เล่มที่ 7
กล้วยไม้
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            กล้วยไม้มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "orchid" น่าแปลกที่ทั้งในภาษาไทย และอังกฤษต่างก็มีความหมายใกล้เคียงกัน เราเรียกพืชชนิดนี้ว่า กล้วยไม้ เพราะมีลักษณะคล้ายกล้วย ได้แก่ เอื้องต่างๆ เช่น เอื้องผึ้ง หรือเอื้องคำ ซึ่งมีมากในแถบภาคเหนือ ของประเทศ ส่วนของกล้วยไม้บางตอน มีลักษณะคล้ายผลกล้วยเราเรียกว่า ลำลูกกล้วย  คำ "orchid" นั้น มาจากภาษากรีก หมายความถึงลักษณะโป่งเป็นกระเปาะคล้ายต่อม ชื่อนี้ก็คงจะได้มาจากการพิจารณา จากลำลูกกล้วย ที่เป็นส่วนของกล้วยบางชนิดเช่นเดียวกัน แต่ลักษณะพื้นฐานทางพฤกษศาสตร์ที่บรรยายลักษณะพืชในวงศ์กล้วยไม้ ได้ยึดถือรายละเอียดต่างๆ ของดอกเป็นหลักสำคัญ พันธุ์ไม้ที่ไม่มีลำลูกกล้วยอีกหลายชนิด จึงถูกจัดรวมเข้ามาอยู่ในขอบข่ายของพืชในวงศ์กล้วยไม้ด้วย


            กล้วยไม้ดิน เพกไทลิส สาคริกิไอ (Pecteilis sagarikii)เป็นพันธุ์กล้วยไม้ป่าที่ค้นพบในประเทศไทย เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๖โดยศาสตราจารย์ระพี สาคริก และตั้งชื่อโดย ศาสตราจารย์กันนาไซเด็นฟาเด็น นักพฤกษศาสตร์ชาวเดนมาร์ก

            กล้วยไม้มีสภาวะความเป็นอยู่ตามธรรมชาติแตกต่างกัน บางชนิดอยู่บนพื้นดิน บางชนิดอยู่บนต้นไม้ และบางชนิดขึ้นอยู่บนหิน ที่มีหินผุ และใบไม้ผุตกทับถมกันอยู่ ทั้งนี้สุดแล้วแต่ลักษณะ และอุปนิสัยของกล้วยไม้แต่ละชนิด ซึ่งจะปรับตัวตามความเหมาะสม กับสภาวะ และการเปลี่ยนแปลงตามสภาพต่างๆ ของธรรมชาติที่แวดล้อม กล้วยไม้แต่ละชนิดต่างก็มีลักษณะ และระบบของราก ที่เข้ากับสิ่งที่ไปอาศัยพักพิงอยู่อย่างเหมาะสมที่สุด

