การเลือกและการเตรียมที่
มันเทศเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีอาหารพืชบริบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี และเป็นดินเบา ดินที่เหมาะแก่การปลูกมันเทศ คือดินร่วนปนทราย หรือดินร่วนปนดินเหนียว
หลักการเลือกที่ปลูกมันเทศที่สำคัญ มีดังนี้
๑. ถ้าเป็นที่นาควรเลือกที่สูงๆ และระบายน้ำได้ดีในฤดูฝน เพราะการระบายน้ำเป็นสิ่งจำเป็นมาก แต่ถ้าปลูกในฤดูแล้งก็ไม่จำเป็นจะต้องเลือกที่สูงมากนัก เพราะไม่มีปัญหาเรื่องการระบายน้ำ
๒. ถ้าเป็นไปได้ ที่นั้นไม่ควรปลูกมันเทศมาก่อน เพราะว่าที่ซึ่งเคยปลูกมันเทศมาก่อนนั้น อาจมีเสี้ยนดิน ซึ่งเป็นแมลงชนิดหนึ่ง ดังนั้นถ้าปลูกมันเทศซ้ำอาจถูกเสี้ยนดินทำลายหัวเสียหายมาก และได้ผลไม่เต็มที่ ทางที่ดีควรปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อกำจัดแมลงชนิดนี้ ให้หมดไปเสียก่อนที่จะปลูกมันเทศต่อไป
๓. ในที่ดอน และที่ราบทั่วๆ ไปนั้น ส่วนใหญ่จะปลูกได้เฉพาะฤดูฝนเท่านั้น ส่วนที่ซึ่งอยู่ในเขตการชลประทานสามารถจะปลูกมันเทศได้ตลอดปี แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงปัญหาเรื่องระบายน้ำให้ดี
ก่อนปลูกมันเทศ ต้องเตรียมดิน คือ ไถและพรวน ๒-๓ ครั้ง เพื่อกำจัดวัชพืช และทำให้ดินมีสภาพร่วนซุย แล้วจึงปรับระดับเนื้อที่ปลูกให้เรียบสม่ำเสมอกัน เพื่อประโยชน์ในการส่งน้ำ และระบายน้ำ ถ้าหากที่ไม่เรียบสม่ำเสมอจะทำให้การส่งน้ำลำบาก และระบายน้ำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ที่ลุ่มก็จะมีน้ำท่วม ส่วนที่ดอนน้ำขึ้นไม่ถึงก็จะทำให้มันเทศเฉาตายได้ การเตรียมที่จึงมีความสำคัญมาก
ที่ซึ่งเป็นดินร่วนซุยระบายน้ำได้ดีนั้น เมื่อเตรียมดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ใช้ไถเปิดร่อง โดยให้ร่องนั้นอยู่ห่างกัน ๗๕ ถึง ๑๐๐ เซนติเมตร ส่วนในดินหนัก และการระบายน้ำไม่ดีจะต้องยกร่องขึ้นมา โดยให้สันร่องห่างกัน ๗๕ ถึง ๑๐๐ เซนติเมตรเช่นกัน ร่องที่ยกขึ้นมานั้นควรจะเป็นรูปสามเหลี่ยม และฐานของร่องกว้างประมาณ ๗๕-๑๐๐ เซนติเมตร ถ้าหากเป็นดินที่ระบายน้ำได้ดี ก็ปลูกในร่องที่เปิดไว้ ส่วนในดินหนักก็ปลูกบนสันร่องนั้นๆ
การยกร่องเตรียมแปลงปลูกมันเทศมี ๓ วิธีด้วยกัน คือ
๑. ใช้แรงคน ใช้จอบขุดดินข้างๆ แปลงให้ขึ้นมาอยู่บนสันร่องโดยให้ร่องสูงประมาณ ๕๐-๖๐ เซนติเมตร และระยะร่องห่างกัน ๑ เมตร การที่ยกร่องสูงนั้น ก็เพื่อให้มันเทศลงหัวได้สะดวก ทั้งนี้เนื่องจากดินที่พูนขึ้นมานั้นร่วนซุยกว่าปกติ วิธีนี้ใช้ได้ผลดี แต่ล่าช้า และเปลืองค่าใช้จ่าย และแรงงานมาก
