เล่มที่ 9
นิติเวชศาสตร์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
งานนิติเวชศาสตร์ในปัจจุบัน

เนื่องจากวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เจริญก้าวหน้าไปมาก ทำให้งานนิติเวชศาสตร์ขยายตัวกว้างขวางยิ่งขึ้น ปัจจุบันนี้ แบ่งออกไปเป็นหลายสาขา ได้แก่
ลักษณะบาดแผลที่เกิดจากอาวุธชนิดต่าง ๆ
ลักษณะบาดแผลที่เกิดจากอาวุธชนิดต่างๆ
๑. การตรวจบาดแผลและตรวจร่างกายผู้เสียหาย

การตรวจบาดแผล และตรวจร่างกายผู้เสียหายที่ถูกทำร้าย ถูกข่มขืนกระทำชำเรา เพื่อให้ความเห็นต่อพนักงานสอบสวน และเป็นพยานต่อศาล รวมทั้งการให้ความเห็น เกี่ยวกับการเจ็บป่วย ของคนงาน เนื่องจากภาวะหรือโรคที่เกิดการทำงาน ซึ่งต้องได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน งานนี้กระทำอยู่เป็นประจำ ในภาควิชานิติเวชศาสตร์ และเป็นงานของแพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆ ด้วย ในต่างประเทศบางแห่ง ถือเป็นงานประจำธรรมดา ของแพทย์ทางคลินิก
๒. การตรวจชันสูตรพลิกศพ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๔๘ บัญญัติว่า "เมื่อปรากฏแน่ชัด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลใดตาย โดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่ตาย โดยการประหารชีวิตตามกฎหมาย"
การตายโดยผิดธรรมชาติ นั้นคือ
(๑) ฆ่าตัวตาย
(๒) ถูกผู้อื่นทำให้ตาย
(๓) ถูกสัตว์ทำร้ายตาย
(๔) ตายโดยอุบัติเหตุ
(๕) ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ


มาตรา ๑๕๐ "ให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ ที่ศพนั้นอยู่กับสาธารณสุขจังหวัด หรือแพทย์ประจำ สถานีอนามัยหรือแพทย์ประจำโรงพยาบาล เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว และให้ทำบันทึกรายละเอียดแห่ง การชันสูตรนั้นไว้ ถ้าบุคคลดังกล่าวไม่มีหรือไม่อาจ ปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ใช้เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ประจำท้องที่หรือแพทย์ประจำตำบล

ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน แจ้งแก่ผู้ มีหน้าที่ไปทำการชันสูตรพลิกศพทราบ..."

มาตรา ๑๕๑ "ในเมื่อมีการจำเป็นเพื่อพบเหตุของการตาย เจ้าพนักงานผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ มีอำนาจสั่งให้ผ่าศพแล้วแยกธาตุส่วนใด หรือจะให้ส่งทั้ง ศพหรือบางส่วนไปยังแพทย์หรือพนักงานแยกธาตุของ รัฐบาลก็ได้"

มาตรา ๑๕๒ "ให้แพทย์หรือพนักงานแยกธาตุ ของรัฐบาลปฏิบัติดังนี้
(๑) ทำรายงานถึงสภาพของศพ หรือส่วนของ ศพตามที่พบเห็นหรือที่ปรากฏจากการตรวจ พร้อม ทั้งให้ความเห็นในเรื่องนั้น
(๒) แสดงเหตุที่ตายเท่าที่จะทำได้
(๓) ลงวันเดือนปี และลายมือชื่อในรายงาน แล้วจัดส่งไปยังเจ้าพนักงานผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ"


