โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด
โรคของระบบหัวใจและหลอดเลือด นับว่าเป็นโรคซึ่งเป็นสาเหตุของการตายที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคของหลอดเลือดโคโรนารี (coronary) และความดันเลือดสูง
อาการและอาการแสดงบางอย่างของระบบหัวใจและหลอดเลือด
อาการเขี้ยวคล้ำ
คือ อาการ ซึ่งเกิดขึ้น เนื่องจากมีระดับของเฮโมโกลบินในเลือดมากเกินปกติ ทำให้ผิวหนัง หรือเนื้อเยื่อมีลักษณะเป็นสีเขียวคล้ำ อาการเขียวคล้ำจะเห็นได้ชัดที่บริเวณเนื้อเยื่อของร่างกาย เช่น ริมฝีปากลิ้น และเยื่อตาขาว กล่าวกันว่า ถ้ามีปริมาณของเฮโมโกลบินมากกว่า ๔ กรัม ต่อ ๑๐๐ มิลลิลิตรของเลือด จะสามารถสังเกตอาการเขียวคล้ำได้
อาการเขียวคล้ำแบ่งออกได้ ๒ ชนิด คือ
๑. อาการเขียวคล้ำส่วนกลาง
หมายถึง อาการเขียวคล้ำซึ่งเกิดขึ้น เนื่องจากเลือดแดงมีออกซิเจนน้อยเกินปกติ หรืออีกนัยหนึ่งมีออกซิเจนไม่ถึงขั้นอิ่มตัว อาการเขียวคล้ำชนิดนี้ อาจเกิดขึ้น เนื่องจากปอดไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้เพียงพอ หรือเกิดขึ้น เนื่องจาก มีวงจรลัดติดต่อระหว่างหัวใจซีกขวา และหัวใจซีกซ้าย ทำให้เลือดดำผ่านจากหัวใจซีกขวาไปสู่หัวใจซีกซ้าย ซึ่งจะถูกสูบฉีดไปสู่ร่างกายโดยตรง สาเหตุของอาการเขียวคล้ำส่วนกลาง ได้แก่ โรคปอดอย่างรุนแรง เช่น หลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคหืด โรคถุงลมพอง มีสารน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดมาก โรคปอดบวมอย่างรุนแรง และโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดมีวงจรลัด เป็นต้น
๒. อาการเขียวคล้ำส่วนปลาย
หมายถึง อาการเขียวคล้ำ ซึ่งเกิดขึ้น เนื่องจากเลือดมีการไหลเวียนช้ากว่าธรรมดา เช่น ในเวลาอากาศเย็น แต่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากมีการอุดกั้นของหลอดเลือดดำ ภาวะเม็ดเลือดเกิน หรือเกิดขึ้น เนื่องจากการไหลเวียนล้ม เช่น ในภาวะหัวใจวาย เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า บางภาวะ เช่น ในโรคหัวใจวายจะมีอาการเขียวคล้ำทั้งสองชนิดเกิดขึ้นร่วมกัน
อาการบวม
อาการบวมเกิดขึ้น เนื่องจากมีการคั่งค้างของน้ำในเนื้อเยื่อเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ อาการบวมที่เกิดขึ้น มักจะพบได้บ่อย ในบริเวณที่อยู่ต่ำของร่างกาย เช่น ที่หลังเท้าในผู้ป่วยที่ยังสามารถเดินหรือนั่งได้ หรือบริเวณก้นกบในผู้ป่วยที่นอนตลอดเวลา ผู้ป่วยอาจสังเกตอาการดังกล่าวได้ชัดเจน ถ้าใส่รองเท้าอยู่เป็นประจำ แล้วพบว่า รองเท้าคับ หรือใส่รองเท้าไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวลาบ่าย อาการบวมอาจเกิดขึ้นได้ที่บริเวณหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่บริเวณรอบๆ นัยน์ตา เนื่องจาก เนื้อเยื่อบริเวณนี้มีลักษณะอ่อน ทำให้สารน้ำสามารถผ่านเข้าไปขังอยู่ได้โดยง่าย มักเห็นอาการบวมได้ชัดเจน เมื่อใช้มือกด ทำให้มีลักษณะเป็นรอยบุ๋ม (อาการบวมชนิดที่กดแล้วไม่บุ๋มพบในมิกซีดีมา :myxoidema) สาเหตุของการบวมมีได้หลายชนิด เช่น เกิดขึ้น เนื่องจากการสูญเสียโปรตีนจากร่างกายมากกว่าธรรมดา หรือไม่สามารถที่จะสร้างโปรตีนได้ ทำให้ระดับของโปรตีนในเลือดลดลงกว่าเดิม มีความผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กไทรไลต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แอลโดสรีโรน (aldosterone) การอุดกั้น หรือการกดของหลอดเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ
ความดันเลือด
คนปกติความดันในหลอดเลือดแดงจะขึ้น หรือลงตลอดเวลา โดยแปรตามการสูบฉีดเลือดจากหัวใจ ความดันสูงสุดของหลอดเลือดแดง เรียกว่า ความดันซิสโทลิก และความดันต่ำสุด เรียกว่า ความดันไดแอสโทลิก (diastolic pressure) ความแตกต่างระหว่างความดันซิสโทลิก และความดันไดแอสโทลิก เรียกว่า ความดันชีพจร (pulse pressure)
ระบบการไหลเวียนของเลือด
โดยทั่วไป ระดับของความดันในหลอดเลือด ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ปริมาณการสูบฉีดเลือดจากหัวใจ ความต้านทานของหลอดเลือดส่วนปลาย (peripheral vascular resistance) และลักษณะของหลอดเลือดแดงเอง ค่าของความดันเลือดในคนปกติ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่นเดียวกัน เช่น อายุ สภาพทางอารมณ์ และการออกกำลังกาย อย่างไรก็ดี ในผู้ใหญ่ ค่าของความดันเลือดปกติ ของหลอดเลือดแดง ที่บริเวณแขนในท่านอนพัก ไม่ควรเกิน ๑๔๐/๙๐ มิลลิเมตรของปรอท
ชีพจรเลือดแดง
ชีพจรเลือดแดงนับว่า เป็นส่วนสำคัญในการตรวจร่างกายประจำ การตรวจชีพจรเลือดแดงโดยละเอียดถี่ถ้วน อาจช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหัวใจ ในการตรวจชีพจรของหลอดเลือดแดง แพทย์มักต้องบอกอัตราการเต้นของชีพจรต่อนาที ความสม่ำเสมอของการเต้น ความดีของชีพจร ลักษณะของคลื่นชีพจร และลักษณะของหลอดเลือด
ลักษณะปลายนิ้วปุ้ม
ลักษณะปลายนิ้วปุ้มคล้ายกระบอง อาจพบได้ในโรคหัวใจหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ที่มีอาการเขียวคล้ำร่วมด้วย ปลายนิ้วจะมีลักษณะปุ้มคล้ายกระบอง ซึ่งจะเริ่มเห็นได้ชัดที่ส่วนโคนเล็บต่อกับบริเวณเนื้อของโคนเล็บ ซึ่งจะเป็นรอยนูนขึ้นมา ทำให้โคนเล็บเคลื่อนขึ้นลงได้ง่ายเมื่อถูกกด ลักษณะปลายนิ้วกลมดังกล่าวอาจพบได้ในโรคอื่นๆ อีก เช่น โรคปอดเรื้อรัง มะเร็งของหลอดลม และโรคของตับบางชนิด เป็นต้น
การจับชีพจรบริเวณลำคอ เพื่อบอกอัตราการเต้นของชีพจร
ภาวะหัวใจวาย
ภาวะหัวใจวาย หมายถึง ภาวะ ซึ่งหัวใจไม่สามารถที่จะสูบฉีดเลือด ให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายในภาวะนั้นๆ ความไม่สามารถดังกล่าว ทำให้มีความผิดปกติของการไหลเวียนของเลือด ซึ่งทำให้เกิดมีอาการได้หลายประการ ภาวะหัวใจวายแบ่งได้ ๒ ประเภท คือ ภาวะหัวใจซีกซ้ายวาย และภาวะหัวใจซีกขวาวาย
ภาวะหัวใจซีกซ้ายวาย
มีสาเหตุ ซึ่งพบได้บ่อยๆ ได้แก่ โรคความดันเลือดสูง โรคของหลอดเลือดแดงโคโรนารี เช่น หลอดเลือดแดงโคโรนารีอุดกั้น โรคของลิ้นเอออร์ติกของหัวใจ เป็นต้น
อาการที่สำคัญของหัวใจซีกซ้ายวาย ได้แก่ อาการหายใจยาก หรือหายใจลำบาก ซึ่งเริ่มเป็น เมื่อเวลาทำงาน และต่อมา จะมีอาการหายใจลำบาก เมื่อเวลานอนราบ เมื่อผู้ป่วยมีอาการคั่งของหลอดเลือดในปอดมากขึ้น จะปรากฏว่า ผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก จนถึงกับต้องนั่ง อาการจึงจะทุเลาลงได้ ในรายที่มีอาการมากขึ้น จะปรากฏว่า ผู้ป่วยมักมีอาการไอในเวลากลางคืนเป็นพักๆ และอาจจะดีขึ้น เมื่อผู้ป่วยลุกขึ้นนั่ง เช่นเดียวกัน ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหายใจลำบากในเวลากลางคืนเป็นพักๆ หรืออาจเรียกว่า อาการหอบหืดจากหัวใจ
แผนภาพแสดงการสูบฉีดโลหิตของหัวใจ
ภาวะหัวใจซีกขวาวาย
