มนุษย์รู้จักครั่งมาแต่โบราณ ชาวจีนใช้สีแดงที่ได้จากรังครั่งย้อมผ้าไหม และหนังฟอกมานานกว่า ๔,๐๐๐ ปี ส่วนชาวอินเดียเมื่อ ๒,๐๐๐ ปีกว่ามาแล้ว ใช้ครั่งเป็นสมุนไพร โดยเข้าใจว่า ครั่งซึ่งมีลำตัวเป็นสีแดง เป็นยาเพิ่มโลหิตให้แก่มนุษย์ |
การเลี้ยงครั่งบนไม้พุทรา |
ต่อมาเมื่อประมาณร้อยปีมานี้ ได้มีผู้คิดแยกเชลแล็กออกจากครั่งได้ นำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่สำคัญคือ ใช้ทำน้ำมันชักเงา ทาพื้นไม้ และเครื่องเรือน ทำให้ไม้เป็นเงางาม ทนทาน การใช้เชลแล็ก เป็นที่นิยมใช้กันทั่วโลก การแยกเชลแล็กจากรังครั่งทำได้ไม่ยาก เมื่อครั่งทำรังโตได้ที่แล้วผู้เลี้ยงก็จะตัดกิ่งไม้ที่รังครั่งอยู่ ลงมากะเทาะเอารังครั่งออก เรียกครั่งที่ได้นี้ว่า ครั่งดิบ จากครั่งดิบเขาต้องนำไปตากให้แห้ง แล้วส่งเข้าโรงงานทำเป็นครั่งเม็ด ต่อจากนั้น จึงนำไปทำเป็นเชลแล็ก เชลแล็กมีลักษณะเป็นแผ่นบางใส มีสีต่างๆ กันตั้งแต่เหลืองเข้มจนถึงน้ำตาลแก่ แล้วแต่สีของครั่งดิบกับสิ่งไม่บริสุทธิ์ ซึ่งปะปนมากับเชลแล็กนั้น ครั่งดิบที่ดีที่สุดได้จากการเลี้ยงครั่งด้วยต้นตะกร้อ ส่วนสิ่งที่มักปะปนมากับเชลแล็ก ได้แก่ ตัวแมลงครั่ง และเศษไม้ เชลแล็กที่มีราคาสูงมีสีเหลืองส้ม ในประเทศไทยการเลี้ยงครั่งทำได้สะดวก เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศอำนวย ต้นไม้ที่ครั่งชอบ ซึ่งได้แก่ ตะกร้อ ทองกวาว สะแก จามจุรี และอื่นๆ อีก หลายชนิดขึ้นได้งอกงามดีมาก ทำให้สามารถเก็บครั่งขายได้ถึงปีละสองครั้ง เราส่งทั้งครั่งดิบ ครั่งเม็ด และเชลแล็ก ออกไปขายต่างประเทศ ส่วนมากเป็นครั่งเม็ด ปัจจุบันมีโรงงานผลิตเชลแล็ก และครั่งเม็ดภายในประเทศอยู่ประมาณ ๒๐ โรงงาน ครั่งเป็นสินค้าเศรษฐกิจอย่างหนึ่งของประเทศไทย |