สาคู เมื่อกล่าวถึงต้นสาคู มีคนจำนวนมากที่ไม่รู้จัก หรือไม่เคยเห็น แต่ก็มีมากที่เคยได้ยิน และรู้จัก และมีความรู้แตกต่างกันออกไป บางคนนึกถึงต้น สาคูที่เป็นต้นไม้ยืนต้น เป็นต้นไม้ประเภทปาล์ม คล้ายต้นมะพร้าว ใช้ส่วนของลำต้นนำมาทำเป็นเม็ดสาคู หรือแป้งสาคู เมื่อสมัยนานมาแล้ว เนื่องจากต้นไม้ชนิดนี้มีจำนวนน้อย ไม่มีการปลูกเพิ่มขึ้น ปริมาณการผลิตเม็ดสาคูจาก "ต้นสาคู" (sago palm) จึงลดน้อยลงและหมดไป และหันมาผลิตสาคูจากแป้งมันสำปะหลังแทน จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ เม็ดสาคูผลิตจากแป้งมันสำปะหลังทั้งสิ้น ต้นสาคู ที่กล่าวนี้เป็นไม้ยืนต้น จึงไม่จัดเป็นพืชหัว และจะไม่นำมากล่าวในที่นี้ | |
แปลงสาคู | |
สาคูที่จะกล่าวในที่นี้ หมายถึง ต้นสาคูที่เป็นพืชหัวชนิดหนึ่ง เนื่องจากเราใช้หัวเป็นประโยชน์ ไม่ใช่ต้นสาคูที่เป็นต้นไม้ประเภทปาล์ม ที่เรียกว่าต้นสาคู ประโยชน์ที่สำคัญคือ เป็นอาหาร แป้งที่ได้จากหัวสาคูนี้ เป็นแป้งในรูปของคาร์โบไฮเดรตที่บริสุทธิ์ที่สุดชนิดหนึ่ง เป็นแป้งที่มีความเหนียวมาก ย่อยง่าย เป็นที่นิยมในตลาดโลก มีราคาแพงกว่าแป้งชนิดอื่น มีหลายประเทศที่สามารถผลิตแป้งสาคูได้มาก จนสามารถส่งเป็นสินค้าออกทำเงินให้แก่ประเทศปีละมากๆ ประเทศไทยใช้สาคู เพื่อการบริโภคภายในประเทศ และมีปริมาณไม่มากนัก ถ้ามีการผลิตแป้งจากสาคู เพื่อการค้าได้ จะทำให้สาคูเป็นพืชที่มีความสำคัญมากขึ้น ประเทศไทยไม่มีสถิติเกี่ยวกับการปลูก การผลิต การค้า แต่เซนต์วินเซนต์ (St. Vincent) ส่งออก ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๑๐ ปีละ ๒,๐๘๗ ตัน บราซิล ส่งออกในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ปีละ ๑๓๙ ตัน ราคาแป้งสาคูในตลาดโลกประมาณตันละ ๕,๐๐๐ บาท ประวัติความเป็นมาและแหล่งปลูก สาคูมีชื่อภาษาอังกฤษว่า แอร์โรว์รูต (Arrow- root) และยังมีชื่ออื่นๆ นอกเหนือไปจากนี้อีก ได้แก่ เวสต์อินเดียน แอร์โรว์รูต (West Indian arrow root) เบอร์มิวดา แอร์โรว์รูต (Bermuda arrowroot) เซนต์วินเซนต์ แอร์โรว์รูต สาคูเป็นพืชดั้งเดิมของอเมริกาเขตร้อน แต่ปลูกเป็นล่ำเป็นสันที่หมู่เกาะอินเดียตะวันตก และที่เซนต์ วินเซนต์ ซึ่งผลิตสาคูได้มากคิดเป็น ๙๔ เปอร์เซ็นต์ของตลาดโลก โดยเฉพาะที่เซนต์ วินเซนต์ นั้น ผลิตสาคูได้ปีละประมาณ ๙๘๐-๓,๘๐๖ ตัน บราซิล อีกประเทศหนึ่งที่ปลูกสาคูเป็นการค้า แต่ละปีผลิตได้ประมาณ ๔,๐๐๐ ตัน นอกจากนี้ก็มีปลูกอยู่ทั่วๆ ไปในอินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ในประเทศไทยประชาชนรู้จักต้นสาคูกันมานานแล้ว จนคิดว่า คงจะเป็นพืชที่ขึ้นอยู่ดั้งเดิมนานมาแล้ว ปัจจุบันมีการปลูกสาคูเป็นสวนครัวรายละเล็กละน้อย ยังไม่มีการปลูกกันเป็นล่ำเป็นสัน แหล่งที่ปลูกสาคูมาก ได้แก่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เช่น จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น เป็นต้น | |
ลักษณะต้นและหัวสาคูจีน | ลักษณะทั่วไป สาคูเป็นพืชที่มีอายุอยู่ได้หลายฤดูฝน ลักษณะ ใบคล้ายใบคล้า ต้นคล้ายต้นขิง ต้นสูง ๖๐-๑๘๐ ซม. ขึ้นอยู่เป็นกอ หัวเล็กยาว แผ่กว้างลึก อีกชนิดหนึ่ง ต้นและใบคล้ายพุทธรักษา หัวสั้นใหญ่ มีหัวน้อย อยู่ไม่ลึก |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ สาคูมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แมรันตา อะรันดินาซี แอล (Marantaarundinacea L.) อยู่ในตระกูล แมรันเตซี (Marantaceae) เป็นพืชเนื้ออ่อนมีอายุอยู่ได้หลายฤดู มีหัวซึ่งเกิดจากลำต้นใต้ดิน โดยหัวขยายตัวอยู่ใต้ระดับดิน หัวใหญ่กลม ยาว ขนาดของหัว ๒.๕ ซม. ยาว ๒๐-๔๕ ซม. ใบเป็นชนิดแลนซิโอเลต (lanceolate) เหมือนใบคล้า ดอกสีขาว เป็นช่อแฝด เมล็ดสีแดง แต่ไม่ค่อยติดเมล็ด |
ชนิด แบ่งตามลักษณะหัวมีอยู่ ๒ ชนิด ชนิดหัวเล็กยาว แผ่กว้าง และหยั่งลงในดินลึก เรียก เครโอล (creole) ชนิดหัวสั้นใหญ่ หัวไม่มาก หัวอยู่ไม่ลึก เรียก แบนานา (banana) | ดอกสาคูจีน ซึ่งมีลักษณะคล้ายพุทธรักษา |
ความจริงแล้วพืชทึ่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า แอร์โรว์รูต ที่จัดเป็นพืชหัวยังมีอีก ๒ ชนิด ชนิดแรกได้แก่ ควีนส์แลนด์ แอร์โรว์รูต (Queensland arrowroot) และมีชื่ออื่นอีก คือ ออสเตรเลียน แอร์โรว์รูต (Australian arrowroot) เอดิเบิล แคนนา (edilbe canna) เพอร์เพิล แอร์โรว์รูต (purple arrowroot) ไทยเราเรียกว่า "สาคูจีน" มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แคนนา เอดูลิส (Canna edulis) เคอร์-กัล (Ker-Gawl) อยู่ในตระกูล แคนนาซี (Cannacean) เป็นพืชพวกเดียวกับพุทธรักษา มีลักษณะต้น ใบ เหมือนพุทธรักษา แต่ดอกเล็กกว่า หัวคล้ายหัวข่า รับประทานได้ เหมือนสาคูธรรมดา ที่กล่าวข้างต้น นอกจากสาคูที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ยังมีสาคูอีกชนิดหนึ่งได้แก่ อิสต์ อินเดียน แอร์โรว์รูต (East Indian arrowroot) มีชื่ออื่นอีก เช่น โพลิเนเชียน แอร์โรว์รูต (Polynesian arrowroot) ทัคคา (tacca) ฯลฯ ไทยเรียกว่า "สาคูจีน" มีชื่อวิทยา ศาสตร์ว่า ทัคคา เลออนโทเพทาลอยด์ แอล คุนทซ์ (Tacca leontopetaloides (L) Kuntze) อยู่ในตระกูล ทัคคาซี (Taccaceae) จึงได้นำมากล่าวไว้ เพื่อป้องกันการสับสน ฤดูปลูก สาคูขึ้นได้ในที่ที่มีฝน ๑,๕๐๐-๒,๐๐๐ มม. จึงควรปลูกในเวลาที่มีน้ำ หรือสามารถให้น้ำได้เพียงพอ ตลอดอายุการเจริญเติบโต สาคูชอบอากาศร้อนและชื้น ฤดูปลูกที่เหมาะสม ได้แก่ ฤดูฝน การเลือกที่และการเตรียมดิน สาคูชอบที่ที่มีการระบายน้ำดี ดินเป็นกรดน้อยๆ ร่วนและลึก สามารถขึ้นได้ดีตั้งแต่ระดับ น้ำทะเล จนถึงความสูงประมาณ ๙๐๐ เมตร เตรียมดินโดยไถ และพรวนดินให้ร่วน ขุดหลุมลึก ๑๐-๑๕ ซม. ระยะหลุมห่างกัน ๓๕-๔๐ ซม. ปลูกเป็นแถวระยะระหว่างแถว ประมาณ ๗๕ ซม. วิธีปลูก โดยทั่วไปปลูกจากหัว โดยตัดเป็นท่อนสั้นๆ ยาวประมาณ ๕ ซม. บางทีก็รมควันหัวเสียก่อน เพื่อให้งอกเร็วขึ้น บางครั้งก็ปลูกด้วยหน่อ (sucker) บางรายขุดเก็บหัวสาคูจากต้นแก่เท่านั้น ทิ้งต้นอ่อน ที่เกิดจากหน่อให้เติบโตต่อไป ไม่ต้องปลูกใหม่ เริ่มปลูก เมื่อต้นฤดูฝน วางหัวที่เตรียมไว้ในหลุม ความลึกของหลุมประมาณ ๑๐-๑๕ ซม. กลบด้วยดิน ถ้าใช้ระยะปลูก ๗๕-๘๐ ซม. หัวที่ใช้เป็นพันธุ์ปลูกจะต้องมีจำนวนหนักประมาณ ๔๘๐ -๕๖๐ กก./ไร่ การกำจัดวัชพืช หลังจากปลูก ควรดูแล อย่าให้มีวัชพืชแย่งอาหารต้นสาคู โดยกำจัดวัชพืช เมื่อต้นสาคูอายุ ๓-๔ เดือน เมื่อต้นสาคูออกดอก ต้องคอยเด็ดทิ้งทันที เพื่อให้อาหารไปเลี้ยงหัวให้โตขึ้น แทนที่จะไปเลี้ยงดอกและเมล็ด การใส่ปุ๋ย การปลูกสาคูในต่างประเทศ ใช้ปุ๋ยผสม เกรด ๘-๕-๑๔ ในอัตราประมาณ ๑๔๐ กก./ไร่ เมื่ออายุประมาณ ๓ เดือนครึ่ง คนไทยปลูกสาคู โดยไม่ใส่ปุ๋ยเคมี อาจจะใส่ปุ๋ยคอกบ้างเล็กน้อย โรคและแมลง ต้นสาคูไม่มีโรคและแมลงรบกวนมากนัก แมลงที่อาจพบ ได้แก่ หนอนม้วนใบ โรคที่พบมี โรคใบจุด ไม่ทำความเสียหายร้ายแรงนัก การเก็บและรักษา สาคูมีอายุประมาณ ๑๐-๑๑ เดือน สังเกต ได้โดยใบเริ่มเหี่ยวตาย จึงเก็บ โดยขุดและเก็บด้วยมือ ตัดแยกหัวออกจากต้นและใบ ผลผลิตของหัวสาคูมีประมาณ ๒,๐๐๐ กก./ไร่ เมื่อขุดขึ้นจากดินแล้ว จะเก็บหัวไว้ได้ไม่นาน จะต้องใช้ภายใน ๒-๗ วัน ประโยชน์ แป้งสาคูนับเป็นคาร์โบไฮเดรตที่บริสุทธิ์ที่สุดในบรรดาคาร์โบไฮเดรตที่ได้จากธรรมชาติ และมีความเหนียวสูงสุด | |
ลักษณะและขนาดหัวสาคู | |
การวิเคราะห์หัวสาคูประเภท "เครโอล" ประกอบด้วยความชื้นร้อยละ ๖๙.๑ เถ้าร้อยละ ๑.๔ ไขมันร้อยละ ๐.๑ เส้นใยร้อยละ ๑.๓ โปรตีนร้อยละ ๑.๐ แป้งร้อยละ ๒๑.๗ สำหรับหัวสาคูประเภท "แบนานา" ประกอบด้วยความชื้นร้อยละ ๗๒.๐ เถ้าร้อยละ ๑.๓ ไขมันร้อยละ ๐.๑ เส้นใยร้อยละ ๐.๖ โปรตีนร้อยละ ๒.๒ แป้งร้อยละ ๑๙.๔ แป้ง าคูประกอบด้วยเม็ดยาวรี ยาวประมาณ ๑๕-๗๐ ไมครอน พวกแบนานามีเม็ดแป้งใหญ่กว่าพวกเครโอลเล็กน้อย |
ต้นสาคูจีนที่ปลูกในแปลงใหญ่ | ส่วนใหญ่ใช้หัวทำแป้ง ซึ่งเป็นแป้งที่ย่อยง่ายมาก ส่งออกสู่ตลาดเป็นแป้งผง สีขาว เรียก "แป้งสาคู" นิยมใช้เป็นอาหารทารก และทำอาหารอย่างอื่น เช่น ขนมปัง ขนมต่างๆ แพทย์ให้คนป่วยด้วยโรคลำไส้รับประทานแป้งสาคู นอกจากนี้ เราใช้แป้งสาคูทำ "ผงแบเรียม" (barium meals) และใช้ในอุตสาหกรรมยา ทำแป้งผัดหน้า ทำกาว และทำกระดาษที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ |
หัวสาคูใช้เป็นอาหาร โดยต้มหรือเผาเสียก่อน หัวสดนำมาโม่จะได้แป้งสาคูใช้ทำขนมได้ดี ใบและต้นสาคูใช้ในการบรรจุหีบห่อได้ กากที่เหลือจากการทำแป้งแล้วใช้เป็นอาหารสัตว์ และทำปุ๋ย คนไทยต้มหรือนึ่งสาคูรับประทานเป็นของหวาน แต่ปริมาณสาคูที่ใช้เป็นของหวานมีไม่มากนัก |