มักเกิดขึ้นตามหลังหัวใจซีกซ้ายวาย โรคของลิ้นไมทรัลของหัวใจ โรคหัวใจ ซึ่งเกิดขึ้น เนื่องจากโรคของปอด โรคความพิการของหัวใจแต่กำเนิดบางชนิด และหัวใจซีกขวาวาย ภายหลังเอ็มบอลิซึมของหลอดเลือดแดงพูลโมนารี (pulmonary) ภาวะที่มีห้องหัวใจส่วนปลายซีกขวาขยายตัวเกินปกติ เนื่องจากโรคเรื้อรังในปอดที่มีชื่อเรียกว่า คอร์พูลโมนัล (cor pulmonale)
อาการแสดงที่สำคัญของภาวะหัวใจซีกขวาวาย ได้แก่ อาการบวม อาการที่มีสารน้ำในช่องท้อง สารน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด อาการแสดงตับโต และกดเจ็บ และอาการความดันเลือดดำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณคอสูงเกินปกติ เป็นต้น
การรักษาภาวะหัวใจวาย มีหลักการที่สำคัญ คือ
๑. ลดความต้องการของออกซิเจนของร่างกาย เพื่อให้หัวใจทำงานน้อยลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
๒. ช่วยให้หัวใจทำงานดีขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหายจากภาวะหัวใจวายโดยเร็ว ยาที่ใช้ในการกระตุ้นหัวใจให้ทำงานดีขึ้น ได้แก่ ยาประเภทดิจิทาลิส (digitalis) เช่น ดิจ็อกซิน (digoxin) เป็นต้น
๓. รักษาภาวะเลือด และน้ำคั่ง เพื่อลดอาการเลือดคั่งในปอด อาการบวม การลดภาวะเลือดคั่ง และการบวมอาจทำได้ โดยการให้ยาขับปัสสาวะ และการจำกัดเกลือในอาหารที่กิน ในรายที่จำเป็นอาจต้องจำกัดน้ำที่ดื่มด้วย
การรักษาอื่นๆ ได้แก่ การให้ออกซิเจนช่วยในการหายใจ การรักษาสาเหตุของภาวะหัวใจวาย (ถ้าทำได้) การให้ยาประเภท อะมิโนฟิลลีน (aminofylline) อาจช่วยให้ผู้ป่วยหายใจดีขึ้น รวมทั้งอาจช่วยเป็นยาขับปัสสาวะได้ด้วย เป็นต้น
โรครูมาติกเฉียบพลัน
โรครูมาติก (rheumatic) เฉียบพลันเป็นโรคของเนื้อเยื่อคอนเนกทิฟ (connective tissue) ของหัวใจ ลิ้นหัวใจ และข้อต่อต่างๆ ของร่างกาย
โรคหัวใจรูมาติก แสดงการอักเสบเรื้อรังทำให้เกิดการตีบของลิ้นหัวใจเอออร์ติก
สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่นอน แต่เชื่อว่า เป็นโรค ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อพิษภายนอกของเชื้อบัคเตรีเฮโมไลทิก สเตร็พโทค็อกคัส (haemolytic streptococcus, Lancefield type A) โรคนี้มักจะพบในเด็ก หรือในวัยรุ่น และเชื่อว่า ประมาณร้อยละ ๙๐ ของผู้ป่วยทั้งหมด มีอาการเกิดขึ้นระหว่างอายุ ๘-๑๕ ปี
โรคหัวใจรูมาติก แสดงปุ่มรูมาติกที่เกาะตามขอบลิ้นหัวใจไมทรัล
อาการของโรครูมาติกเฉียบพลันมักตามหลังอาการเจ็บคอ เนื่องจากเชื้อสเตร็พโทค็อกคัสประมาณ ๑-๓ สัปดาห์ โดยจะเริ่มต้นทันทีด้วยอาการไข้และเจ็บปวดตามข้อ อาการปวดตามข้ออาจเกิดร่วมกับอาการบวมและแดง ทั้งนี้ อาจมีอาการมากกว่า ๑ อาการ และมักจะเป็นข้อใหญ่ๆ ของร่างกาย เช่น ข้อศอก ข้อมือ ข้อหัวไหล่ ข้อตะโพก ข้อหัวเข่า หรือข้อเท้า อาการปวดตามข้อดังกล่าวมักจะมีลักษณะพิเศษ คือ มักจะปวดที่ข้อหนึ่ง แล้วเลื่อนไปยังข้ออื่น และถือว่า เป็นลักษณะที่สำคัญอันหนึ่ง ของการวินิจฉัยโรค ข้อเล็กๆ เช่น ข้อนิ้วมือ มักจะไม่มีอาการปวด หรืออาการอักเสบ นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการแสดงผื่นผิวหนังได้ ผื่นผิวหนังที่มีลักษณะตามแบบฉบับ ได้แก่ อาการผิวหนังร้อนแดง (erythema marginatum) ซึ่งเป็นผื่นที่มีลักษณะนูน สีแดง และไม่สม่ำเสมอ ลักษณะทางผิวหนังที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การมีปุ่มรูมาติก ซึ่งมักจะปรากฏที่บริเวณผิวหนังที่อยู่ชิดกับกระดูก เช่น บริเวณหน้าแข็ง ต้นแขน ข้อศอก ข้อมือ ข้อเท้า หรือที่บริเวณหนังศีรษะ นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจจะมีอาการ ซึ่งแสดงว่า ไข้รูมาติกเฉียบพลันได้ลุกลามไปจนถึงหัวใจ เช่น อาจจะมีอาการหัวใจเต้นเร็วกว่าธรรมดา มีเสียงฟู่ที่หัวใจ ตลอดจนหัวใจอาจจะมีขนาดโตกว่าธรรมดา มีการอักเสบของถุงหุ้มหัวใจ และอาจจะมีอาการรุนแรงจนถึงกับหัวใจวายได้
