โรคปอดบวม
โรคปอดบวม คือ ภาวะที่มีการอักเสบของเนื้อปอด ทำให้มีหนอง โรคนี้มีหลายชนิด แต่สามารถจำแนกออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่จำแนกตามบริเวณที่เป็นโรค และกลุ่มที่จำแนกตามชนิดของเชื้อที่ทำให้เกิดโรค
ก. กลุ่มที่จำแนกตามบริเวณที่เป็นโรคปอดรวม ได้แก่
๑. โลบาร์นิวโมเนีย (lobar pneumonia) เป็นปอดบวมที่ปอดกลีบใดกลีบหนึ่ง มักเกิดจากเชื้อนิวโมค็อกไซ (Pneumococci)
๒. บรองโคนิวโมเนีย (bronchopneumonia) เป็นรอบๆ หลอดลมส่วนปลาย และกระจัดกระจายไปมากกว่ากลีบใดกลีบหนึ่งของปอด
ข. กลุ่มที่จำแนกตามชนิดของเชื้อที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม ได้แก่
๑. บัคเตรี เช่น นิวโมค็อกไซ ฟรีดแลนเดอร์ บะซิลไล (Friedlander's bacilli) สตาฟิโลค็อกไซ สเต็พโทค็อกไซ (Streptococci) และวัณโรค เป็นต้น
๒. ไวรัส เช่น คางทูม ไข้หวัดใหญ่ หัด
๓. ริกเค็ตต์เซีย (Rickettsia) เช่น ไทฟัส (typhus) เป็นต้น
๔. เชื้อรา เช่น ฮิสโทพลาสมา แคปซูลาทุม (Histoplasma capsulatum) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีโรคปอดบวมที่เกิดจากการหายใจเอาสารติดเชื้อเข้าไป (aspirated pneumonia) และ ปอดบวมจากสารเคมี เช่น ดื่มน้ำมันก๊าด แล้วมักจะสำลักทำให้ปอดบวม
โรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อบัคเตรีนิวโมค็อกไซ
มักเป็นทั้งกลีบของปอด และมักจะพบได้ทุกอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบได้บ่อยในวัยเด็ก และวัยชรา และในฤดูหนาวผู้ป่วยมักมีอาการเริ่มต้นทันที โดยมีไข้ ไข้อาจจะสูงติดต่อกัน ตัวร้อน หน้าแดง การหายใจมักเร็วกว่าธรรมดา ผิวหนังอาจมีลักษณะเขียวคล้ำคลื่นไส้ และอาเจียน อาการไอมักทำให้ผู้ป่วยเจ็บหน้าอก เสมหะเหนียว และมีสีสนิม
โรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อบัคเตรีสตาฟิโลค็อกไซ
มักพบในเด็ก และอาจเป็นโรคแทรกที่อันตรายของโรคไข้หวัดใหญ่ อาการโดยทั่วไป คล้ายคลึงกับปอดบวมชนิดนิวโมค็อกไซ เสมหะมักมีลักษณะเป็นหนอง และอาจมีเลือดปน
โรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อบัคเตรีฟรีดแลนเดอร์
พบได้น้อย มักจะเป็นชนิดเป็นทั้งกลีบของปอด และมักมีอาการทั่วไปมาก เสมหะเหนียว เป็นหนอง และมักมีสีเขียวจาง โรคปอดบวมชนิดนี้จะดำเนินต่อไปเป็นฝีในปอด ทำให้มีอัตราตายสูง
การวินิจฉัยโรคอาศัยจากอาการ อาการแสดง และการตรวจเสมหะ ทั้งโดยการย้อมสีดูเชื้อโดยตรง และโดยการเพาะเชื้อ เพื่อแยกชนิดของจุลินทรีย์ ซึ่งจะช่วยในการเลือกยารักษาโรคได้ด้วย การเอกซเรย์ทรวงอก จะช่วยบอกบริเวณที่มีปอดบวม และช่วยในการติดตามการดำเนินของโรค
โรคแทรกที่อาจเกิดขึ้นได้มีดังนี้
๑. หายช้ากว่าธรรมดา ถ้าหากผู้ป่วยได้รับการรักษาแล้วหายช้ากว่าธรรมดา อาจเป็นเพราะยาปฏิชีวนะที่ให้ไม่ไวต่อเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ มีโรคแทรกอย่างอื่นร่วมด้วย หรือมีโรคอื่นร่วมด้วย เช่น มะเร็งของหลอดลม เป็นต้น
