เล่มที่ 5
ผัก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประเภทของการทำสวนผัก (types of vegetable gardening)

การทำสวนผักอาจจัดแบ่งออกได้ ๕ ประเภท คือ

            ๑. การทำสวนครัวหรือสวนผักหลังบ้าน (home gardening)

เป็นการทำสวนผักเล็กๆ น้อยๆ เป็นงานอดิเรก เพื่อให้มีผักไว้ใช้รับประทานในครอบครัว เป็นการประหยัดรายจ่าย นอกจากนั้นอาจจะมีเหลือแจกจ่ายเพื่อนบ้าน หรือขายเป็นรายได้พิเศษ

การทำสวนผัก

การทำสวนครัวเหมาะอย่างยิ่งสำหรับทุก ครัวเรือน เพราะการที่เรามีผักสดรสดีไว้รับประทาน เอง เราจะไม่ต้องพะวงเรื่องความสกปรก และ พิษยาฆ่าโรคแมลงที่ตกค้างเหมือนกับผักที่ไปซื้อหา มา การทำสวนครัวเหมาะต่อการฝึกเด็กๆ ที่บ้านให้ รู้จักทำงาน ให้รู้จักธรรมชาติ รู้จักใช้มือ ใช้สมอง ตลอดจนเป็นการออกกำลังกายไปด้วยในตัว

            ๒. การทำสวนผักเพื่อส่งตลาดท้องที่ (market gardening)

เป็นการปลูกผักต่างๆ เป็นอาชีพเพื่อส่งตลาดในท้องที่ ส่วนมากเป็นการปลูกที่ไม่ต้องการดินฟ้าอากาศพิเศษอะไร ดังนั้น ส่วนใหญ่จึงเป็นการปลูกผัก ที่อาจจะกระทำได้ในทุกฤดูกาล ตัวอย่างผักที่ปลูกในบริเวณชานเมืองก็นำมาขายในเมือง แต่ในบางโอกาสผักที่ปลูกเหล่านี้อาจจะนำไปขายในตลาดไกลๆ ก็ได้

การเตรียมผักเพื่อส่งตลาด

            ๓. การทำสวนผักเพื่อส่งตลาดใหญ่ (truck gardening)

เป็นการปลูกผักอาชีพสำหรับส่งตลาดไกลๆ การทำสวนผักประเภทนี้ชาวสวนมักจะมุ่งทำพืชเฉพาะอย่าง (specialized gardening) เช่น ปลูกผักกาดก็ปลูกผักกาดอย่างเดียว ปลูกพริกก็ปลูกพริกอย่างเดียว และพืชที่ปลูกก็มักจะทำตามความเหมาะสมกับดินฟ้าอากาศ ผักที่ผลิตขึ้นส่วนใหญ่จะถูกส่งผ่านตลาดกลางในกรุงเทพฯ ก่อน เช่น ตลาดปากคลองตลาด ตลาดท่าเตียน ตลาดมหานาค จากนี้ ผักก็ถูกส่งไปจำหน่ายตามต่างจังหวัดอีกทอดหนึ่ง ตัวอย่างการปลูกผักกาดหัว ถั่วเขียว พริก หอมแดง อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี การปลูกผักคลองจินดา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี คลองรังสิต อำเภอธัญญบุรี จังหวัดปทุมธานี คลองมหาสวัสดิ์ อำเภอภาษีเจริญ และตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี การปลูก หอมฝรั่ง กระเทียม ถั่วเหลือง ในเขตที่มีการชลประทานในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เป็นต้น

            ๔. การทำสวนผักเพื่อส่งโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร (vegetable production for processing)

การทำสวนผักประเภทนี้ มักจะทำอยู่ในบริเวณที่ใกล้กับที่ตั้งโรงงาน ในที่ซึ่งการขนส่งจากสวนผักไปโรงงานทำได้สะดวก หรือในขอบเขตที่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมของโรงงานจะเข้าไปติดต่อแนะนำส่งเสริมได้สะดวก การผลิตที่เกี่ยวข้องกับชนิดผัก ปริมาณ และคุณภาพของผัก มักจะกระทำตามสัญญา หรือข้อตกลงระหว่างโรงงานกับเจ้าของสวน การทำสวนผักประเภทนี้ ผักที่ส่งโรงงานอาจจะเป็นผักที่เอาไปทำอาหารกระป๋อง (canning vegetables) ผักที่เอาไปทำแห้ง (dehydrated vegetables) หรือผักที่เอาไปแช่เย็น (frozen vegetables) หรือผักที่เอาไปทำน้ำซ๊อส น้ำคั้น ทั้งนี้ก็สุดแท้แต่ความประสงค์ของโรงงาน