๒. ใช้แรงสัตว์ ใช้วัวหรือควายเทียมติดไถ แล้วไถเวียนซ้ายและขวาประมาณข้างละ ๓ รอบ ขี้ไถก็จะกลับเข้าหากันกลายเป็นร่องสูงประมาณ ๕๐-๖๐ เซนติเมตร และให้สันร่องนั้นอยู่ห่างกัน ๑๐๐ เซนติเมตร
๓. ใช้แทรกเตอร์ติดเครื่องยกร่อง ปรับเครื่องยกร่องให้ได้สันร่องอยู่ห่างกัน ๑๐๐ เซนติเมตร การขัดก็ควรเล็งให้ตรงจะได้ร่องสูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ตามต้องการ วิธีนี้ทุ่นแรงมาก และสามารถยกร่องได้วันละหลายสิบไร่
วิธีปลูก
การเตรียมวัสดุปลูกนั้น แตกต่างกันไปแล้วแต่ว่าจะใช้ส่วนใดปลูก
การใช้ลำต้น หรือเถาปลูก ส่วนใหญ่ใช้ลำต้นที่แก่หลังจากเก็บหัวแล้วตัดเถาให้ยาวประมาณ ๔๐ เซนติเมตร การใช้เถานี้นิยมใช้ส่วนยอดมากกว่าส่วนอื่นๆ ทั้งนี้ก็เพราะส่วนยอดนั้นเจริญเติบโต และออกรากรวดเร็ว และนอกจากนั้นยอดส่วนมาก จะไม่เป็นที่อาศัยของแมลงปีกแข็งที่ทำให้หัวมันเทศเป็นแมง
การใช้หน่อจากหัวกระทำได้โดยคัดเลือกหัวมันเทศที่มีขนาดโต ปราศจากโรคและแมลง ล้างน้ำให้สะอาด แล้วแช่น้ำปูน เพื่อกันราไว้ประมาณ ๑ ชั่วโมง เอาหัวมันเทศนั้นลงเพาะแบบนอนในทราย พรมน้ำให้เปียกทิ้งไว้ ๖-๗ วัน จะมีหน่องอกขึ้นมาตามตาของหัว ใช้มีดคมๆ และสะอาดผ่าแบ่งหัวมันเทศออกเป็นซีกๆ แต่ละซีกให้มีหน่อติดอยู่ ๒-๓ หน่อ เพื่อกันเน่าให้เอาปูนแดงที่ใช้กินกับหมาก ทาที่รอยแผลนั้น หรือแช่ลงในน้ำยา บอร์โดซ์มิกซ์เจอร์ (bordeaux mixture) เพื่อป้องกันรา และกันเน่า แล้วเอาซีกมันเหล่านั้นลงปลูกในแปลงเพาะชำ จนออกรากและหน่อขึ้นงามดีแล้วจึงย้ายไปปลูกในไร่
การเตรียมเถาชำซึ่งมีใบติด ๑ ใบ ในกรณีที่ขาดแคลนเถาสามารถจะใช้วิธีนี้ได้ดี โดยคัดเลือกเถาที่อวบสมบูรณ์ และปราศจากโรคและแมลง ใช้มีดคมตัดเถาออกเป็นท่อนๆ ท่อนหนึ่งมีใบติดเพียง ๑ ใบ แล้วนำไปชำในแปลงเพาะจนออกราก และแตกหน่อดี แล้วจึงย้ายไปปลูกในไร่
การใช้เมล็ดปลูกเป็นการค้านั้น ไม่นิยม เพราะจะต้องใช้เวลานาน และเสียเวลาปลูกโดยใช่เหตุ การใช้เมล็ดปลูกนั้นจะกระทำก็ต่อเมื่อต้องการผลิตพันธุ์ใหม่ให้มีลักษณะ และคุณภาพดีกว่าพันธุ์เดิม
การปลูกด้วยเถาแบ่งออกได้ ๓ วิธี
๑. ปลูกทำมุมประมาณ ๔๕ องศากับพื้นดินฝังเถาลงไปในดิน และให้ส่วนปลายโผล่ออกมาเหนือพื้นดิน และทำมุมประมาณ ๔๕ องศา
๒. ปลูกแบบฝังให้หัวท้ายโผล่เหนือพื้นดิน ฝังเถาลงไปในดินให้ลึกประมาณ ๕ นิ้ว และให้หัวและท้ายของเถาโผล่ออกมาเหนือพื้นดิน
๓. ปลูกแบบม้วนขมวด วิธีนี้ปลูกโดยม้วนโคนของเถาเป็นแบบวงกลม แล้วฝังส่วนนั้นไว้ใต้ดิน ส่วนปลายเถาให้โผล่เหนือพื้นดิน
ทั้งสามวิธีนี้ให้ฝังเถาลงในร่องให้ห่างกันประมาณ ๕๐ เซนติเมตร
ผลการปลูกทั้งสามวิธี ในประเทศฟิลิปปินส์ เป็นดังนี้