มาตรา ๑๕๔ "ให้ผู้ชันสูตรพลิกศพทำความเห็น เป็นหนังสือแสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใคร หรือสงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำผิดเท่าที่จะทราบได้"
จากบทบัญญัติตามกฎหมายข้างบนนี้ จะเห็นว่า แพทย์อาจจะต้องเป็นผู้ชันสูตรพลิกศพ ตามหน้าที่ หรือ อาจได้รับศพ ซึ่งส่งมาจากผู้ชันสูตรพลิกศพ เพื่อขอให้ผ่าศพ เพื่อหาเหตุตายก็ได้ งานในแขนงนี้เรียกว่า นิติพยาธิวิทยา (forensic pathology) ซึ่งเป็นงานหลักของ นิติเวชศาสตร์ โดยเป็นงานประจำ ของหน่วยงานทางนิติเวชศาสตร์ ของทุกประเทศลักษณะบาดแผลที่เกิดจากอาวุธชนิดต่าง ๆ
ลักษณะบาดแผลที่เกิดจากอาวุธชนิดต่างๆ
การตายโดยผิดธรรมชาติที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ข้างต้นนี้ อาจแบ่งเป็นสาเหตุกว้างๆ ได้เป็นกลุ่มๆ ดัง ต่อไปนี้

สาเหตุจากบาดแผล ได้แก่ บาดแผลฉีกขาดตาม ผิวหนังที่เกิดจากของแข็ง ของมีคม ของแหลม อาวุธ ปืนและวัตถุระเบิด เป็นต้น บาดแผลดังกล่าวทำให้ตาย เพราะมีเลือดออกมาก ตายเพราะอวัยวะภายในถูกทำลาย ตายเพราะการทำงานของอวัยวะสำคัญ ถูกขัดขวาง รวมทั้งตายจากภาวะแทรกซ้อนจากบาดแผลด้วย

สาเหตุจากการขาดอากาศหายใจ ได้แก่ การที่ ร่างกายขาดก๊าซออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญ แบ่ง ออกเป็น ๔ พวกคือ

ก. ทางเดินหายใจถูกอุด ได้แก่ การที่ปากและ จมูกถูกอุด คนที่ตกอยู่ในที่แคบๆ อากาศไม่พอ เช่น คนงานติดอยู่ในเหมืองใต้ดินที่พัง เด็กถูกขังอยู่ในตู้แคบๆ เป็นต้น หรือการที่สำลักเอาวัตถุบางอย่างเข้าไปติดในหลอดลมหรือกล่องเสียง วัตถุเหล่านั้นอาจเป็นเศษอาหาร ของเล่น หรือเมล็ดผลไม้

ข. การขัดขวางการเคลื่อนไหวของการหายใจ ได้แก่ การที่มีของหนักทับบริเวณทรวงอกและหน้าท้อง ทำให้หายใจไม่ได้ เช่น ถูกฝังทั้งเป็น ถูกรถทับ ถูก เหยียบโดยฝูงชน กองกระสอบข้าวสารทลายลงมาทับ เป็นต้น

ค. จมน้ำตาย เด็กๆที่ว่ายน้ำไม่เป็น เมื่อตก ลงไปในน้ำ จมูกจมไปก็จะหายใจเอาน้ำไปแทน อากาศ เมื่อหายใจออก อากาศที่ยังมีอยู่ ก็จะถูกขับออกมา แต่เมื่อสูดเข้าไปจะมีแต่น้ำเข้าไปแทน เป็นอยู่เช่นนี้ไม่กี่ครั้ง สมองก็ขาดออกซิเจน ทำให้หมดสติตายไป คนว่ายน้ำเป็นก็อาจจะจมน้ำตายได้ ถ้ากำลังว่ายอยู่แล้วเป็นลมหมดสติจมลงไปใต้น้ำ คนที่กินอาหารอิ่มๆ ใหม่ๆ แล้วลงไปว่ายน้ำ อาจเกิดเป็นลมในน้ำ หมดสติจมลงไปเฉยๆ โดยไม่มีใครได้สังเกต จนเมื่อมีคนพบ ก็มักจะตายเสียแล้ว ทั้งนี้เพราะหลังกินอาหารนั้น เลือดจะคั่งอยู่บริเวณช่องท้องมากกว่าภาวะปกติ เนื่องจากมีการย่อยอาหาร สมองจึงได้รับเลือดไปเลี้ยงน้อยกว่าปกติ จึงทำ ให้ง่วงเหงาหาวนอน ยิ่งเมื่อว่ายน้ำเหนื่อยเข้าด้วย ก็ทำให้เป็นลมหมดสติได้ง่าย ดังนั้น หลังรับประทานอาหารใหม่ๆ จึงไม่ควรว่ายน้ำเล่น

