การออกกำลังกายเพื่อการบำบัดรักษา
การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนได้ทำมาตั้งแต่เกิด เป็นการออกกำลังกายโดยธรรมชาติ เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ เช่น การกิน การหายใจ การถ่ายของเสียรวมทั้งการนั่ง การยืน และการเดิน เป็นต้น การออกกำลังกาย เพื่อการบำบัดรักษา จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงขึ้นมาใหม่ ภายหลังการเจ็บป่วย เช่น ผู้ป่วยภายหลังใส่เฝือก ผู้ป่วยข้ออักเสบมีอาการเจ็บปวดมาก ไม่สามารถขยับเขยื้อนได้เป็นเวลานานๆ ผู้ป่วยอัมพาตแขนขาไม่มีการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อก็จะลีบเล็กลง เพราะไม่ได้ใช้งาน ข้อจะเกิดการติดยึด ทำให้งอและเหยียดไม่ได้เต็มที่ ดังนั้นการออกกำลังกาย เพื่อการบำบัดรักษาผู้ป่วยประเภทนี้ ผู้ป่วยจะต้องออกแรง เพื่อเป็นการออกกำลังกายด้วยตัวผู้ป่วยเอง จึงจะทำให้กล้ามเนื้อนั้นๆ แข็งแรงและโตกลับคืนมาใหม่เหมือนเดิม
ในการออกกำลังกาย เพื่อการบำบัดรักษา โดยผู้ป่วยออกแรงเองนั้น แบ่งออกเป็น ๒ วิธี
การออกกำลังกายด้วยการเกร็งกล้ามเนื้อ
วิธีที่ ๑ คือการเกร็งกล้ามเนื้อที่ต้องการให้ออกกำลังให้แข็งตัวขึ้น โดยที่ข้อต่างๆ ที่อยู่ในส่วนนั้นไม่มีการเคลื่อนไหวเลย การออกกำลังกายแบบนี้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีแผลผ่าตัดที่ยังไม่หายดี ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อได้ หรือเข้าเฝือกไว้ ไม่สามารถเหยียดและงอข้อต่างๆ ในเฝือกได้ การเกร็งกล้ามเนื้อ ควรทำทุกชั่วโมงที่ตื่น อย่างน้อยชั่วโมงละ ๕ ครั้งๆ ละ ๖ วินาที หรือใช้วิธีเกร็งกล้ามเนื้อแล้วนับหนึ่งถึงหกก็ได้ จะทำให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นไม่ลีบเล็กลง
วิธีที่ ๒ คือการออกกำลังกาย เพื่อการบำบัดรักษาด้วยตัวผู้ป่วยเอง โดยผู้ป่วยจะต้องออกแรงให้มีการเคลื่อนไหวของข้อ ด้วยการให้มีการเหยียด การงอ และการบิดของข้อ ครบตามหน้าที่ของแต่ละข้อ ขณะออกแรง ให้มีแรงต้านทานต่อการเคลื่อนไหว ของข้อนั้นๆ อาจใช้น้ำหนัก สปริง ผู้ป่วยเอง หรือผู้อื่นออกแรงต้านไว้ โดยค่อยๆ เพิ่มแรงต้านขึ้นทีละน้อย เมื่อกล้ามเนื้อมีกำลังมากขึ้น การทำแบบนี้จะทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้น และข้อต่างๆ มีการเคลื่อนไหวดีขึ้น
การออกกำลังกายด้วยตัวผู้ป่วยเอง
ในผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต เช่น โรคโปลิโอ การออกกำลังกายของส่วนที่เป็นอัมพาตที่เคลื่อนไหวไม่ได้เลย จะต้องอาศัยแรงจากภายนอก โดยการช่วยจับแขนหรือขาส่วนที่เป็นอัมพาตให้เหยียดและงอ เพื่อป้องกันการติดของข้อ ถ้าเป็นการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อก็จะต้องใช้แรงจากภายนอกเสริม เพื่อช่วยให้การเคลื่อนไหวของข้อได้มากพอ เมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น จึงลดการใช้แรงจากภายนอก และในที่สุดอาจเปลี่ยนมาใช้แรงต้านจากภายนอก เมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้นอีก