การวินิจฉัยโรคอาศัยอาการดังกล่าวข้างต้น แพทย์หลายคนนิยมวินิจฉัยโรค โดยอาศัยหลักเกณฑ์ของโจน (Jone's criterial) การตรวจเลือดจะปรากฏว่า ผู้ป่วยมีจำนวนเม็ดเลือดขาวในเลือดมากขึ้นกว่าปกติ เลือดจาง มีอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดงเร็วกว่าปกติ และมีไทเทอร์ต้านสเตร็พ โทไลซิน (antistreptolysin titer) สูงขึ้น แสดงว่า ผู้ป่วยเคยมีการติดเชื้อสเตร็พโทค็อกคัสมาก่อน และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจสนับสนุนความผิดปกติดังกล่าวข้างต้น
การรักษาที่สำคัญ ได้แก่ การให้ผู้ป่วยพักผ่อนอย่างเต็มที่ร่วมกับการให้ยาประเภทซาลิซิเลต เช่น แอสไพริน ซึ่งจะทำให้อาการไข้ และปวดตามข้อหายไป หรือดีขึ้นภายใน ๒-๓ วัน แพทย์บางคนนิยมให้ยาประเภทคอร์ทิโคสตีรอยด์ เช่น เพร็ดนิโซโลน ซึ่งเชื่อว่า ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น เช่นเดียวกับการให้ยาซาลิซิเลตการรักษาอื่นๆ ได้แก่ การรักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ เช่น อาการหัวใจอักเสบ ถุงหุ้มหัวใจอักเสบ หรืออาการหัวใจวายที่เกิดร่วมด้วย เป็นต้น
ส่วนต่างๆ ภายในหัวใจ
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการรักษา ได้แก่ การรักษาการติดเชื้อสเต็พโทค็อกคัสที่มีอยู่ และการป้องกัน มิให้มีการติดเชื้อสเตร็พโทค็อกคัสซ้ำอีก โดยการให้ยาประเภทเพนิซิลลิน การป้องกันมิให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอเนื่องจากเชื้อสเตร็พโทค็อกคัส อาจจะทำได้โดยการให้เพนิซิลเลินชนิดรับประทาน หรือการให้เพนิซิลลินที่มีฤทธิ์นาน เช่น เบนซาทีนเพนิซิลลิน (bensathine penicillin) โดยการฉีดเดือนละครั้ง จนกระทั่งผู้ป่วยมีอายุ ๑๘ ปี หรืออย่างน้อย ๕ ปี ถ้าผู้ป่วยมีอาการของไข้รูมาติกเฉียบพลันภายหลังอายุ ๑๓ ปี
โรครูมาติกเรื้อรัง
โรครูมาติกเรื้อรังเป็นโรคหัวใจ ซึ่งเกิดขึ้นจากผลของการเป็นโรครูมาติกเฉียบพลัน มักเป็นที่ลิ้นของหัวใจ พบได้บ่อยที่ลิ้นไมทรัล ลิ้นเอออร์ติก ลิ้นไทรคิสพิด (tricuspid valve) และลิ้นพูลโมนารี (pulmonary valve) ตามลำดับ โดยที่ส่วนมาก มักจะมีรอยโรคที่ลิ้นของหัวใจมากกว่า ๑ แห่งขึ้นไป อาการที่เกิดขึ้น เนื่องจากความพิการของลิ้นหัวใจดังกล่าว จึงมักจะเกิดขึ้นมา ภายหลังจากการเป็นโรครูมาติกเฉียบพลัน ๑๕-๒๐ ปี ผู้ป่วยจึงมีอาการเริ่มต้นประมาณ ๓๐ ปี เป็นต้น ความผิดปกติของหัวใจ ที่เกิดขึ้น อาจทำให้เกิดอาการลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว หรือมีอาการผิดปกติทั้งตีบและรั่วร่วมกัน
โรคลิ้นไมทรัลรั่ว
โรคลิ้นไมทรัลรั่วอาจเกิดขึ้น เนื่องจากผลของโรครูมาติกเฉียบพลัน หรืออาจเป็นผล เนื่องจากการที่มีห้องปลายหัวใจซีกซ้ายใหญ่ขึ้น โดยสาเหตุต่างๆ เช่น สาเหตุจากโรคความดันเลือดสูง ทำให้มีการถ่างของลิ้นไมทรัลเกิดขึ้น ซึ่งจะมีผล ทำให้เกิดอาการรั่วขึ้นได้ โรคลิ้นไมทรัลรั่ว เนื่องจากโรครูมาติกเฉียบพลัน มักเกิดขึ้นร่วมกับภาวะลิ้นไมทรัลตีบ ผู้ป่วยอาจมีอาการ และอาการแสดง ของภาวะเลือดคั่งในปอด และภาวะความดันหลอดเลือดพลูโมนารีสูงขึ้น และโรคหัวใจวายเลือดคั่งก็เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน
