้อยละ ๙๐ เมื่อเทียบกับเพศเมีย เป็นที่น่าสังเกตว่า ความดกของเซลล์สืบพันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์ ที่มีอายุน้อย และมีขนาดเล็กนี้ จะมีปริมาณน้อยกว่าพ่อแม่พันธุ์ที่มีอายุมาก และมีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับพ่อแม่พันธุ์ที่จับได้จากธรรมชาติ แต่อัตรารอดของการเลี้ยง จะมีค่าที่สูงกว่า ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าจะมีการวางแผนการทดลองที่เหมาะสม เพื่อหาคำตอบที่ชัดเจนต่อไป