ง. บีบคอ รัดคอ และแขวนคอ การตายจากเหตุกลุ่มนี้ ไม่ได้เป็นเพราะขาดอากาศอย่างเดียว แต่เป็นเพราะมีการรัดหรือกดหลอดเลือด ที่จะไปเลี้ยงสมอง ตรงบริเวณลำคอ สมองขาดออกซิเจนโดยตรง จึงทำ ให้ตาย
ศพจมน้ำตาย แสดงปฏิกิริยาระยะต่าง ๆ
ศพจมน้ำตาย แสดงปฏิกิริยาระยะต่างๆ
ลักษณะทั่วไปของศพที่ตายจากการขาดอากาศ ได้แก่ การเขียวคล้ำที่ใบหน้า ริมฝีปาก เล็บมือ เล็บเท้า มีจ้ำเลือดออกเป็นจุดหรือเป็นจ้ำบริเวณเยื่อบุตา ใต้เยื่อบุ ในปาก ใต้เยื่อหุ้มปอด ใต้เยื่อหุ้มหัวใจ อวัยวะภายใน ต่างๆ มีเลือดคั่ง เลือดอาจเป็นน้ำใสๆภายหลังตาย ใหม่ๆกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนปวกเปียก มีเลือดขังเต็ม ในช่องหัวใจ แต่อย่างไรก็ตาม ลักษณะดังกล่าวก็มิใช่ ลักษณะเฉพาะของการขาดอากาศเท่านั้น การตายจากเหตุอื่นบางราย ก็พบลักษณะดังกล่าวได้ด้วย
สาเหตุจากพลังงานทางกายภาพ ได้แก่ การ ตายจากความร้อน ความเย็น กระแสไฟฟ้า รังสี จากเหตุเหล่านี้ มักเป็นอุบัติเหตุ ในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นส่วนใหญ่ ส่วนการตายจากภัยธรรมชาติ ได้แก่ ฟ้าผ่า

สาเหตุจากยาพิษหรือสารพิษ อาจแบ่งเป็นพวกใหญ่ๆ ดังนี้

ก. พวกก๊าซหรือของเหลวที่ระเหยได้ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ แอลกอฮอล์ เป็นต้น
ข. พวกของเหลวมีฤทธิ์กัด เช่น กรด และด่าง อย่างแรง
ค. สารเคมีต่างๆ รวมทั้งพวกโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท เป็นต้น
ง. ยารักษาโรค โดยทั่วไปยารักษาโรคถ้ากินเกิน ขนาดจะเกิดพิษและถึงตายได้ เช่น ยานอนหลับ
จ. สารพิษจากพืช ในพืชที่เป็นพิษมักมีสาร จำพวกแอลคาลอยด์เป็นส่วนสำคัญ เช่น ต้นลำโพงมี อะโทรปีน โล่ติ๊นมีโลติโนน พืชบางชนิดอาจมีสาร จำพวกน้ำมัน เช่น สลอด มี น้ำมันสลอด เป็นต้น
ฉ. สารพิษจากสัตว์มีพิษ เช่น แมลง และงูพิษ เป็นต้น
ช. สารพิษจากพวกจุลินทรีย์ ได้แก่ พิษจาก เชื้อโรคชนิดต่างๆ ซึ่งพวกนี้มักเป็นเหตุให้เกิดโรค เป็นสาเหตุของการตายโดยธรรมชาติทั่วๆ ไป