๑. การปลูกแบบหัวท้ายโผล่เหนือพื้นดินให้น้ำหนักหัวสูงสุด และการปลูกแบบทำมุม ๔๕ องศา และม้วนขมวดให้น้ำหนักหัวเป็นที่สอง และที่สาม ตามลำดับ
๒. ต้นทุนในการปลูกแบบทำมุม ๔๕ องศา จะสูงกว่าการปลูกแบบหัวท้ายโผล่เหนือพื้นดิน และม้วนขมวด
๓. การปลูกแบบม้วนขมวด จะให้น้ำหนักของเถาและใบสูงสุด วิธีปลูกแบบนี้เหมาะสำหรับผลิตเถา และใบใช้เลี้ยงสัตว์
การปลูกโดยใช้หน่อจากหัวและเถาชำ ซึ่งมีใบติด ๑ ใบ คือ วางวัสดุปลูกเหล่านั้นลงในหลุมที่ได้เตรียมไว้โดยให้หน่อโผล่ออกมาเหนือพื้นดิน และปลูกให้ห่างกันประมาณ ๕๐ เซนติเมตร
การกำจัดวัชพืช
การกำจัดวัชพืช จะต้องทำโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หญ้าที่กำจัดโดยวิธีถอนจะต้องนำไปทิ้งเสียที่อื่น เพื่อมิให้เจริญเติบโตในแปลงปลูกได้อีก ถ้าหากเนื้อที่ปลูกมีขนาดเล็ก หลังจากกำจัดวัชพืช แล้วควรใช้จอบพรวนดินแล้วพูนโคนด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อจะให้มันเทศลงหัวได้สะดวก ถ้าหากเนื้อที่มีขนาดใหญ่ ก็สามารถกระทำได้โดยใช้ไถผ่านระหว่างแถว หลังจากปลูกแล้ว ๑ เดือน จึงทำเช่นนี้ เพื่อมิให้รากได้รับความกระทบกระเทือน นอกจากนั้น ก็ไม่ควรพรวนดินขณะที่กำลังลงหัว เพราะจะทำให้รากได้รับความกระทบกระเทือน และลงหัวน้อย
การให้น้ำ
ถ้าเป็นฤดูแล้ง การให้น้ำเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพระว่าถ้าหากขาดน้ำแล้วมันเทศจะเฉาและเหี่ยวตายไป การให้น้ำควรให้หลังปลูก ๑ ครั้ง และหลังจากนั้นให้ห่างกันประมาณ ๒๐ วันต่อครั้ง เมื่อมันเทศเจริญเติบโตดีแล้วควรให้น้ำ ๑ เดือนต่อครั้ง การจะให้น้ำเมื่อไรนั้นให้สังเกตดูความชุ่มชื้นของดินเป็นหลัก ถ้าหากดินยังหมาดอยู่ก็ยังไม่ต้องให้น้ำ ดังนั้น การให้น้ำจึงอาจยืดหยุ่นได้ คือ อาจจะช้า หรือเร็วกว่ากำหนดก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสภาพแวดล้อม เช่น แดด กระแสลม ความร้อน เป็นต้น
ถ้าเป็นฤดูฝน ไม่จำเป็นต้องให้น้ำ เพราะ ฝนตกอยู่เสมอ และมีความชุ่มชื่นเพียงพอ แต่ต้องระวังเรื่องการระบายน้ำ โดยขุดทางระบายน้ำให้ดี และอย่าให้น้ำท่วมและขังอยู่ได้ มิฉะนั้นมันเทศจะเน่าตายได้
การใส่ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ยคอก เช่น มูลวัว มูลควาย และมูลหมู ที่สลายตัวแล้วลงไปในแปลงหลังจากเตรียมดินเรียบร้อยแล้ว พรวนหรือคราดกลบ จะทำให้ดินร่วนซุย และเพิ่มธาตุอาหารให้มันเทศ ทำให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น การใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์นั้นปัจจุบันนี้ยังไม่นิยมกระทำกัน การปลูกพืชตระกูลถั่ว หรือถั่วต่างๆ เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง หรือถั่วลิสงลงไปในไร่ หลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว ไถเถาราก และใบถั่วเหล่านั้นลงในไร่ แล้วปลูกมันเทศ มันเทศจะลงหัวมาก และมีขนาดโต เพราะได้ปุ๋ยจาก เถา ราก และใบถั่วที่ผุเปื่อยอยู่ในดิน พืชตระกูลถั่วเหล่านี้จะเพิ่มปุ๋ย ไนโตรเจนให้แก่ดิน เพราะที่ปมของรากมีบัคเตรี ที่ช่วยจับไนโตรเจนจากอากาศมาไว้ในปมของราก ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักใช้อัตราประมาณ ๑,๖๐๐ กิโลกรัมต่อไร่
ถ้าหากจะใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ควรใช้ปุ๋ยสูตร ๑๐-๑๐-๒๐ หรือ ๑๓-๑๓-๒๑ อัตรา ๑๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ การใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์นี้อาจกระทำได้ ๒ วิธี ด้วยกัน คือ
๑. ถ้าหากปลูกเป็นการค้าในเนื้อที่มาก ควรหว่านปุ๋ยทั้งหมดให้สม่ำเสมอทั่วแปลง เสร็จแล้วไถกลบ และยกร่อง เพื่อใช้ปลูกมันเทศต่อไป การใส่ปุ๋ยแบบนี้เป็นการใส่ปุ๋ยครั้งเดียวก่อนปลูก
๒. ถ้าหากปลูกในเนื้อที่เล็กน้อย จะใช้วิธีใส่ปุ๋ยหลังปลูกก็ได้ คือ เมื่อมันเทศมีอายุ ๒๐-๓๐ วัน ใช้จอบขุดดินเป็นร่องเล็กข้างแถวปลูก แล้วโรยปุ๋ยลงในร่องให้สม่ำเสมอ โดยโรยบางๆ ไว้ก่อน ถ้าหากปุ๋ยเหลือจึงโรยทับอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นใช้จอบกลบปุ๋ยทั้งหมดให้ทั่ว หลังจากใส่ปุ๋ยแล้วถ้าเป็นไปได้ควรให้น้ำด้วย เพื่อปุ๋ยจะได้ละลาย และเป็นประโยชน์แก่พืชต่อไป
การตลบเถา
มันเทศหลังจากเจริญเติบโตดีแล้ว จะเลื้อยออกไปนอกแปลง ดังนั้นเมื่อมันเทศมีอายุประมาณ ๒ เดือนครึ่ง ควรตลบเถาที่เลื้อยออกนอกแปลงขึ้นไว้บนหลังแปลง การกระทำเช่นนี้ ก็เพื่อป้องกันมิให้รากเกิดตามข้อของลำต้นในส่วนปลายเถา ซึ่งจะเป็นการแย่งอาหารจากลำต้น และทำให้ได้จำนวนหัว และขนาดของหัวลดลงด้วย
ลักษณะหัวมันเทศที่เป็นโรคหัวเน่่า
โรคและแมลง
๑. โรคหัวเน่า
เกิดจากเชื้อรา ดิโพลเดียทูเบอริโคลา (อีแอนด์อี) เทาบ์ (Diplodia tubericola (E. and E.) Teub) เชื้อราจะเข้าทางแผลที่หัว แผลนั้นจะเริ่มเปลี่ยนจากสีน้ำตาลอ่อนเป็นสีดำ ผิวของหัวจะย่น และเต็มไปด้วยเชื้อราสีดำ ทีแรกเนื้อหัวมันจะอ่อนนุ่ม และสูญเสียความชื้น แต่ภายหลังจากนั้นหัวมันจะแข็งกระด้าง
วิธีป้องกันและกำจัด
๑. อย่าให้หัวมันเป็นแผลเมื่อขุดหรือขนส่ง
๒. เก็บหัวมันไว้ในที่ซึ่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก
๓. หัวที่ถูกเชื้อโรคนี้ทำลายจะต้องเผาทิ้งเสีย
๔. พื้นโรงเก็บจะต้องฉีดด้วยน้ำยาเมอร์คิวริกคลอไรด์ เพื่อฆ่าสปอร์ที่ตกหล่นอยู่