การรักษาที่สำคัญของโรคนี้ ได้แก่ การรักษาภาวะหัวใจวาย และโรคแทรก ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน ในผู้ป่วยที่เป็นโรคลิ้นไมทรัลตีบ การรักษาทางศัลยกรรม ได้แก่ การใส่ลิ้นหัวใจ
โรคของหลอดเลือดแดงโคโรนารี
โรคของหลอดเลือดแดงโคโรนารี เป็นโรคที่มีความสำคัญที่สุดในระบบหัวใจ ทั้งนี้เพราะโรคของหลอดเลือดแดงนี้ เป็นสาเหตุของการตายที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยวัยกลางคน และสูงอายุ เนื่องจากมีการตีบหรือการอุดกั้น ของหลอดเลือดแดงนี้ สาเหตุของความผิดปกติของหลอดเลือดโคโรนารีดังกล่าวยังไม่ทราบแน่นอน แต่เชื่อว่า มีปัจจัยที่สำคัญหลายประการ ที่ทำให้มีการตีบตันของหลอดเลือดดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่มีสารประเภทไขมันในเลือด เกินปกติ เช่น ไขมันประเภทคอเลสเทอรอล (cholesterol) และไทรกลีเซอไรด์ (triglyceride) โรคความดันเลือดสูง ภาวะอ้วน หรือการไม่ออกกำลังกาย
อาการเจ็บหน้าอกเนื่องจากหัวใจขาดเลือดเลี้ยง
อาการสำคัญคือ เจ็บหรือแน่นหน้าอก หรือมีอาการปวดตื้อๆ ที่บริเวณกลางด้านหน้าและหลังกระดูกสันอก และอาจปวดร้าวไปถึงบริเวณคอ แขนด้านซ้าย หรือทั้งสองข้าง และอาจจะปวดร้าวเลยไปจนถึงปลายนิ้วได้ อาการปวดจะมีชัดเจน เมื่อผู้ป่วยออกกำลังกาย และจะหายไปภายในเวลา ๒-๓ นาที ถ้าผู้ป่วยพัก อาการดังกล่าวอาจจะมีได้มากขึ้น ถ้ามีอากาศเย็น หลังกินอาหาร หรือมีความผิดปกติทางอารมณ์ร่วมด้วย ส่วนมากผู้ป่วยจะมีอาการปวดอยู่ชั่วระยะเวลาอันสั้น เช่น ๔-๕ นาที และมักจะไม่มีความผิดปกติอื่นๆ เช่น ไม่มีอาการหายใจลำบาก หรืออาการเป็นลมร่วมด้วย การที่เป็นเช่นนี้ เพราะกล้ามเนื้อของหัวใจมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ เช่น จากการตีบของหลอดเลือดแดงโคโรนารี หรือเป็นเพราะว่า มีออกซิเจนในเลือดแดงน้อยเกินปกติ เช่น ในผู้ป่วยที่มีอาการซีด การตรวจร่างกายผู้ป่วยมักไม่พบอาการแสดงผิดปกติ นอกจากอาจพบสาเหตุของโรคโคโรนารีตีบ หรือความดันเลือดสูงเป็นต้น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจพบว่า มีความผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่มีอาการ หรือในขณะให้ผู้ป่วยออกกำลัง เป็นต้น
การไหลเวียนเลือด
ของหัวใจโคโรนารี
การรักษาที่สำคัญ ได้แก่ การแนะนำผู้ป่วยมิให้ออกกำลังกายอย่างรุนแรง เพราะอาจทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอก เนื่องจากกล้ามเนื้อของหัวใจขาดเลือดเลี้ยง ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ควรได้รับยาระงับประสาท ควรลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่อ้วน ควรลดความดัน ถ้ามีโรคความดันเลือดสูง และควรงดสูบบุหรี่ ในขณะที่ผู้ป่วยมีอาการแน่นหน้าอก อาจระงับอาการดังกล่าวได้ โดยให้ยาขยายหลอดเลือดโคโรนารี เช่น เอมีลไนไทรต์ (amyl nitrite) โดยการดมกลีเซอรีไทรไนเทรต (glycerine trinitrate) หรือ ไนโทรกลีเซอรีน (nitroglycerine) โดยการอมใต้ลิ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการแน่นหน้าอก ภายในเวลา ๒-๓ นาที นอกจากนี้ ยังมียาขยายหลอดเลือดโคโรนารี ชนิดที่ออกฤทธิ์นานกว่า เช่น ไอโซซอร์ไบด์ไทรไนเทรต (isosorbide trinitrate) เพนทาอีรีทริทอลเททราไนเทรต (pentaerythritol tetranitrate) อาจให้ในผู้ป่วยที่มีอาการแน่นหน้าอก เนื่องจากกล้ามเนื้อของหัวใจขาดเลือดเลี้ยงบ่อยๆ ยาอื่นๆ ที่อาจให้ได้แก่ ยาประเภทโพรพาโนลอล ซึ่งเป็นยาประเภทสกัดกั้นการทำงานของประสาทซิมพาเทติก เป็นต้น