๓. การตรวจวิเคราะห์ยาพิษหรือสารพิษ

ชีววัตถุ เช่น เลือด ปัสสาวะ และอวัยวะต่างๆ จากศพ อาจถูกนำไปตรวจวิเคราะห์ เพื่อหาสารเป็นพิษ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยเหตุตาย งานทางด้านนี้นับว่า มีความสำคัญในการสนับสนุนงานทางนิติพยาธิวิทยา เรียกว่า นิติพิษวิทยา (forensic toxicology) งานทางสาขานี้จำเป็นต้องใช้ความรู้พื้นฐานการตรวจวิเคราะห์ทางเคมี และต้องมีเครื่องมือเครื่องใช้ทันสมัยราคาแพง ตลอดจนใช้สารเคมีเป็นจำนวนมาก บางแห่งเรียกว่า นิติเคมี (forensic chemistry) งานสาขานี้จะมีบริการมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางกฎหมาย และสังคมของแต่ละแห่ง ตลอดจน ความจำเป็นทางงบประมาณที่จะสนับสนุน เช่น ที่ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในขณะนี้ (พ.ศ. ๒๕๒๓) มีงานพิษวิทยาที่ให้บริการค่อนข้างมาก คือ นอกจากตรวจวิเคราะห์สารพิษจากอวัยวะของศพ เพื่อช่วยวินิจฉัยเหตุตายแล้ว ยังตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะของคนไข้ที่สงสัยว่า จะได้รับสารพิษ ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชด้วย นอกจากนั้น ยังรับตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะจากคนงานที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่สงสัยว่า จะได้รับสารพิษจากการทำงาน เช่น ตะกั่ว ปรอท และ แมงกานีส เป็นต้น

ในสถาบันนิติเวชศาสตร์ของต่างประเทศหลายแห่ง งานด้านพิษวิทยานี้ ได้รวมการตรวจหาแอลกอฮอล์ในเลือดจากคนที่สงสัยว่า เมาแล้วขับรถ อันเป็นความผิดตามกฎหมายการจราจรเข้าไว้ด้วย ในบางแห่งมีงานมากจนต้องแยกออกเป็นหน่วยงานต่างหาก จากพิษวิทยา นอกจากนั้นในสถาบันทางนิติเวชศาสตร์หลายแห่ง มีหน่วยงานที่เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยทางอุบัติเหตุการจราจรโดยเฉพาะ ซึ่งรวมถึงการศึกษาฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ต่อร่างกาย ในภาวะต่างๆ เข้าไว้ด้วย รวมเป็นสาขางานแขนงหนึ่งโดยเฉพาะเรียกว่า จราจรเวชศาสตร์ (traffic medicine)
แผนภาพแสดงลักษณะอุบัติเหตุการจราจรที่เกิดจากผู้ขับขี่เมา
แผนภาพแสดงลักษณะอุบัติเหตุการจราจรที่เกิดจากผู้ขับขี่เมา
ในประเทศไทย พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้ มาตรา ๔๓ บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถ
(๑) ................
(๒) ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น..........
(๓) ................


ดังนั้นการพิสูจน์ว่า เมาสุราหรือไม่ จึงเป็นปัญหาทางกฎหมาย ซึ่งต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน ศาลในหลายประเทศถือระดับแอกอฮอล์ในเลือดเป็นเกณฑ์วัดว่า เมาหรือไม่เมา (ส่วนมากถือระดับแอลกอฮอล์ในเลือดระหว่าง ๕๐-๑๕๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) แต่ศาลไทยยังมิได้มีคำพิพากษาวางแนววินิจฉัยในเรื่องนี้ ประกอบกับพนักงานสอบสวน ยังมิได้มีมาตรการให้กฎหมายมาตรานี้ใช้บังคับได้อย่างจริงจัง จำนวนผู้ที่ต้องหาว่า เมาสุราในขณะขับรถ จึงมีไม่มาก และการส่งตัวผู้ต้องหามาตรวจหาแอลกอฮอล์ในเลือดยิ่งมีน้อยมาก แม้กระนั้นภาควิชานิติศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลในปัจจุบัน ได้แยกการตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดออกจากงานนิติพิษวิทยา เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ในอนาคต และทำการหาแอลกอฮอล์ในเลือดจากศพ ที่ตายจากอุบัติเหตุการจราจร ซึ่งมีอยู่เสมอ

