การใช้ไมโครโปรเซสเซอร์เข้าช่วยคนหูหนวก
โดยอาศัยไมโครโปรเซสเซอร์ และหลักการทางสถิติ ทำให้สามารถสร้างเครื่องมือชนิดหนึ่ง เรียกว่า "คริบโอแกรม" (crib-o-gram) ซึ่งสามารถใช้ทดสอบเด็กทารกที่เกิดใหม่ว่า สูญเสียการได้ยินหรือไม่
ไมโครโปรเซสเซอร์มีบทบาทในการช่วยคนหูหนวกด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า "โทรโสต" (tele-ear) โทรโสตมีอยู่หลายแบบ
แบบแรกเป็นแบบที่ช่วยให้คนหูหนวกที่อ่านหนังสือออก สามารถรับส่งข่าวสารทางโทรศัพท์ได้ โดยอาศัยหลักการที่ให้ผู้พูดโทรศัพท์ฝ่ายหนึ่ง กดแป้นตัวอักษรของเครื่องส่ง ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟฟ้า ส่งไปตามสายโทรศัพท์ มายังเครื่องโทรโสตของผู้รับ ซึ่งจะเปลี่ยนสัญญาณไฟฟ้าให้เป็น ตัวหนังสือ ปรากฏบนจอภายใต้การควบคุมของไมโครโพรเซสเซอร์ โดยชุดคำสั่งที่เก็บไว้ในรอม
โทรโสตอีกแบบหนึ่งสามารถใช้กับคนที่อ่านหนังสือไม่ออก โดยอาศัยหลักการในการเปลี่ยนเสียงพูด ให้เป็นการสั่นสะเทือน ด้วยเครื่องเปลี่ยนชนิดต่างๆ เช่น แบบเปียโซอิเล็กทริกซิตี (piezoelectricity) ที่ใช้ผลึกวางเรียงกัน เป็นเมทริกซ์ ๘ x ๓๒ หรือแบบใช้ไฟฟ้าดูด แตะที่ผิวหนัง ซึ่งการสั่นสะเทือนนี้ จะถูกส่งอ้อมหูเข้าสู่สมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยิน ภายใต้การควบคุมของไมโครโพรเซสเซอร์ ทำให้คนหูหนวกสามารถได้ยินเสียงต่างๆ ได้ พอประมาณ
เนื่องจากตำแหน่งต่างๆ ในหูชั้นในสามารถรับรู้เสียง ต่างๆ ได้ จึงมีการคิดค้นฝังขั้วไฟฟ้าไว้ในหูชั้นในที่ตำแหน่ง ต่างๆ กัน และเดินสายไฟฟ้าจากขั้วไฟฟ้าผ่านกะโหลก ศีรษะออกมาทางด้านหลัง ภายใต้การควบคุมของไมโครโพรเซสเซอร์ โดยชุดคำสั่งที่เก็บไว้ในรอม ทำให้คนหูหนวก สามารถได้ยินเสียงต่างๆ ได้มากมาย