เล่มที่ 14
เทคโนโลยีชีวภาพ
เล่นเสียงเล่มที่ 14 เทคโนโลยีชีวภาพ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ในปัจจุบัน วิทยาการได้เจริญรุดหน้าไปมาก มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้มากขึ้น โดยใช้วิทยาการในรูปแบบต่างๆ ที่มนุษย์ได้พัฒนาขึ้น เช่น วิทยาการในรูปแบบ "เทคโนโลยี" ซึ่งหมายถึง การปฏิบัติ หรือการดำเนินการใดๆ ในการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้เกิดประโยชน์ ในขณะที่เทคโนโลยีแขนงต่างๆ เติบโตขึ้น เทคโนโลยีชีวภาพก็ได้เติบโตควบคู่กันไปด้วย หลายๆ คนอาจเห็นว่า เทคโนโลยีชีวภาพเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ แต่แท้ที่จริงแล้ว เทคโนโลยีชีวภาพได้เจริญควบคู่มากับวิวัฒนาการของมนุษย์ ตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจาก เทคโนโลยีชีวภาพเป็นการนำความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต กระบวนการต่างๆ จากสิ่งมีชีวิต หรือผลิตผลจากสิ่งมีชีวิต มาก่อให้เกิดประโยชน์ ดังจะเห็นได้ว่า ในยุคแรกๆ มนุษย์รู้จักใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ในการถนอมและแปรรูปอาหาร ในขั้นตอนง่ายๆ เช่น การทำน้ำปลา ปลาร้า เนยแข็ง และไวน์ เป็นต้น ในยุคต่อมา จึงได้พัฒนาวิธีการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ให้สูงขึ้น เช่น ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยาปฏิชีวนะ เป็นต้น
ขั้นตอนในการถนอมและแปรรูปอาหารนมเป็นเนย :ให้ความร้อนแก่น้ำมันเนย
ขั้นตอนในการถนอมและแปรรูปอาหารนมเป็นเนย : ให้ความร้อนแก่น้ำมันเนย
การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพ พอจะแบ่งได้ตามการใช้ประโยชน์จาก สิ่งมีชีวิต ๓ ประเภท คือ พืช สัตว์ และจุลินทรีย์

การใช้เทคโนโลยีชีวภาพสำหรับพืช

            เมื่อมองถึงการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุง และขยายพันธุ์พืชแล้ว หลายคนอาจมองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากจน เราอาจมองข้ามไป นั่นคือ การผสมและขยายพันธุ์พืช เพื่อให้ได้ผลิตผลที่ดี ตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย คือ ในปัจจุบัน เราสามารถผลิตพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีออกมาได้หลายพันธุ์ พันธุ์ข้าวเหล่านี้มีคุณลักษณะพิเศษ คือ ให้ผลิตผลสูง ทนแล้ง และทนโรคต่างๆ ได้ นอกจากนี้แล้ว เรายังได้พัฒนาพันธุ์พืชเศรษฐกิจอื่นๆ อีก เช่น ข้าวโพด กล้วย และไม้ดอกไม้ประดับ เป็นต้น ซึ่งผลิตผลของพืชเหล่านี้ นำรายได้เข้าประเทศมูลค่ามหาศาล ในปัจจุบันเราได้นำเทคโนโลยีชีวภาพแขนงใหม่ๆ ที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการขยายพันธุ์พืชกันอย่างแพร่หลาย คือ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช โดยการนำชิ้นส่วนของพืชมาขยายพันธุ์ ในอาหารวิทยาศาสตร์ ภายใต้สภาวะที่ควบคุม และจากชิ้นส่วนดังกล่าวสามารถขยายเป็นต้นพันธุ์เล็กๆ ได้จำนวนมาก ภายในช่วงเวลาสั้นๆ
ขั้นตอนในการถนอมและแปรรูปอาหารนมเป็นเนย :ลดอุณหภูมิของส่วนผสม
ขั้นตอนในการถนอมและแปรรูปอาหารนมเป็นเนย : ลดอุณหภูมิของส่วนผสม
การใช้เทคโนโลยีชีวภาพสำหรับสัตว์