๔. งานตรวจวัตถุพยานทางชีววิทยา

เป็นงานที่สนับสนุนงานการตรวจผู้ป่วย และการชันสูตรพลิกศพ เช่น การตรวจคราบอสุจิในคดีข่มขืนกระทำชำเรา หรือคดีฆาตกรรมทางเพศ การตรวจคราบเลือด การตรวจเส้นผม เป็นต้น วัตถุพยานเหล่านี้ อาจมากับผู้ป่วย หรือมากับศพ หรืออาจเป็นวัตถุพยาน ที่พนักงานสอบสวนส่งมาต่างหากก็ได้ ในภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีวัตถุพยานจากคดีความผิดทางเพศ ที่ส่งมาจากโรงพยาบาลต่างๆ เป็นจำนวนมาก (เฉลี่ยปีละประมาณ ๒,๐๐๐ ชิ้น) วัตถุพยานอื่นๆ มีไม่มากนัก

๕. การตรวจความเป็นพ่อ แม่ ลูก

ในการค้นหาพบหมู่เลือดในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ของคาร์ล แลนด์สไตเนอร์ (Karl Landstiener, ค.ศ. ๑๘๖๘-๑๙๖๓ ชาวออสเตรียโดยกำเนิด ภายหลังไปถือสัญชาติอเมริกัน) นั้น นับว่า เป็นการเปิดศักราช ในการพิสูจน์ความเป็นพ่อแม่ลูก จากปฏิกิริยาของหมู่เลือดขึ้นอย่างแท้จริง หมู่เลือดดังกล่าว ค้นพบจากการที่เอาเม็ดเลือด และน้ำเหลืองของคน แยกออกมาทำปฏิกิริยากัน โดยเกิดปฏิกิริยาการจับกลุ่มของเม็ดเลือด จากลักษณะการจับกลุ่ม อาจแบ่งหมู่เลือดออกเป็น ๔ หมู่ โดยให้ชื่อว่า เป็นหมู่เอ หมู่บี และหมู่ไอ ต่อมามีการศึกษาหมู่เลือดดังกล่าวในพ่อแม่ลูกหลายสิบครอบครัวพบว่า ลักษณะดังกล่าว มีแนวโน้มว่า มีการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ซึ่งต่อมาได้มีทฤษฎีที่อธิบายว่า ยีน (ลักษณะทางกรรมพันธุ์) ของหมู่เลือดระบบนี้มี ๓ ตัว คือ ยีน A, B, และ O โดยยีนทั้ง ๓ ชนิด ปรากฏในหมู่เลือดดังนี้ คือ

คนหมู่ เอ ลักษณะของยีนเป็น AA หรือ AO
คนหมู่ บี ลักษณะของยีนเป็น BB หรือ BO
คนหมู่ เอบี ลักษณะของยีนเป็น AB
คนหมู่ โอ ลักษณะของยีนเป็น OO
(ยีนโอแสดงลักษณะด้อย)


ทฤษฎีนี้ เมื่อได้มีการตรวจสอบโดยตรวจหมู่เลือดในครอบครัวเป็นจำนวนมากแล้ว ตัวเลขที่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่า เป็นไปตามนั้นจริง ซึ่งเป็นที่เชื่อถือ และยอมรับกันในเวลาต่อมา
ตัวอย่างการถ่ายทอดทางพันธุ์กรรมของหมู่เลือดหมู่ต่าง ๆ
ตัวอย่างการถ่ายทอดทางพันธุ์กรรมของหมู่เลือดหมู่ต่าง ๆ
การถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ของหมู่เลือดระบบนี้ เป็นดังนี้ คือ

ตัวอย่างที่ ๑ บิดามารดามีหมู่เลือดเอบีทั้งสองคน
ตัวอย่างที่ ๒ บิดามารดามีหมู่เลือดโอทั้งสองคน
ตัวอย่างที่ ๓ บิดามีหมู่เลือดเอบี มารดามีหมู่ เลือดโอ
ตัวอย่างที่ ๔ บิดามีหมู่เลือดเอ มารดามีหมู่ เลือดโอ

จากลักษณะการถ่ายทอดข้างต้นนี้ จึงสรุปได้ ดังต่อไปนี้

หมู่เลือดของบิดามารดา
หมู่เลือดของลูก
เอ    เอ
เอ    บี
เอ    เอบี
เอ    โอ
บี     บี
บี     เอบี
บี     โอ
เอบี เอบี
เอบี โอ
โอ   โอ
เอ    และ      โอ
เอ   บี เอบี     และ โอ
เอ   บี และ   เอบี
เอ   และ โอ
บี    และ โอ
เอ   บี และ    เอบี
บี    และ โอ
เอ   บี และ    เอบี
เอ   และ บี
โอ

