นาฬิกาคอมพิวเตอร์
ภายในส่วนควบคุมของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีวงจรสร้างสัญญาณนาฬิกาอยู่ เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของส่วนประกอบต่างๆ ของเครื่องคอมพิวเตอร์ วงจรสร้างสัญญาณนาฬิกานี้ สร้างขึ้น โดยอาศัยวงจรออสซิลเลเทอร์ (oscillator) ที่เป็นวงจรทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกว่า วงจรมัลทิไวเบรเทอร์ (multivibrator) หรือใช้ผลึกควอรตซ์ (quartz) ซึ่งมีคุณสมบัติสั่นสะเทือน มีสัญญาณไฟฟ้าเกิดขึ้นด้วยความถี่ที่คงที่ เมื่อใส่แรงดันไฟฟ้าไปที่ผลึกควอรตซ์ โดยการนำเอาสัญญาณนาฬิกานี้ มาป้อนเข้าวงจรนับ และวงจรตรรกของนาฬิกา แล้วป้อนเข้าส่วนแสดงผลแบบตัวเลข ซึ่งจะแสดงชั่วโมง นาที วินาทีวัน เดือน และปี
ปัจจุบัน นาฬิกาข้อมือมีวิวัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว โดยนำไมโครโพรเซสเซอร์ มาช่วยทำให้มีความสามารถพิเศษหลายอย่าง ที่นอกเหนือไปจากการแสดงเวลาเป็นตัวเลขอย่างเดียว เช่น แสดงวัน เดือน ปี เบอร์โทรศัพท์ที่ใช้เป็นประจำ และปุ่มกด สำหรับใช้เป็นเครื่องคำนวณอีกด้วย
นาฬิกาคอมพิวเตอร์แตกต่างกับนาฬิกาแบบตัวเลข ธรรมดาตรงที่สามารถสั่งให้เปลี่ยนวันที่ ๑ ใหม่ทุกๆ เดือนได้เอง ไม่ว่าเดือนนั้น จะมี ๓๐ หรือ ๓๑ วัน หรือเดือนกุมภาพันธ์ที่มี ๒๘ หรือ ๒๙ วัน พร้อมกันนั้นสามารถเปลี่ยนวันจันทร์ วันอังคาร... พร้อมทั้งเดือนและปี สามารถตั้งเวลาปลุก หรือเวลาเตือนได้ตามความต้องการ และใช้เป็นนาฬิกาจับเวลาได้ด้วย
เนื่องจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้สร้างส่วนควบคุมกลาง หรือซีพียูเป็นไมโครโปรเซสเซอร์ที่มีขนาดเล็กมาก จึงสามารถนำมาสร้างนาฬิกาคอมพิวเตอร์ที่เล็กมาก ขนาดนาฬิกาข้อมือได้