ลักษณะทั่วไปของแมลงครั่ง
ไข่
มีลักษณะรูปไข่ยาวประมาณ ๐.๓๖-๐.๔๓ มิลลิเมตร กว้างประมาณ ๐.๑๖-๐.๑๙ มิลลิเมตร แมลงครั่งจะวางไข่ทีละฟอง หรือวางติดต่อกันเป็นสายก็ได้ และจะฟักตัวภายใน ๒๐ นาที หลังจากการวางไข่
ตัวอ่อน
มีสีแดงเลือดนก ลักษณะรูปไข่ ทางด้านหัวกว้างกว่าทางด้านท้ายเล็กน้อย มีลักษณะเหมือนกันทั้งตัวผู้ และตัวเมีย แยกจากกันไม่ออก ตัวยาวประมาณ ๐.๖ มิลลิเมตร และกว้างประมาณ ๐.๒ มิลลิเมตร ส่วนหัว และส่วนอกแยกจากกันเห็นไม่ชัด ส่วนหัวมีตา ๒ ตา และมีหนวด ๒ เส้น มีขา ๖ ขา มีขนอยู่ทั่วไปบนหนวดแต่มีขนยาวอยู่ ๒ เส้นเห็นได้ชัด มีขนขี้ผึ้งสีขาวคล้ายแป้ง ๓ กลุ่ม ๒ กลุ่มอยู่ทางด้านนอก ตรงบริเวณที่ควรเป็นปีก และอีก ๑ กลุ่มอยู่ทางด้านท้าย
ครั่งตัวเมีย
เมื่อตัวอ่อนอายุครบ ๑ เดือน จะสังเกตเห็นได้ว่าตัวเมียจะขยายใหญ่มีลักษณะเป็นถุงกลมๆ และสร้างสารหุ้มตัวบางๆ ส่วนขา หนวด และตาหายไป ต่อมาจะสร้างรังหุ้มตัวหนาขึ้น ขนสีขาว ๓ กลุ่มยังคงเหลืออยู่ ปากหรืองวงจะเจริญเติบโตขึ้นเต็มที่ เมื่ออายุครบ ๒-๒(๑/๒) เดือน ตัวเมียจะได้รับการผสมพันธุ์จากตัวผู้ ตัวเมียจะขยายใหญ่ขึ้นจนเกือบกลม ภายในตัว เต็มไปด้วยน้ำสีแดง และมีไข่อยู่ในท้องเต็มไปหมด น้ำสีแดงนี้ประกอบได้ด้วยสารที่ให้สีแดง ซึ่งใช้ผสมอาหารรับประทานได้ ภายหลังการผสมพันธุ์นี้ตัวเมียจะสร้างรังหุ้มตัวจนหนาติดกันเป็นพืด ครั่งที่นำมาใช้ประโยชน์จึงเป็นครั่งที่ได้จากรังครั่งตัวเมีย
ครั่งตัวผู้
เมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตเป็นครั่งตัวผู้ จะมีลักษณะใหญ่กว่าตัวอ่อนเล็กน้อย มีหนวดใหญ่เป็นพวง มีปล้อง ๗ ปล้อง มีตา ๒ คู่ อยู่ทางด้านข้าง ๑ คู่ และทางด้านใต้หัว ๑ คู่มีขนยาว ๒ เส้นโผล่มาจากทางด้านท้องปล้องสุดท้าย และมีอวัยวะช่วยในการสืบพันธุ์ เมื่ออายุประมาณ ๒-๒(๑/๒) เดือน ตัวผู้จึงเจริญเติบโตเต็มที่ มีลักษณะเหมือนแมลงทั่วไป มี ๒ ชนิดคือ ชนิดมีปีก และชนิดไม่มีปีก คลานไปตามรังครั่งตัวเมีย เพื่อผสมพันธุ์ ภายหลังผสมพันธุ์ครั่งตัวผู้จะตายไป
ตัวอ่อนของครั่งตัวผู้ต่างกับตัวอ่อนของครั่งตัวเมีย ซึ่งจะสังเกตได้ในภายหลังมีอายุได้ ๑ เดือนแล้ว ตรงที่รังหุ้มครั่งตัวผู้จะเป็นรูปซิการ์ และไม่มีขนขี้ผึ้งสีขาวคล้ายแป้ง ตัวเล็กกว่า ส่วนรังของตัวเมียมีรูปร่างไม่แน่นอน