เล่มที่ 6
ความน่าจะเป็น
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
วิวัฒนาการของความน่าจะเป็น

หลังจากปัญหาในการพนันที่เป็นต้นกำเนิดของวิชาความน่าจะเป็น เมื่อ พ.ศ. 2197 ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่า ได้มีการค้นคิดในเรื่องนี้แต่อย่างใด จนกระทั่งอีก 200 ปีต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2397 จอร์ช บูล (George Boole ค.ศ. 1815- 1864) นักปรัชญาชาวอังกฤษได้เขียนหนังสือชื่อ "กฎแห่งความคิด" (The laws of Thought) ซึ่งถือว่า เป็นหนังสือเล่มแรก ที่เกี่ยวกับความน่าจะเป็น อีก 51 ปีต่อ มา เมื่อ พ.ศ. 2448 ไอน์สไตน์ได้เขียนเรื่อง "The Brownian Motion" ซึ่งได้ใช้รูปแบบของความน่าจะเป็น ในการอธิบายการเคลื่อนไหวของอนุภาค

เรื่องความน่าจะเป็นเพิ่มปรากฏเป็นตำราเล่มแรก เมื่ออังเดร นิโคเลวิช โคลโมโกรอฟ (Andrei Nikolaevich Kolmogorov ค.ศ. 1903 - ชาวสหภาพ โซเวียต) ได้เขียนเป็นภาษารุสเซีย ใน พ.ศ. 2477 และต่อมามีผู้แปลเป็นภาษา อังกฤษ ให้ชื่อว่า "The Foundations of Probability" จากนั้นไม่นาน ความน่าจะเป็นก็ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศสหภาพโซเวียต และยุโรปตอนเหนือ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนักการทหารและนักคณิตศาสตร์ ได้ร่วมมือกันค้นหาหนทางในการกำหนดยุทธวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งเมื่อสิ้นสงครามแล้ว ก็ได้อาศัยหลักการเหล่านั้น มาใช้ในการวางแผนผลิตสินค้าต่างๆ แทนอาวุธ และใช้ในการตัดสินใจปัญหาทั่วไปนอกเหนือจากการรบ ซึ่งต้องเผชิญกับการเสี่ยง และความไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา

เมื่อ 40 กว่าปีที่ผ่านมาเรื่องของความน่าจะเป็นมีบทบาทสำคัญในการ พัฒนาวิทยาการต่างๆ ให้เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว แทบทุกสาขา โดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์ การทหาร การคมนาคม การ เกษตร การแพทย์ และแม้ในทางวรรณคดี ดังที่นักคณิตศาสตร์ผู้หนึ่งได้ศึกษา การใช้คำของนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียง เพื่อนำไปใช้ในการสันนิษฐานว่า บทประพันธ์สำคัญที่ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน น่าจะเป็นของผู้ใด