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย เกิดเนื่องจากมีการอุดกั้นของหลอดเลือดแดงโคโรนารี ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดแดงแข็งตัว เนื่องจากอะเทอโรมา ทำให้หัวใจขาดเลือดเลี้ยงทันที ถ้ามีการอุดกั้นของ หลอดเลือดโดยสมบูรณ์ จะทำให้หัวใจขาดเลือดเลี้ยงทันที ทำให้ผู้ป่วยเป็นลม และถึงแก่กรรมได้ภายในเวลาอันสั้น ผู้ป่วยที่ไม่ถึงแก่กรรมก็มีอาการรุนแรงได้ เช่น มีอาการปวด เช่นเดียวกับการปวดเนื่องจากหัวใจขาดเลือดเลี้ยง แต่อาการปวดจะมีความรุนแรงมากกว่า และเป็นเวลานาน อาการจะไม่ดีขึ้น เมื่อพักผ่อน และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาการหายใจลำบาก และเป็นลม ซึ่งอาจเป็นอยู่นานหลายชั่วโมงได้ ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการมาก จนถึงกับมีภาวะหัวใจซีกซ้ายวาย และมีอาการหมดสติร่วมด้วย และอาจถึงแก่กรรม เนื่องจากหัวใจหยุดเต้นทันที หรือมีความผิดปกติของการเต้นของหัวใจ อาการอื่นๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นร่วมด้วย เมื่อผู้ป่วยหายจากอาการปวดที่บริเวณหน้าอกแล้ว ได้แก่ อาการไข้ อ่อนเพลีย เหนื่อย หายใจลำบาก รวมทั้ง อาจจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วยได้ การตรวจร่างกายในขณะที่ผู้ป่วยมีอาการจะปรากฏว่า ผู้ป่วยมีอาการกระวนกระวายอย่างมาก มีอาการซีด และเหงื่อออกมาก ชีพจรเต้นเร็ว ช็อก และความดันเลือดต่ำ แต่ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยอาจไม่มีความผิดปกติเหล่านี้ นอกจากนี้อาจตรวจพบอาการแสดงอื่นๆ ของภาวะหัวใจวาย หรือภาวะที่มีการเต้นของหัวใจผิดปกติร่วมด้วย การตรวจคลื่นไฟฟ้าของหัวใจจะช่วยบอกว่า ผู้ป่วยมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือไม่ และถ้ามีเกิดขึ้นที่บริเวณใดของหัวใจ
การรักษา
แบ่งเป็น ๔ ประเภทคือ
๑. การรักษาฉุกเฉิน ผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นของหลุดเลือดแดงโคโรนารี ทำให้มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายทันที จำเป็นต้องได้รับการรักษาฉุกเฉิน และต้องรีบรักษาความผิดปกตินั้นๆ โดยทั่วไปควรให้ผู้ป่วยนอนพักอย่างเต็มที่บนเตียง ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้มีอาการภาวะหัวใจวาย และป้องกันมิให้เกิดความดันภายในห้องหัวใจเพิ่มขึ้น เพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีหัวใจแตก ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหน้าอกอย่างรุนแรงจำเป็นต้องให้ยาระงับปวด เช่น การให้มอร์ฟีน (morphine) ทันที และอาจให้ซ้ำได้ ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดอย่างรุนแรง ผู้ป่วยที่มีอาการเป็นลม หรือมีอาการของภาวะหัวใจวาย หรือภาวะความดันเลือดต่ำ ช็อค หรือมีจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ ที่ทำให้เกิดมีอาการอย่างรุนแรงก็ต้องรักษาตามสาเหตุนั้นๆ
๒. การรักษาภายหลัง เมื่อผู้ป่วยพ้นระยะ หรือมีอาการจากโรคแทรกอื่นๆ แล้ว ควรให้ผู้ป่วยนอนอยู่บนเตียงเป็นเวลา ๒-๔ สัปดาห์ หลังจากนั้น อย่างไรก็ดี ในขณะที่ผู้ป่วยนอนบนเตียงจำเป็นจะต้องเคลื่อนไหวแขนขาอยู่เสมอ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้มีภาวะทร็อมโบเอ็มบอลิซึม (thromboembolism) ซึ่งอาจหลุดไปอุดกั้นที่บริเวณปอด ทำให้เกิดภาวะปอดตายขึ้นได้ การรักษาอื่นๆ เป็นการรักษาตามอาการ เช่น ให้อาหารอ่อนๆ ในระยะ ๒-๓ วันแรก สวนอุจจาระ ถ้าผู้ป่วยมีอาการท้องผูก เนื่องจากนอนเป็นเวลานาน