การปลูกผัก
โดยการควบคุมสภาพแวดล้อม

            ๕. การทำสวนผักด้วยวิธีการควบคุมสภาพแวดล้อม (vegetable forcing)

เป็นการปลูกผักนอกฤดูกาล หรือเมื่อสภาพแวดล้อมไม่อำนวย เช่น หนาวจัดเกินไป ร้อนจัดเกินไป ฝนตกหนักเกินไป การปลูกผักวิธีนี้ กระทำเพื่อจุดประสงค์เฉพาะอย่าง อาทิการผสมพันธุ์ และปรับปรุงพันธุ์ การวิจัยด้านการเพิ่มผลผลิต การปลูกผักเป็นการค้าในเรือนกระจกหรือเรือนพลาสติก กระทำในฤดูหนาว และในบางประเทศเช่น ญี่ปุ่น ยังนิยมปลูกผักในน้ำ (water culture) แทนการปลูกในดินด้วย เป็นต้น การควบคุมสภาพแวดล้อมต้องอาศัยอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ เข้าช่วย ในการปรับปรุงสภาพแวดล้อม เช่น เครื่องปรับอากาศอุ่น ซึ่งเป็นการปลูกผักภายในโรงกระจกในฤดูหนาว ในประเทศที่อากาศหนาวจัด การใช้พวกเครื่องปรับอากาศเย็น ช่วยการปลูกผักภายในโรงกระจก ในที่มีอาการร้อนจัด นอกจากนี้ ก็ต้องมีการควบคุมความชื้น แสงสว่าง การปลูกผักด้วยวิธีการควบคุมสภาพแวดล้อมนี้ต้องลงทุนสูง และต้องใช้วิธีการพิเศษ การปลูกผักด้วยวิธีการคุมสภาพแวดล้อมนี้ โดยทั่วไปในบ้านเราไม่นิยมกระทำกัน ทั้งนี้เนื่องจากผลได้ไม่คุ้มทุน การปลูกผักด้วยวิธีการควบคุมสภาพแวดล้อมนี้ เราจะทำเฉพาะในกรณีที่ให้ผลคุ้มค่า หรือเป็นการทดลองเท่านั้น ส่วนใหญ่การปลูกผักด้วยการควบคุมสภาพแวดล้อมในประเทศเรา เราจะควบคุมเฉพาะปัจจัยที่จำเป็น ตัวอย่างการเพาะกล้าผัก ที่เมล็ดมีราคาแพง เรามักจะควบคุมปัจจัยของสภาพแวดล้อมเป็นบางอย่าง เช่น ควบคุมการรบกวนจากฝนและแสงแดด ที่มากเกินพอ โดยการใช้หลังคาจาก หรือผ้าดิบคลุม และมีการปิดเปิดให้แสงแดดเข้าในช่วงเวลาที่เหมาะ สม เมื่อกล้าโตพอสมควร อาจจะย้ายลงปลูกใน กระทง ถุงพลาสติก กระถาง หรือแท่งเพาะกล้า ตั้งไว้ในโรงกระจก หรือโรงไม้ระแนง (lathehouse) หรือโรงกันแมลง (screen house) ทั้งนี้สุดแท้แต่ความเหมาะสม ต่อเมื่อสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติอำนวย จึงจะทำการย้ายลงปลูกในแปลงใหญ่อีกที การปลูกผักภายใต้สภาพการควบคุมภาวะแวดล้อมนี้ มักจะกระทำกันมาก ในการเพาะเห็ดต่างๆ เช่น เห็ดฟาง เห็ดหูหนู ซึ่งต้องมีการควบคุมอากาศให้อบอุ่น ควบคุมแสง ควบคุมความชื้น ฯลฯ

            ๖. การปลูกผักเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ (vegetable growing for seed production)