๒. โรคใบจุด
เกิดจากเชื้อราเซอร์คอสปอราบาตาตี ซิมม์ (Cercospora batatae Zimm.) อาการเริ่มแรกใบจะเป็นจุดสีน้ำตาล ขนาดของจุดนั้นมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑/๒ -๑ เซนติเมตร ส่วนกลางของแผลจะมีสีน้ำตาลปนเหลือง จนถึงสีเทา แผลจะมีรูปร่างไม่แน่นอน แผลส่วนมากจะไม่ใหญ่ เพราะถูกเส้นใบกั้นไว้ ในกรณีร้ายแรง เชื้อโรคจะทำลายใบแก่เสียหาย และร่วงก่อนเวลาอันควร ทำให้ลำต้นอ่อนแอ และลงหัวน้อย
วิธีป้องกันและกำจัด
๑. รักษาความสะอาดแปลงปลูก และนำต้นที่เป็นโรคเผาไฟทิ้งเสีย
๒. ฉีดแปลงปลูกด้วยน้ำยาบอร์โดซ์
แมลงทำลายมันเทศที่สำคัญ ได้แก่
๑. ด้วงงวงมันเทศ
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ไซลาส ฟอร์มิแคเรียส แฟบร์ (Cylas formicarius Fabr.) แพร่ระบาดทั่วโลก และเป็นแมลงที่ร้ายกาจ โดยทำลายมันเทศทั้งในแปลงปลูก และโรงเก็บ ตัวหนอนจะเจาะหัวมันเทศเข้าไป ทำให้มันเป็นแมง เมื่อต้มหัวจะมีกลิ่นไม่ชวนรับประเทาน และเมื่อรับประทานจะมีรสขื่นและขม ตัวแก่จะวางไข่ที่ลำตันเหนือพื้นดิน หรือที่หัวที่โผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดิน ตัวหนอนที่เกิดขึ้นจะกัดกินเนื้อของหัวมัน และเข้าดักแด้ในนั้น ชีพจักรของแมลงชนิดนี้จากการวางไข่ จนถึงตัวแก่กินเวลา ๓๕ วัน ตัวแก่เมื่อมีอายุ ๑ อาทิตย์ หลังจากออกดักแด้ก็จะวางไข่ต่อไปอีก
หัวมันเทศที่ถูกด้วงงวงทำลาย
การป้องกันและกำจัด
๑. ใช้แมลงทำลาย แมลงชนิดนี้ถูกทำลาย โดยแตน ๒ ชนิดด้วยกัน คือ ไมโครบราคอน ไซลาโซโวรัส โรห์เวอร์ (Microbracon cylasovorus Rohwer) และบาสซุส ไซลาโซโวรัส โรห์เวอร์ (Bassus cylasovorus Rohwer)
๒. ใช้พันธุ์ต้านทานปลูก
๓. ใช้ยา เฮบตาคลอร์ (Heptachlor) คลอร์เดน (Chlordane) และดีดีที ฉีดตามเถา และพื้นดินเพื่อกำจัดตัวแก่
๔. ใช้ ดีดีที ฉีดหัวมันก่อนเก็บ เพื่อป้องกันตัวแก่ทำลายและวางไข่
๒. แมลงเต่าทอง
ทั้งตัวแก่และตัวอ่อนของแมลงเต่าทองสามชนิดด้วยกัน จะกัดกินใบมันเทศ ทำให้การปรุงอาหารของใบลดน้อยลง การวางไข่เป็นแบบฟองเดียวบนใบ และการเข้าดักแด้จะเกิดขึ้นบนใบเช่นเดียวกัน แมลงชนิดนี้ทำอันตรายต่อมันเทศไม่มากนัก
การป้องกันและกำจัด
๑. จับตัวหนอนในตอนเช้ามืด
๒. ใช้ยา แคลเซียม หรือ เล็ดอาร์เซเนท (lead arsenate) แบบผง ดีดีที ดีลดริน พาราไทออน (Parathion) และ เฮบตาคลอร์ (Heptachlor) อย่างใดอย่างหนึ่งพ่นและฉีดตามเถาและใบ
๓. เสี้ยนดิน
แมลงชนิดนี้ทำอันตรายหัวมัน เทศอย่างร้ายแรง โดยกัดเปลือกหัว และเนื้อหัวเป็น อาหาร ทำให้มันเทศด้อยคุณภาพลงไปอย่างมาก
การป้องกันและกำจัด
