การเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อให้ได้ขนาดที่ตลาดต้องการ
การเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อให้ได้ขนาดที่ตลาดต้องการ จัดเป็นช่วงที่เสียค่าใช้จ่ายมากที่สุด ในระบบการผลิตหอยเป๋าฮื้อ เพราะใช้เวลามากที่สุด อีกทั้งต้องการความดูแลเอาใจใส่อย่างดี และต่อเนื่อง หอยเป๋าฮื้อที่ตลาดต้องการมีหลายขนาดด้วยกัน ได้แก่ ขนาดที่นำไปเลี้ยงต่อ (มีความยาวเปลือก ๒-๓ เซนติเมตร) ขนาดค็อกเทล (มีความยาวเปลือก ๕-๗ เซนติเมตร) และขนาดใหญ่ (มีความยาวเปลือกมากกว่า ๗ เซนติเมตร ขึ้นไป) ซึ่งระยะเวลาในการเลี้ยง จะแตกต่างกันออกไปตั้งแต่ ๖ เดือน - ๒ ปี ในที่นี้จะขอกล่าวถึงการเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อ ให้ได้ขนาดค็อกเทล กล่าวคือ มีขนาดความยาวเปลือกระหว่าง ๕-๗ เซติเมตร น้ำหนักตัวโดยรวม ประมาณ ๒๐-๕๐ กรัม ซึ่งใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงประมาณ ๑๒-๑๘ เดือน

ได้เคยกล่าวไว้แล้วว่า หอยเป๋าฮื้อเป็นสัตว์ที่ต้องการน้ำทะเลสะอาดไหลผ่านอยู่ตลอดเวลา และหอยเป๋าฮื้อจะหลบแสงในเวลากลางวัน โดยออกหากินในเวลากลางคืน ดังนั้น ระบบการเลี้ยงในขั้นนี้ จะต้องมีการจัดสภาพบ่อเลี้ยงให้เหมาะสมกับความต้องการดังกล่าวด้วย มิฉะนั้น หอยจะมีอัตราการเติบโตที่ช้า ติดเชื้อโรคได้ง่าย และตายได้ในที่สุด สำหรับระบบการเลี้ยงที่ใช้กันในขั้นนี้แบ่งออกเป็น ๒ ระบบใหญ่ๆ ได้แก่ (๑) การทำฟาร์มในทะเล (sea farming) และ (๒) การทำฟาร์มบนบก (landbased system) ซึ่งการเลี้ยงในระบบการทำฟาร์มบนบก มีทั้งแบบระบบเปิด (open landbased system) และแบบระบบปิด (closed recirculating landbased system) ในที่นี้จะกล่าวถึงการทำฟาร์มบนบกในระบบปิด หรือกึ่งปิด (closed หรือ semi-closed) เพราะเป็นระบบที่สามารถควบคุมได้ดีกว่า การเลี้ยงแบบการทำฟาร์มในทะเล อย่างไรก็ดี ระบบการเลี้ยงที่นำเสนอในที่นี้ ยังมิใช่ระบบที่ดีที่สุด เพราะจะต้องมีการวิจัย และพัฒนา เพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อไปอีก สำหรับระบบการเลี้ยงแบบการทำฟาร์มบนบก โดยทั่วไปมีส่วนประกอบหลัก และแนวทางในการดูแล เช่นเดียวกันกับที่จะได้นำเสนอ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อย อาทิ ผลผลิต ต้นทุนในการผลิต จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละฟาร์ม ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องหาข้อมูลในรายละเอียดเอง เมื่อได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว


ระบบการเลี้ยงแบบการทำฟาร์มบนบก สำหรับระบบการเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อให้ได้ ขนาดที่ตลาดต้องการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ณ สถานีวิจัยสัตว์ทะเลอ่างศิลา เป็นระบบการทำฟาร์มบนบกแบบหมุนเวียนกึ่งปิด ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังต่อไปนี้