เป็นการปลูกผักที่ ต้องใช้เวลานานกว่า ใช้วิธีการดูแลรักษามากกว่า และเสี่ยงมากกว่าการปลูก เพื่อขายสด ตัวอย่างผัก กาดหัว การปลูกขายสดจะใช้เวลาราว ๔๕-๖๐ วัน แต่ปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์จะต้องใช้เวลา ๑๒๐-๑๕๐ วัน บางทีเมล็ดอาจจะติดไม่ดี เนื่องจากมีอากาศร้อนจัด ในระยะที่ดอกกำลังจะมีการผสมเกสร (pollination) บางทีติดเมล็ดน้อย เพราะแมลงผสมเกสร (insect pollinators) มีปริมาณไม่เพียงพอ ดังนั้น เราจะเห็นว่า มีการเสี่ยงมากกว่า ในการปลูกผักกาดหอมห่อ ถ้าจะให้ช่อดอกออกดีก็ต้องมีการผ่าหัว (deheading) การผลิตเมล็ดพันธุ์ผักพืชจำพวก ๒ ฤดู (biennial vegetable crops) เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำ ดอก หอมฝรั่ง ฯลฯ ก็ต้องใช้วิธีการพิเศษ และยุ่งยากมากกว่าการปลูก เพื่อขายสด ผักบางชนิด นอกจากจะต้องมีการทำลายการพักตัว ด้วยอากาศเย็นเป็นเวลานานเพียงพอแล้ว ยังจะต้องมีการป้องกันการงอกในระหว่างเก็บรักษา และก็ยังจะมีปัญหาอื่นๆ ติดตามมาอีก

การทำสวนผักแบบยกร่องใหญ่

            อนึ่ง การทำสวนผักเป็นอาชีพในบ้านเรา ถ้าเป็นบริเวณที่ลุ่ม เช่นในภาคกลางจะนิยมทำสวนผัก แบบยกร่องใหญ่ โดยปกติจะทำเป็นแปลงกว้าง ๔ เมตร ยาวไม่เกิน ๘๐ เมตร ตรงกลางพูนเป็นแปลง ปลูก มีทางเดินและคูน้ำรอบแปลง เพื่อประโยชน์ในการรดน้ำ และระบายน้ำ เดิมการปลูกผักแบบนี้ใช้ แรงงานคนทั้งสิ้น ปัจจุบันได้หันมาใช้เครื่องมือกลทุ่นแรง (mechanisation) มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการ เตรียมดิน การฉีดยาป้องกันและกำจัดศัตรูพืช การรดน้ำ ดังนั้นขนาดของแปลงปลูก ทางเดินและคูน้ำรอบแปลง จึงมีการดัดแปลงให้เหมาะสมกับเครื่องมือกลที่ใช้ การปลูกผักในบริเวณที่ดอน จะนิยมทำเป็นแปลงใหญ่แบบยกร่องเล็ก (furrow) แต่ทำเป็น แปลงใหญ่มีทางสำหรับให้เครื่องมือกล เช่น แทรกเตอร์เข้าทำงานได้ ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องมือกลช่วย ในการเตรียมดิน การยกร่อง การพรวน การชลประทาน และการระบายน้ำ โดยที่ค่าแรงงานในประเทศ เรายังถูกและคนว่างงานมาก ดังนั้นจึงยังมีการใช้แรงงานคนช่วยในกิจกรรมต่างๆ มาก เช่น การย้ายปลูก การใส่ปุ๋ย การพรวน การถอนแยก ฯลฯ ส่วนการฉีดยาป้องกันกำจัดศัตรูพืช การชลประทาน นิยมใช้เครื่องมือกล การปลูกผักตามเชิงเขาและที่ลาดชันก็ นิยมใช้วิทยาการสมัยใหม่ในการรักษาหน้าดินมากขึ้น อาทิ มีการปลูกผักตามแนวระดับ หรือปลูกตามแนว ขั้นบันได ในประเทศที่พัฒนาแล้วค่าแรงสูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศเรา และแรงงานหายาก เขาจึงนิยมใช้เครื่องมือกลทุ่นแรงช่วยในกิจกรรมของสวนผัก ทุกอย่างตั้งแต่การปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยว แม้แต่การปลูกผักที่เมล็ดมีขนาดเล็กมาก เช่น หอมฝรั่ง (onion) เซเลอรี (celery) ผักกาดหอม (lettuce) ก็ไม่มีการเพาะกล้า และย้ายปลูก แต่เขาจะปลูกในแปลงปลูกโดยตรง (direct seeding) เพราะทุ่นค่าแรงงานกว่า ประหยัดเวลากว่า และมีประสิทธิภาพสูงกว่า