ระบบควบคุมอัตโนมัติ
เครื่องจักรกลในสมัยเริ่มแรกประกอบด้วยระบบผ่อนแรงและใช้พลังงานกลจากธรรมชาติ และสัตว์เลี้ยง การที่ เจมส์ วัตต์ (James Watt, ค.ศ. ๑๗๓๖-๑๘๑๙) วิศวกรชาวอังกฤษได้ประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำขึ้น นับว่า เป็นก้าวใหญ่ ในการสร้างความเจริญให้แก่มนุษย์ในด้านเครื่องจักรกล เพราะว่า เป็นก้าวแรกในการใช้แหล่งกำลังจากเครื่องยนต์ ที่สามารถนำมาใช้งานและควบคุมได้ การใช้เครื่องจักรกลเหล่านี้ก็ยังต้องอาศัยคนคอยเฝ้าควบคุมให้เครื่องทำงาน ตามที่ ประสงค์ ด้วยเหตุที่เครื่องยนต์ทำงานได้ โดยไม่มีความเหน็ดเหนื่อย และมักจะมีความรวดเร็วมาก จึงทำให้เกิด วิวัฒนาการขั้นต่อมา คือ การประดิษฐ์เครื่องมือที่จะทำหน้าที่แทนคนในการควบคุมการทำงานของ เครื่องจักรกลอีกทอดหนึ่ง เครื่องมือนี้เรียกว่า ระบบควบคุมอัตโนมัติ มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นเนื่อง ด้วยความจำเป็นสองประการ คือ
๑) เพื่อช่วยแบ่งเบาการทำงานแบบซ้ำซากอันน่าเบื่อหน่าย มนุษย์จะได้ปลีกตัวไปใช้ เวลาและความสามารถสำหรับทำงานอื่นๆ ให้เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น
๒) เพื่อให้ช่วยควบคุมการทำงานที่รวดเร็วหรือซับซ้อนเกินความสามารถทางกายภาพของ มนุษย์ที่จะควบคุมได้ทันและทั่วถึง เช่น การบังคับเครื่องบินไอพ่นสมัยใหม่ที่มีความเร็วกว่าเสียง นักบินมีภาระที่จะต้องควบคุมมากมายภายในเวลาอันจำกัด แต่ระบบอัตโนมัติช่วยให้นักบินเพียงคน เดียวทำหน้าที่ทั้งหมดได้ครบถ้วนและทันการ
หลายจังหวัดในภาคเหนือของไทย มีการเพาะปลูกต้นยาสูบและพืชไร่ตามริมแม่น้ำ ลำธาร ซึ่งโดยมากมีตลิ่งสูงชันมาก กระแสน้ำในลำธารก็ไหลแรง ชาวไร่ในบางจังหวัดของภาคนี้ เช่น ที่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ได้ใช้ระหัดวิดน้ำอัตโนมัติแบบหนึ่งซึ่งภาษาพื้นเมืองเรียกว่า "หลุก" ระหัดนี้ประกอบด้วยวงล้อใหญ่ทำด้วยไม้ไผ่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ เมตร แกน ของวงล้อนี้อยู่ในแนวนอนและตั้งฉากกับกระแสน้ำในลำธาร ที่วงล้อมีใบพายสานด้วยไม้ไผ่ทำ หน้าที่รับแรงปะทะของกระแสน้ำซึ่งผลักให้วงล้อหมุนที่ขอบวงล้อมีกระบอกไม้ไผ่ผูกติดอยู่ห่าง เป็นระยะเท่าๆ กันโดยรอบ และทำหน้าที่จ้วงตักน้ำขณะเมื่อหลุกหมุนตามวงล้อลงไปต่ำสุด เมื่อ หมุนขึ้นไปสูงสุดก็จะเทน้ำออกลงสู่รางไม้ไผ่ ซึ่งรองรับเอาไว้และทอดขึ้นตลิ่งไปยังต้นพืชในไร่ กระบอกเทน้ำทอยๆ กัน ทำให้มีน้ำไหลในรางตลอดเวลาโดยชาวไร่ไม่ต้องอยู่คอยเฝ้า เพียงแต่ คอยจัดปลายรางน้ำให้หันไปยังร่องพืชที่ต้องการจะรดน้ำเท่านั้น