๓. การให้ยาต้านการแข็งเป็นลิ่มของเลือด ผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อของหัวใจตาย ควรได้รับยาต้านการแข็งเป็นลิ่มของเลือดทันทีเช่น ฉีดยาฮีพาริน (heqarin) ในขณะเดียวกัน อาจให้ยาต้านการกลายเป็นลิ่มของเลือดชนิดกินร่วมด้วย โดยหวังว่า เมื่อยากินออกฤทธิ์แล้ว จะหยุดยาฉีดฮีพารินได้ การให้ยาต้านการกลายเป็นลิ่มของเลือด จะช่วยป้องกันภาวะทร็อมโบเอ็มบอลิซึม และป้องกันมิให้มีการขยายขอบเขตของการกลายเป็นลิ่มของเลือดภายในหลอดเลือดแดงโคโรนารีเพิ่มขึ้น
๔. การรักษาอื่นๆ เป็นการรักษาภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ภาวะอุดกั้นหัวใจ รักษาโดยการใช้ยา หรือใช้ไฟฟ้ากระตุ้น นอกจากนี้ก็เป็นการป้องกัน โดยการผ่าเปิดขยายหลอดเลือด หรือตัดต่อหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
โรคความดันเลือดสูง
ความดันเลือดในคนปกติเปลี่ยนแปลงได้ตามปัจจัยหลายชนิด เช่น อายุ ลักษณะของหลอดเลือด ความต้านทานของหลอดเลือดแดงตอนปลาย และกิจกรรมของร่างกาย โดยปกติความดันเลือดแดงในคนปกติไม่ควรจะสูงกว่า ๑๔๐/๙๐ มิลลิเมตรปรอท เมื่อวัดที่แขนในท่านอนพัก ถ้ามีความดันเลือดแดงสูงกว่านี้อาจถือว่า เป็นโรคความดันเลือดสูง พึงสังเกตว่า ผู้ป่วยเป็นความดันเลือดสูงจะต้องมีความดันไดแอสโทลิกสูงเสมอ การที่ความดันซิสโทลิกสูงอย่างเดียว โดยที่ความดันไดแอสโทลิกปกติ มักเกิดขึ้นจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง
การวัดความดันโลหิตที่แขน
สาเหตุของความดันเลือดสูง มีดังนี้
๑. ไม่ทราบสาเหตุ (พบได้บ่อยที่สุด)
๒. โรคของไต เช่น ไตและกรวยไตอักเสบเรื้อรัง เนื้อไตอักเสบ ภาวะไตวายเรื้อรัง เป็นต้น
๓. โรคของต่อมไร้ท่อ เช่น กลุ่มอาการคุชิง ฟีโอโครโมไซโทมา (pheodhromocytoma) แอลโดสตีโรนิซึมปฐมภูมิ (primary aldosteronism)
๔. โรคครรภ์เป็นพิษ
๕. โรคของสมอง เช่น ภาวะความดันภายในกะโหลกศีรษะสูงเกินปกติ
๖. เส้นเลือดแดงเอออร์ตาตีบเฉพาะที่
โรคความดันเลือดสูงไม่ทราบสาเหตุ
ผู้ป่วยที่ทราบว่า มีความดันเลือดสูงมากกว่า ๑๔๐/๙๐ มิลลิเมตรปรอท เมื่อวัดที่แขนในท่านอน อาจไม่มีอาการอย่างใดเลยเป็นเวลานาน หรืออาจจะมีอาการน้อยมาก เช่น มีอาการปวดศีรษะเป็นครั้งคราว เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ซึ่งทราบแน่นอนว่า เป็นความดันเลือดสูงเป็นเวลานาน โดยไม่มีอาการใดๆ และมีชีวิตยืนยาวเช่นคนปกติ อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยที่มีความดันเลือดสูงอย่างมากมักจะมีอาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเริ่มมีความดันเลือดสูง เมื่ออายุน้อยๆ
ผู้ป่วยที่มีความดันเลือดสูง เป็นเวลานานอาจมีอาการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับระบบของร่างกายหลายระบบ ดังนี้
๑. การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับหัวใจ เมื่อมีความดันเลือดสูง หัวใจซีกซ้ายจะทำงานเกินปกติ ทำให้กล้ามเนื้อของห้องปลายหัวใจซีกซ้ายโตขึ้น อาจมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเลี้ยง ในที่สุด อาจมีอาการของหัวใจซีกซ้ายวายได้
๒. หลอดเลือดในจอตาจะมีอาการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจแสดงถึงความรุนแรงของความดันเลือดสูงได้
๓. หลอดเลือดของสมองจะมีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับหลอดเลือดในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ผู้ป่วยมักมีอาการปวดศีรษะในเวลาเช้า โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความดันเลือดสูง เป็นกลุ่มอาการ ซึ่งพบในผู้ป่วยที่มีความดันเลือดสูงอย่างรุนแรง และมีอาการปวดศีรษะอย่างมาก คลื่นไส้อาเจียน อาการชัก หมดสติ และอาจจะมีอาการอัมพาตเพียงชั่วคราวร่วมด้วย ในผู้ป่วยที่มีความดันเลือดสูงอย่างรุนแรงจะมีการตกเลือดได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความดันเลือดสูงอย่างรุนแรงมาเป็นเวลานาน จะมีโอกาสที่จะเกิดโรคหลอดเลือดแตกในสมองได้ง่าย รวมทั้งอาจมีการตกเลือดที่บริเวณอื่นๆ ได้ด้วย
๔. การเปลี่ยนแปลงที่ไตผู้ป่วยที่เป็นความดันเลือดสูงเป็นเวลานาน จะปรากฏว่า มีความผิดปกติในหน้าที่การทำงานของไต ในที่สุด อาจทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้
๕. ภาวะความดันเลือดสูงอย่างรุนแรง (ภาวะ ซึ่งผู้ป่วยมีความดันเลือดสูงอย่างมาก โดยเฉพาะมีความดันไดแอสโทลิกมากกว่า ๑๔๐ มิลลิเมตรปรอทร่วมกับมีภาวะแทรกซ้อนในหลอดเลือดของจอตา) ทำให้มีการบวมของจานออปติก (optic disc) มีการเปลี่ยนแปลงของหน้าที่การทำงานของไตผิดปกติ เช่น มีไข่ขาว และคาสต์ (casts) ในปัสสาวะ และกล้ามเนื้อของหัวใจซีกซ้ายขยายตัวเกินปกติ
สิ่งสำคัญที่สุดในการวินิจฉัยโรคความดันเลือดสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุได้แก่ การพยายามสืบค้นหาสาเหตุต่างๆ จนทราบแน่นอนว่า ไม่พบ จึงจะสามารถบอกได้ว่า ผู้ป่วยเป็นโรคความดันเลือดสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันเลือดสูงทุกราย จำเป็นจะต้องทำการตรวจดูการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงที่หัวใจ การเปลี่ยนแปลงที่จอตา และการเปลี่ยนแปลงของการทำงานของไต โดยการสืบค้นที่เกี่ยวข้อง เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าของหัวใจ การเอกซเรย์ทรวงอกและไต การตรวจหน้าที่การทำงานของไต และการตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดแดงในจอตา เป็นต้น
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
การรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันเลือดสูงควรได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง เช่น ควรแนะนำให้ทำงานปกติ แนะนำเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ซึ่งอาจทำให้มีระดับความดันเลือดสูงขึ้นได้ทันที และเป็นอันตรายได้ ผู้ป่วยที่มีความดันเลือดสูงและอ้วน จำเป็นต้องลดน้ำหนักลง ทั้งนี้เพราะการลดน้ำหนัก อาจทำให้ความดันลดลงอยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ผู้ป่วยที่มีความกระวนกระวายอย่างมาก อาจให้ยาระงับประสาทร่วมด้วยได้
ผู้ป่วยที่มีความดันเลือดสูงที่ได้รับการวินิจฉัยแน่นอนแล้ว และหน้าที่การทำงานของไตยังคงมีอยู่ ควรได้รับยาลดความดันเลือด ผู้ป่วยที่หน้าที่การทำงานของไตผิดปกติ หรืออยู่ในภาวะไตวายเรื้อรังแล้ว การลดความดันเลือดลงอย่างมาก อาจทำให้มีการคั่งค้างของสารที่ไม่ต้องการเพิ่มขึ้น และในกรณีเช่นนี้การลดความดันเลือดจึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง
การรักษาอื่นๆ เป็นการรักษาภาวะแทรกซ้อน เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจซีกซ้ายวาย มีความดันเลือดสูง ทำให้มีอาการชัก และหมดสติร่วมด้วย จำเป็นต้องรักษาตามนั้น