            เมื่อพิจารณาการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสำหรับสัตว์ จะเห็นได้ว่า เราได้ประโยชน์มาก ในการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ให้มีคุณลักษณะที่ดี ในปัจจุบันนี้ แพทย์สามารถนำน้ำเชื้อกับไข่ มาผสมกันในหลอดทดลอง และใส่ตัวอ่อนกลับเข้าไปให้แม่ตั้งท้องได้สำเร็จ เทคโนโลยีตัวอ่อนนี้ ใช้กับสัตว์เศรษฐกิจ เช่น โคนม นักวิทยาศาสตร์สามารถนำเอาตัวอ่อนของวัวพันธุ์ดีจากต่างประเทศ มาถ่ายฝากเข้าไปในแม่วัวพันธุ์พื้นเมือง ทำให้ตั้งท้องตกลูกออกมาเป็นลูกวัวพันธุ์ดีได้ การฝากท้องเกิดนี้ ใช้กับมนุษย์ได้ด้วย ไม่ใช่มีแต่ในเรื่องรามเกียรติ์เท่านั้น แต่เกิดขึ้นได้จริงๆ การใช้เทคโนโลยีชีวภาพดังกล่าว จะทำให้ได้โคนม ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมในการให้ผลิตผลน้ำนม เลี้ยงดูได้ง่ายตามสภาวะในประเทศไทย และมีความต้านทานโรคได้ดี สามารถนำไปส่งเสริม และเผยแพร่ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของประเทศ นอกจากนี้ยังนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตฮอร์โมน เพื่อเร่งการเจริญเติบโต และการผลิตวัคซีน เพื่อป้องกันโรคระบาดของสัตว์ เป็นต้น
ข้าว ผลิตผลสำคัญที่ได้รับการพัฒนาให้มีพันธุ์ใหม่ มีคุณลักษณะพิเศษต่าง ๆ เสมอมา
ข้าว ผลิตผลสำคัญที่ได้รับการพัฒนาให้มีพันธุ์ใหม่ มีคุณลักษณะพิเศษต่างๆ เสมอมา
การใช้เทคโนโลยีชีวภาพสำหรับจุลินทรีย์

            จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ซึ่งมีทั้งประโยชน์และโทษ มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์ จากจุลินทรีย์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ การหมักดองสุราก็ถือได้ว่า เป็นเทคโนโลยีชีวภาพ ที่ได้มาจากการที่รู้จักส่าหมักสุรา ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่ง ที่นำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่โบราณกาล ในปัจจุบันมนุษย์รู้จักคัดเลือก และปรับปรุงพันธุ์จุลินทรีย์ให้เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ อุตสาหกรรม และการเกษตรได้หลายอย่าง จุลินทรีย์บางชนิดใช้ในการผลิตอาหาร ที่เกิดจากการหมักคือ เพาะจุลินทรีย์ให้ผลิตอาหารตามที่ต้องการ เช่น น้ำปลา เต้าเจี้ยว และขนมปัง เป็นต้น บางชนิดใช้ในการผลิตยารักษาโรคหลายชนิด โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลิน มาจากการค้นพบฤทธิ์ของเชื้อราบางชนิด ที่สามารถฆ่าบัคเตรีได้ แล้วนำมาสกัดสารที่เป็นตัวยา เพื่อผลิตยานั้นออกมา นอกจากยาปฏิชีวนะแล้ว การผลิตวัคซีนต่างๆ ก็ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต จุลินทรีย์บางชนิดยังมีความสำคัญ ในการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ในการบำบัดน้ำเสียจากอุตสาหกรรม จุลินทรีย์จะเปลี่ยนน้ำเสียให้มีคุณภาพดี