เล่มที่ 4
ลำดับพระมหากษัตริย์ไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
สมัยราชอาณาจักรศรีอยุธยา

เมื่อครั้งคนไทยกลุ่มหนึ่งรวมกันตั้งอาณาจักรสุโขทัยนั้น ต่อมาได้มีคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งรวมกันตั้งอาณาจักรอีกแห่งหนึ่งทางทิศใต้ ของกรุงสุโขทัยเรียกว่า "อาณาจักรศรีอยุธยา" มีเมืองหลวงตั้งอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกมีพระนามว่า "สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑" หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า "พระเจ้าอู่ทอง" ในเวลาต่อมาพระเจ้าแผ่นดินของราชอาณาจักรศรีอยุธยา ทรงมีความรู้ความชำนาญในการฝึกหัดทหารให้รู้จักใช้อาวุธต่างๆ อย่างคล่องแคล่ว จนทำให้กองทัพ ของพระราชอาณาจักรศรีอยุธยาเก่งกล้าขึ้น เมื่อรบกับกองทัพสุโขทัยจึงได้ชัยชนะ และสามารถรวมราชอาณาจักรซึ่งเคยรุ่งเรือง มาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีอยุธยา

เรื่องที่น่าสังเกตในการสืบสันตติวงศ์ของพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีอยุธยาก็คือ ความไม่มั่นคงในการเป็นพระเจ้าแผ่นดิน มีการประทุษร้าย ยึดอำนาจอยู่เนืองๆ พระเจ้าแผ่นดินบางราชวงศ์ก็มีเพียง ๒ พระองค์ หรือมิฉะนั้น ก็มีการผลัดเปลี่ยนกันเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ในระหว่างสองราชวงศ์ เป็นต้น เหตุการณ์เช่นนี้ แสดงว่า มีผู้มีอำนาจเท่าเทียมกันอยู่หลายพวก ถ้าหัวหน้าของพวกใดมีกำลังทหารมากกว่า ก็ทำร้ายฝ่ายที่กำลังครองอำนาจอยู่ได้ การที่ไม่สามารถไว้วางใจกันได้นี้ ยังผลให้เกิดการแตกแยก สู้รบกัน ผู้ที่มีความรู้ความ สามารถต้องเสียชีวิตไปคราวละมากๆ เมื่อมีศัตรูอื่นมารุกรานก็ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะต่อต้านได้


วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

กรุงศรีอยุธยาตั้งมาได้ ๒๑๙ ปี คือ ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๙๓ ถึง พ.ศ. ๒๑๑๒ ต้องเสีย เอกราช เมื่อกองทัพพม่ายกมาโจมตีถึงพระนครศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระมหินทราธิราช พ.ศ. ๒๑๑๒ พม่าเข้าครอบครองอยู่ระหว่างรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชประมาณ ๑๕ ปี สมเด็จพระนเรศวรตั้งแต่ยังดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราช สามารถกู้เอกราชได้ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๒๗
ในเวลาต่อมาอีก ๑๘๓ ปี คือ ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๒๗ ถึง พ.ศ. ๒๓๑๐ กองทัพพม่าก็ยกมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก ในสมัย สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ พ.ศ. ๒๓๑๐ ไทยต้องพ่ายแพ้เสียเอกราชอีกเป็นครั้งที่สอง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งแต่ดำรงพระยศเป็น พระยาวชิรปราการ (สิน) สามารถกู้เอกราชได้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ คือ ในปีเดียวกันนั้นเอง

พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา มีรวมทั้งสิ้น ๓๓ พระองค์ อยู่ในราชวงศ์ต่างๆ ๕ ราชวงศ์ นับอายุกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตั้งแต่แรกสร้าง จนถึงปีที่เสียเอกราชเป็นครั้งที่สอง รวมเวลา ๔๑๗ ปี
พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีพระเกียรติประวัติรุ่งโรจน์ เป็นที่ภาคภูมิใจของคนไทย มีหลายพระองค์ เช่น

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี ทรงตีนครธมเมืองหลวงของเขมรได้

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงวางระเบียบการปกครองบ้านเมืองทั้งฝ่ายทหาร และพลเรือน ส่วนใหญ่มีระเบียบปฏิบัติอย่างดีทางการพลเรือน



อนุสาวรีย์พระเจ้าอู่ทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงปรับปรุงระเบียบการทหาร และทรงเปิดทางพระราชไมตรี และการพาณิชย์กับประเทศฝ่ายตะวันตก คือ โปรตุเกส เป็นประเทศแรก

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทยจากการเป็นเมืองขึ้นของพม่า ทรงทำสงครามยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชพม่า

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเปิดทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศหลายประเทศ ที่สำคัญ คือ ความสัมพันธ์กับพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินผู้มีอำนาจมากที่สุดในยุโรปขณะนั้น