เล่มที่ 9
เวชศาสตร์ฟื้นฟู
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เวชศาสตร์ฟื้นฟู

            เป็นวิชาที่นำเอาคุณสมบัติของฟิสิกส์ต่างๆ ที่ได้กล่าวแล้ว เช่น แสง เสียง ความร้อน ไฟฟ้า มาใช้ในการบำบัดรักษา และการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วย ซึ่งอาจเกิดจากโรคหรือจากอุบัติเหตุต่างๆ เพื่อช่วยให้เขาเหล่านั้นสามารถปรับตัว ให้เข้าสภาพของความพิการ แล้วกลับไปดำเนินชีวิตอย่างคนทั่วไป หรือใกล้พิการ หรือใกล้เคียงที่สุด ทั้งทางด้านสภาพจิตใจ การประกอบอาชีพการอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขพอสมควรตามอัตภาพ

การฝึกใช้มือพิการทำงานโดยใช้ กายอุปกรณ์เสริมช่วยพยุงข้อมือที่อ่อนแรง

            การปฏิบัติงานทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูนี้ ต้องทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มมีการปรึกษางาน ร่วมกันวางแผนงาน และปฏิบัติงานร่วมกันเป็นอย่างดี กลุ่มปฏิบัติงานร่วมนี้ประกอบด้วย แพทย์ ที่ปฏิบัติงานทางด้านนี้เป็นหัวหน้าทีม ทำหน้าที่ในด้านการตรวจ การวินิจฉัยโรค ให้การรักษาเช่นเดียวกันกับแพทย์ทั่วไป เป็นผู้วางแผนการรักษา แล้วมอบหมายงานการรักษาให้แก่บุคลากร ผู้ร่วมงานต่างๆ ที่ร่วมงานด้วย และติดตามผลการรักษา เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการรักษา แล้ววางแผนงานในการให้การรักษาเป็นขั้นๆ จนถึงที่สุด

การฝึกการทรงตัว ของผู้ป่วยพิการทางสมอง ในการนั่งและเอื้อมหยิบสิ่งของ

            นักกายภาพบำบัด ทำหน้าที่รักษาทางกายภาพบำบัด โดยการประเมินคนไข้ เพื่อวางแผน และรักษา ด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด ซึ่งจะใช้เครื่องมือกายภาพบำบัดต่างๆ รวมทั้งการดึง การดัด การนวด และการออกกำลังกาย เพื่อการบำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยกลับสู่สภาวะปกติได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือพึ่งพิงผู้อื่นน้อยที่สุด โดยอาจต้องใช้อุปกรณ์ช่วยคนพิการบางอย่าง เช่น ไม้เท้า ไม้ค้ำยัน รถเข็น เป็นต้น

การฝึกใช้มือเทียม
หยิบแท่งไม้กลม
            นักกิจกรรมบำบัด ทำหน้าที่ประเมินความพิการ โดยการสังเกต ตรวจ และติดตามอารมณ์ พฤติกรรมการเรียนรู้ สติปัญญา ความสามารถในการช่วยตนเอง การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ความรู้สึก การรับรู้ แล้ววางแผนและดำเนินการ ในการรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพ ด้วยวิธีการทางอาชีวะบำบัด เช่น การจัดกิจกรรมให้เป็นการกระตุ้น ฟื้นฟู ส่งเสริมพัฒนาการ เพิ่มพูนความสามารถ ของร่างกาย ใช้แขนเทียม ใช้อุปกรณ์เสริมของมือ ทักษะในการประกอบกิจวัตรประจำวัน ฝึกงานฝีมือ ฝึกงานศิลปะ ฝึกงานอาชีพ ฝึกงานอดิเรกนันทนาการ พัฒนาความทนงาน ประคองสภาพจิตใจ ดูแลรักษาบ้านเรือน ดัดแปลงอุปกรณ์ และเครื่องใช้ต่างๆ พัฒนาทักษะเฉพาะที่จำเป็น ในการประกอบอาชีพ และทำกายอุปกรณ์เสริมสำหรับมือ เป็นต้น

            นักจิตวิทยา ทำหน้าที่ประเมินสภาพทางจิตใจ และติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพจิตใจตลอดเวลาในการบำบัดรักษา

            นักอรรถบำบัด ทำหน้าที่ตรวจสอบความพิการที่เกี่ยวกับการพูดและปัญหาที่เกี่ยวกับการติดต่อ ตลอดจนการฝึกสอนผู้ป่วย ให้พูดได้ถูกต้อง