จากตารางข้างบนนี้ ถ้าหมู่เลือดไม่เข้ากันก็อาจ ปฏิเสธความเป็นพ่อแม่ลูกได้ แต่ถ้าเข้ากันได้ก็ไม่อาจยืนยันได้ว่า เป็นพ่อแม่ลูกกันจริงหรือไม่ เพราะการแบ่ง หมู่เลือดออกเป็นหมู่ดังกล่าวแล้วนั้นทำให้คนมีหมู่เลือด ซ้ำกันได้มาก ต่อมา จึงมีผู้พบหมู่ย่อยของหมู่เลือดเอ ออกไปอีก และพบหมู่เลือดระบบอื่นๆ อีกมากมาย จากการทำปฏิกิริยาของเลือดของคน กับเลือดของลิง หรือจากการเอาเลือดของคนฉีดเข้าในสัตว์ทดลอง แล้วเอาน้ำเหลืองของสัตว์ทดลองนั้น มาทำปฏิกิริยากับเม็ดเลือดของคน เป็นต้น นอกจากหมู่เลือดของเม็ดเลือดแดง ซึ่งพบกันหลายระบบแล้ว ยังมีการพบหมู่ของน้ำเหลือง หมู่ของเอนไซม์ในเม็ดเลือดแดง และหมู่ของเม็ดเลือดขาวหมู่ต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ล้วนมีคุณสมบัติถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ทั้งสิ้น การตรวจแต่ละอย่างก็มีวิธีตรวจที่ต้องใช้เทคนิค และเครื่องมือเครื่องใช้พิเศษต่างๆ กัน งานในสาขานี้เป็นงานที่ใช้หลักวิชาและวิธีการทางปฏิกิริยาน้ำ เหลืองทั้งสิ้น เรียกว่า นิติเซโรโลยี (forensic serology) เมื่อได้นำการตรวจหาหมู่เลือด หมู่น้ำเหลือง และหมู่ เอนไซม์ทุกระบบเข้ามาใช้ในการตรวจพิสูจน์ความเป็นพ่อแม่ลูก แล้วนำทฤษฎีความน่าจะเป็นทางสถิติมาประยุกต์ ในรายที่การตรวจทุกระบบแล้ว ยังไม่อาจ ปฏิเสธได้ จะมีความน่าจะเป็นถึงกว่าร้อยละ ๙๙

ในประเทศทางภาคพื้นยุโรป และในอเมริกา ได้มีการตรวจเลือดเพื่อพิสูจน์ความเป็นพ่อแม่ลูกนี้แพร่หลายมาก สำหรับในประเทศไทยมีปัญหาเรื่องนี้น้อย ที่ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีคดีที่ส่งมาให้ตรวจพิสูจน์เพียงปีละ ๒ - ๓ ราย และบางปีก็ไม่มี แต่ในระยะหลังมีเด็กเกิดจากทหารอเมริกัน ในระหว่างสงครามเวียดนาม ที่บิดาต้องการรับไปเลี้ยงดู ในสหรัฐอเมริกา ทางสถานทูตอเมริกาในประเทศไทย ได้ขอให้มีการตรวจเลือดเด็กเหล่านั้น เฉพาะหมู่ เอบีโอ เอ็มเอ็น และหมู่อาร์เอช เพื่อจะดูเบื้องต้นว่า เข้ากับเลือดของบิดามารดาหรือไม่ ทางภาคนิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจึงตรวจบริการให้ มีประมาณปีละ ๑๐ ราย

๖. การตรวจผู้ต้องหาหรือจำเลยที่สงสัยว่าเป็นโรคจิต

งานในแขนงนี้เรียกว่า (forensicpsychiatry) เป็นงานที่ทำอยู่ในโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา หรือโรงพยาบาลโรคจิตอื่นๆ กับโรงพยาบาลนิติจิตเวช ในต่างประเทศบางแห่งงานทางด้านนี้รวมอยู่ในสถาบันนิติเวชศาสตร์