โดยใช้ยา อาลดริน (Aldrin) หรือดิลเดรกซ์ (Dieldrex) ๒-๓ ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ ๑๐ ลิตร ฉีดหลังปลูกแล้วประมาณ ๑ เดือน ครึ่ง จะช่วยป้องกัน และกำจัดแมลงชนิดนี้ได้เป็น อย่างดี
การเก็บหัวและรักษา
เมื่อมันเทศมีอายุประมาณ ๙๐-๑๕๐ วันก็อาจเก็บหัวได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์และสภาพแวดล้อม โดยทั่วไปอายุเก็บหัวสำหรับพวกที่ปลูกในฤดูฝน จะยาวกว่าพวกที่ปลูกในฤดูแล้งประมาณ ๓๐-๔๐ วัน
การขุดหัวมันเทศโดยใช้จอบง่าม
บางแห่งนิยมรับประทานยอดมันเทศเป็นผัก หรืออาจใช้เป็นอาหารสัตว์ การทดลองในประเทศฟิลิปปินส์แสดงให้รู้ว่า การเด็ดยอดนั้นจะทำให้หัวที่ได้ลดลงอย่างมาก นอกจากนั้นก็ยังพบว่า ราคาของหัวมันเทศรวมกับราคาของยอดในแปลงที่เด็ดออกนั้น ได้เงินน้อยกว่าราคาของหัวจากแปลงที่มิได้เด็ดยอดเลย
มันเทศที่ขุดแล้ว
เครื่องมือที่ใช้ขุดหัวโดยทั่วไป และได้ผลดีก็ คือ จอบ เสียม และไถ การใช้จอบและเสียมนั้น จะต้องขุดทีละหลุม ส่วนการไถนั้นก็คือ ใช้ไถ ผ่านไประหว่างแถว เพื่อขุดหัวขึ้นมา วิธีการเช่นนี้ กระทำได้รวดเร็ว แต่ส่วนมากหัวจะหัก และเป็นแผล หัวมันที่หลงเหลืออยู่จะต้องใช้จอบหรือเสียมช่วยอีกครั้งหนึ่ง
การเก็บหัวมันเทศรวมเป็นกองหลังจากที่ขุดแล้ว
ผลผลิตของหัว หรือน้ำหนักหัวที่ได้นั้นขึ้น อยู่กับพันธุ์ ดินที่ใช้ปลูก ฤดูปลูก และปัจจัยอื่นๆ เช่น การใส่ปุ๋ย และการให้น้ำ เป็นต้น โดยทั่วไปแล้วพันธุ์พื้นเมือง พันธุ์หัวสีขาวจะมีน้ำหนักหัว ประมาณ ๒ ตันต่อไร่ในฤดูแล้ง แต่ในฤดูฝนจะมีน้ำหนักหัวประมาณ ๘ ตันต่อไร่ พันธุ์หัวสีแดงจะมี น้ำหนักหัวต่ำกว่านี้
เราอาจเก็บมันเทศสดไว้ใช้ทำประโยชน์ได้ นานพอสมควร ถ้าเก็บไว้ในที่โปร่ง ไม่อับลม และในที่มีอากาศเย็น เช่น ในห้องใต้ถุนบ้าน ควรใช้หัวที่เป็นแผล และผิวชอกช้ำเสียก่อน
หลักที่ควรถือปฏิบัติ เพื่อให้หัวมันเทศเก็บไว้ได้นานไม่เสื่อมเสียเร็ว มี ๔ ประการ คือ
๑. มันเทศที่จะเก็บไว้ได้นาน ต้องขุดเมื่อหัวมันแก่เต็มที่ถึงขนาด หัวอ่อนจะเน่าง่าย
๒. เวลาขุดต้องระมัดระวัง อย่าให้หัวมันช้ำ หรือมีบาดแผล ถ้ามีบาดแผลจะเป็นทางนำเชื้อโรค ทำให้หัวเน่าง่าย
๓. ก่อนจะนำเข้าเก็บในที่เก็บรักษา ต้องผึ่งหัวมันให้แห้งสนิท อย่าให้เปียกชื้น
๔. ในห้องที่เก็บหัวมันเทศต้องมีอากาศเย็นอยู่เสมอ อย่าให้ร้อนจัด หรือเย็นจัดจนเกินไป อุณหภูมิที่ใช้ประมาณ ๑๐-๑๕ องศาเซลเซียส อุณหภูมิเช่นนี้ช่วยเก็บหัวได้นานถึง ๓ ปี โดยหัวไม่งอก และแตกตาออกมา
ถ้าไม่ต้องการเก็บหัวสด จะทำเป็นแบบตากแห้งก็ได้ ฝานหัวเป็นแว่นบางๆ ตากให้แห้งสนิท และนึ่งบริโภคเมื่อต้องการ
ลักษณะของหัวมันเทศที่แก่เต็มที่