การฝึกใช้นิ้วที่เหลืออยู่ให้มีความคล่องตัว แทนนิ้วที่เสียไป

            พยาบาลเวชศาสตร์ฟื้นฟู ทำหน้าที่ดูแลทางด้านการพยาบาลผู้ป่วยพิการในลักษณะต่างๆ กัน

            นักสังคมสงเคราะห์ทำหน้าที่ทางด้านสังคมสงเคราะห์ทั้งด้านความเป็นอยู่ และเศรษฐกิจ

            นักอาชีวะบำบัด ทำหน้าที่จัดหางานอาชีพที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยแต่ละรายได้ฝึกฝน

            และนักกายอุปกรณ์เสริมและเทียม ทำหน้าที่สร้างแขนขาเทียม และอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย ที่ต้องการใช้กายอุปกรณ์ดังกล่าวทดแทน หรือช่วยเสริมส่วนที่เสียไป เพื่อให้ขีดความสามารถในการปฏิบัติงานต่างๆ สูงขึ้น

กายอุปกรณ์เสริม

            เป็นอุปกรณ์ที่สร้างขึ้น เพื่อช่วยเสริมส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ที่เสียสมรรถภาพไป อาจเป็นที่ ขา ลำตัว คอ และแขน เป็นต้น ที่เราใช้กันมาก ได้แก่ กายอุปกรณ์เสริมขา ซึ่งนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า เบรซ (brace) เบรซมีประโยชน์ต่อคนไข้ เช่น ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นอัมพาตของกล้ามเนื้อควบคุมข้อเท้า ให้อยู่ในตำแหน่งปกติ ทำให้เวลาเดินปลายเท้าห้อยลงลากไปกับพื้น และข้อเท้าพลิกได้โดยง่าย เมื่อปล่อยทิ้งไว้นานๆ ข้อเท้าจะติดอยู่ในท่าปลายเท้าเหยียด ทำให้การเดินลำบากในอนาคต

ผู้ป่วยโรคโปลิโอที่ขาสวมเบรซชนิดสั้น
ฝึกออกกำลังกาย

            การใส่เบรซขาชนิดสั้น จะมีส่วนช่วยทำให้ปลายเท้าไม่ห้อยลง เพราะข้อเบรซเป็นตัวควบคุมเอาไว้ ขณะเดียวกันมีผลทำให้เกิดความมั่นคง ที่บริเวณข้อเท้า ทำให้ข้อเท้าไม่พลิกขณะที่เดิน

            ในกรณีที่มีอัมพาตของกล้ามเนื้อควบคุมให้เข่า เหยียดตรงขณะยืนหรือเดิน ก็จำเป็นต้องใส่เบรซขาชนิดยาว เพื่อทำให้เข่าเหยียดขณะเดิน โดยใช้วงแหวนล็อก เป็นตัวบังคับให้เข่าเหยียดไว้ตลอดเวลาที่ยืนและเดิน เป็นการป้องกันการงอพับของข้อเข่ามิให้ล้มลงได้ เมื่อจะนั่งต้องดึงแหวนล็อกข้อเข่านี้ขึ้น จะสามารถงอเข่า แล้วนั่งลงได้โดยสะดวก

การใช้คอร์เซต และเบรซชนิดยาว เสริมและควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณเอว เพื่อลดอาการปวด

            ถ้าเป็นอัมพาตสูงถึงระดับขาดการควบคุมการทำ งานของสะโพก ก็ต้องใช้เบรซขาชนิดยาวแบบมีข้อ สะโพกร่วมด้วย จะช่วยควบคุมทิศทางในการเดินให้ถูกต้องตามแนวของข้อเบรซ คือ ในท่างอไปข้างหน้าและเหยียดตรงได้เท่านั้น มิฉะนั้นแล้ว ข้อสะโพกที่ขาดกล้ามเนื้อควบคุม ก็อาจจะเดินในท่าบิดปลายเท้าเข้าหรือออก เป็นการขัดขวางในการเดินได้

            ในเรื่องกระดูกสันหลังที่เสื่อมหรือคด และมี อาการปวดบริเวณหลัง การใส่กายอุปกรณ์เสริมของหลัง จะช่วยประคองกระดูกสันหลังให้อยู่ในแนวที่เหมาะสม ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณกระดูกสันหลังนั้นได้พัก และ อาการปวดลดลง อาทิเช่น ปวดที่บริเวณกล้ามเนื้อของ เอวก็อาจใช้คอร์เซต (corset) ตัดด้วยผ้าแล้วเสริมภายในให้แข็งแรง ด้วยแผ่นโลหะ และไนลอน ช่วยให้ส่วนนั้น มั่นคง และลดการเคลื่อนไหว ทำให้ส่วนนั้นได้พักและ อาการปวดลดลงได้ ถ้าต้องการให้มีการควบคุมการเคลื่อนไหว และเสริมความมั่นคงของกระดูกสันหลังใน ระดับสูงกว่านี้ เราก็อาจใช้เบรซ ซึ่งมีส่วนประกอบเป็น อะลูมิเนียมอัลลอย (aluminium alloy) ที่มีความแข็งแรงสูง ทำให้สามารถประคองกระดูกสันหลังในตำแหน่งที่ต้องการได้เช่นเดียวกับบริเวณคอ เมื่อต้องการให้กระดูก และกล้ามเนื้อบริเวณคอได้พักจากการเคลื่อนไหว และการเกร็งของกล้ามเนื้อเพราะความเจ็บปวด อาจใส่ ปลอกคอประคอง ส่วนที่เป็นอัมพาต เช่น บริเวณมือ ก็อาจใช้อุปกรณ์ประคองมือ เพื่อให้ข้อต่างๆอยู่ใน ตำแหน่งที่เหมาะสมที่จะสามารถทำงานได้ ถ้าปล่อยทิ้ง ไว้อาจเป็นผลทำให้ข้อนิ้วมือ และข้อมือติดยึดอยู่ในท่า พิการและไม่สามารถจะใช้งานได้สะดวกในโอกาสต่อไป

            กายอุปกรณ์เทียม

            เป็นอุปกรณ์ที่สร้างขึ้นแทนส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายที่ขาดไป ได้แก่ แขน และขาเทียม

            แขนเทียมมีหลายระดับ ได้แก่ ระดับข้อมือ ใต้ศอก ข้อศอก เหนือศอก และระดับไหล่ เป็นต้น การใส่แขนเทียม จะมีส่วนช่วยในการปฏิบัติงานแทนส่วนที่ขาดไป เช่น แขนเทียมระดับใต้ศอกจะมีสายบังคับที่คล้องไหล่ด้านตรงกันข้าม ดึงรั้งให้มือเทียมอ้าออก เพื่อจับวัตถุที่ต้องการแทนมือธรรมดาที่เสียไปได้ สำหรับ แขนเทียมระดับเหนือศอก สามารถใช้สายบังคับจากไหล่ด้านตรงข้าม ทำให้ข้อศอกงอ และเหยียด ตลอดจนจับและปล่อยวัตถุให้วางได้ตามตำแหน่ง ที่ต้องการได้ เช่นเดียวกัน

แขนเทียมระดับต่าง ๆ คือ ระดับใต้ศอก (ซ้าย) ระดับศอก (กลาง) และระดับเหนือศอก (ขวา)

            ขาเทียมมี ๕ ระดับ ได้แก่ ระดับข้อเท้า ระดับ ใต้เข่า ระดับเข่า ระดับเหนือเข่า และระดับข้อสะโพก การสร้างขาเทียมที่มีขนาดและรูปร่างที่ถูกต้องตามหลักวิชา พร้อมทั้งมีการฝึกกล้ามเนื้อส่วนที่เหลืออยู่ให้แข็งแรง ตลอดจน ฝึกการเดินด้วยขาเทียมได้ถูกต้องแล้ว จะทำให้ผู้ที่ขาขาด สามารถใส่ขาเทียมเดินได้ดี และดำเนินชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติมากขึ้น จนบางรายถ้าสังเกตไม่ดี จะไม่สามารถทราบได้เลยว่าผู้ป่วยคนนั้น ใส่ขาเทียม ดังนั้น กายอุปกรณ์เสริมและเทียม จึงมีบทบาทในการป้องกันและแก้ไขไม่ให้เกิดความพิการ ทั้งยังช่วยเสริมส่วนที่เสียไป ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นและทดแทนส่วนที่ขาดไป ทั้งรูปร่าง ความสวยงาม และการ ทำงานของส่วนนั้น ให้สามารถใช้งานได้ใกล้เคียงกับปกติอีกด้วย




ขาเทียมระดับต่าง ๆ คือ
ระดับใต้เข่า (ซ้าย)
ระดับเข่า (กลาง)
และระดับเหนือเข่า (ขวา)

            งานทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูนี้ เป็นงานช่วงสุดท้ายของการบริการทางการแพทย์ ซึ่งประกอบด้วยงาน วินิจฉัยโรค การป้องกัน การบำบัดรักษา และฟื้นฟู สมรรถภาพของผู้ป่วยพิการให้กลับคืนสู่สภาพใกล้เคียง ปกติมากที่สุด ทั้งในด้านสภาพร่างกาย จิตใจ การ ประกอบอาชีพ และสามารถอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข พอสมควรแก่อัตภาพ โดยไม่เป็นภาระของสังคม และมีส่วนช่วยชาติบ้านเมือง ในด้านเศรษฐกิจได้อีกด้วย