๑. บ่อเลี้ยง
บ่อที่ใช้เลี้ยงควรเป็นบ่อยาว มีทางน้ำไหลเข้าที่ปลายด้านหนึ่งของบ่อ และทางระบายน้ำออกอีกด้านหนึ่ง โดยจัดระบบการให้อากาศเป็นช่วงๆ ตลอดความยาวของบ่อ ด้านข้างทั้ง ๔ ด้าน และก้นบ่อ ทำให้มีความลาดชันไปยังแนวกลางบ่อเพื่อเป็นการช่วยให้ตะกอน เศษอาหารที่เหลือ และของเสีย ที่หอยขับถ่ายออกมา รวมตัวกันอยู่ตรงร่องกลางบ่อ ซึ่งง่ายต่อการทำความสะอาด และเนื่องจากหอยเป๋าฮื้อจำเป็นต้องมีที่เกาะและหลบแสง ดังนั้น ในบ่อยาวจึงมีถังพลาสติกสีดำ ขนาดความจุประมาณ ๕๐ ลิตร เจาะรูที่ก้นถัง วางคว่ำอยู่เป็นระยะๆ ตลอดความยาวบ่อ โดยแต่ละถังมีหัวอากาศติดอยู่ เพื่อเพิ่มการถ่ายเท และผสมผสานของน้ำ เมื่อน้ำไหลผ่าน
๒. รางน้ำ
ควรเป็นรางแบบเปิด เพื่อง่ายต่อการทำความสะอาด ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะใช้ท่อปิด เพราะก่อให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค การเน่าเสียของอาหาร และการเกิดก๊าซ โดยเฉพาะก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์
๓. บ่อรับน้ำจากภายนอก
ส่วนนี้ทำหน้าที่เป็นระบบควบคุมปริมาณน้ำ บ่อบำบัดน้ำเบื้องต้นก่อนเข้าสู่ระบบกรอง และบ่อรับน้ำใหม่จากถังเก็บ เพื่อเติมเข้ามาในระบบ เมื่อน้ำขาดปริมาณ หรือมีความเค็มสูงหรือต่ำกว่าที่ควรจะเป็น มีลักษณะเป็นบ่อกว้างแต่ตื้น (มีความลึกของน้ำ ประมาณ ๕๐-๖๐ เซนติเมตร)
๔. ระบบกรองน้ำ
ระบบกรองน้ำที่ใช้จะเป็นระบบกรองแบบชีวภาพ ประกอบด้วย ๓ ส่วน ได้แก่
(๑) บ่อตกตะกอน
(๒) บ่อกรอง ๓ ชั้น ได้แก่ ชั้นเปลือกหอยนางรม ชั้นถ่าน และชั้นทราย และ
(๓) บ่อเก็บน้ำ
สำหรับประสิทธิภาพในการกรอง ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง อาทิ ขนาดของระบบกรอง ปริมาณการไหลผ่านของน้ำในระบบ และปริมาณของเสียรวมที่ออกจากส่วนของบ่อที่ใช้เลี้ยง ดังนั้น จึงควรมีการติดตามคุณภาพของน้ำในระบบที่ใช้ในการเลี้ยงหอยอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะปริมาณแอมโมเนียรวมในน้ำ ก่อนและหลังระบบกรอง
๕. ถังจ่ายน้ำ
น้ำทะเลที่ได้รับการบำบัดทางชีวภาพจากระบบกรองแล้ว จะถูกสูบขึ้นไปเก็บในถังสูง เพื่อจ่ายเข้าสู่ระบบบ่อเลี้ยง โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกต่อไป ในบางกรณีอาจใช้การจ่ายน้ำจากเครื่องสูบน้ำโดยตรงเลยก็ได้ ถ้ามีระบบถังจ่ายความดันที่เหมาะสม แต่จะสิ้นเปลืองค่าไฟฟ้า สำหรับการดำเนินการดังกล่าวมาก
๖. บ่อฆ่าเชื้อและปรับคุณภาพน้ำทะเลก่อนเข้าสู่ระบบการเลี้ยง
ควรมีบ่อเก็บ เพื่อฆ่าเชื้อโรค และปรับคุณภาพน้ำทะเลให้เหมาะสม ก่อนเริ่มการเลี้ยง น้ำทะเลที่ได้ ผ่านการฆ่าเชื้อ และปรับคุณภาพจากบ่อนี้แล้ว จะปล่อยเข้าสู่ส่วนที่ ๓ (บ่อรับน้ำจากภายนอก) หรือปล่อยสู่บ่อเลี้ยงโดยตรงเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับการกำหนดระบบการเลี้ยง และความสะดวกของแต่ละฟาร์ม