กล้วยไม้เข็มแสด

            กล้วยไม้ชนิดที่ขึ้นอยู่บนดิน รากจะมีลักษณะเป็นหัวและอวบอิ่มไปด้วยน้ำ จึงมีศัพท์เฉพาะที่บรรยายลักษณะของรากเช่นนี้ว่า "อวบน้ำ" กล้วยไม้ประเภทนี้ มีอยู่หลายสกุล เช่น สกุลฮาเบนาเรีย (Habenaria) เพ็คไทลิส (Pecteilis) และ แบรคคีคอไรทิส (Brachycorythis) เราเรียกกล้วย ไม้ชนิดนี้ว่า กล้วยไม้ดิน ในบ้านเราที่พอจะจัดเข้าประเภทนี้ได้ก็คือ นางอั้ว นางกรวย และท้าวคูลู ซึ่งจะผลิดอกในระหว่างกลางถึงปลายฤดูฝนของแต่ละปี เราอาจจะพบกล้วยไม้ประเภทนี้อีกหลายชนิด ขึ้นอยุ่ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก อย่างกว้างขวาง แม้แต่เขตหนาวเหนือของทวีปยุโรป เช่น ตามหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลบอลติก ซึ่งในฤดูหนาว มีหิมะตกทับถมบนพื้นดินหนามาก และเป็นเวลานานหลายเดือนด้วย แต่กล้วยไม้เหล่านี้ก็คงทนอยู่ได้ เนื่องจาก มีความสามารถพิเศษในการปรับลักษณะของตัวเอง ให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของฤดูกาล ที่ปรากฏเป็นประจำในรอบปีได้ กล่าวคือ เมื่อถึงฤดูที่อากาศหนาวจัด หรือแห้งจัด ต้นและใบที่อยู่เหนือพื้นดินจะแห้งไป คงเหลือแต่หัวฝังตัวอยู่ภายใต้ผิวดิน ครั้นพอถึงฤดูที่สภาพแวดล้อมเหมาะสม ก็จะเจริญขึ้นมาเป็นต้นและใบ เมื่อเจริญเต็มที่ ก็จะผลิดอก และสร้างหัวใหม่ เพื่อเก็บสะสมอาหารไว้ใต้ผิวดินอีก เมื่อหัวใหม่เจริญเต็มที่ส่วนต้น ใบ และดอกเหนือผิวดิน ก็จะถึงเวลาแห้งเหี่ยวพอดี ส่วนหัวจะพักรอเวลาที่อากาศเหมาะสม ก็จะเจริญเติบโตขึ้นมาใหม่ดังนี้เรื่อยไป

            นอกจากกล้วยไม้ดิน ซึ่งมีหัวเป็นที่สะสมอาหารใต้ดินแล้ว ยังมีกล้วยไม้ประเภทไม่มีหัว และชอบขึ้นอยู่บนหินภูเขาที่มีเศษหินผุ และเศษใบไม้ผุทับถมกันอยู่หนาพอสมควร เป็นกล้วยไม้ในสกุลพาฟิโอเพดิลัม (Paphiopedilum) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า กล้วยไม้รองเท้านารี และยังมีบางประเภทซึ่งเกาะอยู่บนคาคบไม้ ซึ่งจะพบได้ในเขตร้อน เช่น กล้วยไม้ในสกุล แวนดา (Vanda) แคทรียา (Cattleya) และสกุล เดนโดรเบียม (Dendrobium) หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า สกุลหวาย กล้วยไม้ประเภทนี้ จะมีลักษณะแปลกออกไปคือ มีรากใหญ่ ยาว และแตกแขนงรากอย่างโปร่งๆ เป็นรากอากาศ แม้จะเกาะกับต้นไม้ก็จะมีส่วนที่ยาว และห้อยลงมาในอากาศด้วย แต่รากกล้วยไม้สกุลแคทรียา และเดนโดรเบียม มีลักษณะค่อนข้างเล็ก ละเอียด และหนาแน่น ไม่โปร่งอย่างแวนด้า บางตำราจึงแยกกล้วยไม้สกุลแคทรียาและเดนโดรเบียม ไปไว้ในประเภทกึ่งอากาศ

หวายฟาแลนอปซิส
(Dendrobium phalaenopsis)


            กล้วยไม้ที่เกาะอยู่ตามต้นไม้ มิใช่กาฝาก เป็นเพียงอาศัยเกาะ และอาศัยร่มเงาจากกิ่งและใบของต้นไม้เท่านั้น มิได้แย่งอาหารใดๆ จากต้นไม้ ที่อาศัยเกาะนั้นเลย รากของกล้วยไม้ได้อาศัยความชื้นจากอากาศ หรือจากเปลือกของต้นไม้ และอาศัยธาตุอาหารต่างๆ จากการผุและสลายตัว ของใบไม้ที่ผุเปื่อยแล้ว กล้วยไม้เป็นต้นไม้ที่มีสีเขียว เช่นเดียวกับต้นไม้ทั่วไป จึงมีความต้องการแสงสว่าง น้ำหรือความชื้น ธาตุอาหาร และอุณหภูมิที่เหมาะสม เพื่อการดำรงชีวิต การเจริญเติบโต และผลิดอกออกช่อตามเวลาอันสมควร ไม่แตกต่างไปจากต้นไม้อื่นๆ เลย