๒. มีสารน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด
๓. มีหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด
๔. มีการอักเสบของถุงหุ้มหัวใจด้านนอก ถุงหุ้มหัวใจด้านใน หัวใจวาย และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
การรักษาทำได้ดังนี้
๑. การรักษาเฉพาะ โดยให้ยาปฏิชีวนะที่ไวต่อเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ และให้ในขนาดที่พอเพียง
๒. การรักษาทั่วไป เช่น การให้ยาลดไข้หากมีไข้สูง ยาแก้ปวด หากมีการเจ็บหน้าอกมาก ให้สารน้ำทางหลอดเลือดหากผู้ป่วยมีอาการขาดน้ำและให้ออกซิเจนหากผู้ป่วยมีอาการเขียวคล้ำ เป็นต้น
ภาพเอกซเรย์ลักษณะฝีในปอด
โรคฝีในปอด
โรคฝีในปอด คือ ภาวะที่มีหนองร่วมกับมีการตายเฉพาะที่เกิดขึ้นภายในเนื้อปอด มีสาเหตุดังนี้
๑. จากการหายใจเอาสารติดเชื้อเข้าทางหลอดลม เช่น จากสิ่งแปลกปลอมภายนอก จากการถอนฟัน และจากการผ่าตัดต่อมทอนซิล (tonsil) เป็นต้น
๒. จากการรักษาโรคปอดบวมไม่ดี
๓. จากการอุดกั้นของหลอดลม เช่น จากมะเร็งของหลอดลม เป็นต้น
๔. จากฝีในตับหรือฝีใต้กะบังลมแตกทะลุขึ้นมาในเนื้อปอด
โรคอากาศในทรวงอก
โรคอากาศในทรวงอก หรือโรคนิวโมทอแร็กซ์เกิดเอง (spontaneous pneumothorax) คือ ภาวะ ซึ่งมีอากาศในโพรงเยื่อหุ้มปอด ที่มิได้เกิดจากการถูกแทง หรือจากการใส่อากาศ โดยแพทย์ทำ (artificial pneumothorax)
สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คือ การแตกของเม็ดตุ่มพอง (vesicle) เล็กๆ ซึ่งอยู่ใต้เยื่อหุ้มปอดด้านที่ติดต่อกับเนื้อปอด (visceral pleura) ทำให้อากาศในถุงลมถ่ายเทเข้าสู่เยื่อหุ้มปอด
การที่มีอากาศในโพรงเยื่อหุ้มปอด ทำให้เนื้อปอดแฟบลง อาการของผู้ป่วย ขึ้นอยู่กับปริมาตรของอากาศ และความเร็ว (หรือชนิด) ที่อากาศสะสมในโพรงเยื่อหุ้มปอด ถ้ามีอากาศเพียงเล็กน้อย และเป็นชนิดปิด ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการ หรือมีแต่เพียงเจ็บหน้าอกเล็กน้อย อาการเจ็บหน้าอก ถ้ามี มักเกิดทันที และอาจเกิดภายหลังการออกกำลังกาย ผู้ป่วยที่มีปริมาตรของอากาศในโพรงเยื่อหุ้มปอดมาก และสะสมอย่างรวดเร็ว มักมีอาการแน่นหน้าอก และหายใจลำบาก ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาโดยทันท่วงที อาจถึงแก่ความตายจากการหายใจวายได้
ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ควรได้รับการพักผ่อน และกินยาระงับปวดหากมีอาการเจ็บหน้าอกมาก การรักษาอื่นๆ ขึ้นอยู่กับขนาดของอากาศในโพรงเยื่อหุ้มปอด และอาการของผู้ป่วย ในผู้ป่วยที่เป็นเท็นชันนิวโมทอแร็กซ์ (tension pneumothorax) จำเป็นต้องเจาะโพรงเยื่อหุ้มปอดทันที เพื่อให้อากาศออกช่วยบรรเทาอาการ แล้วจึงใส่ท่อยางในโพรงเยื่อหุ้มปอด โดยมีอีกปลายหนึ่งอยู่ใต้น้ำ