พระที่นั่งวิมานเมฆ กรุงเทพมหานคร สร้างด้วยไม้สักทอง
ไม้สักมีชื่อภาษาอังกฤษทางการค้าว่า ทีก (teak) ได้จากต้นสัก ไม้สักชั้นหนึ่งมีเนื้อไม้สีน้ำตาลทอง และมีเส้นลวดลายสีดำ เรียกว่า "สักทองลายดำ" เนื้อไม้สักค่อนข้างละเอียด มีเสี้ยนตรง ทำให้ง่ายต่อการเลื่อย ไส และตบแต่ง มีความแข็งแรงเท่าเทียมกับไม้เนื้อแข็งชนิดอื่นๆ อาจจะใช้ในงานก่อสร้าง และทำโครงสร้างของที่อยู่อาศัย ใช้ทำดาดฟ้าเรือ ทำเครื่องเรือน และแกะสลักได้อย่างสวยงาม นอกจากไม้สักจะมีคุณสมบัติที่ต้านทานการรบกวนจากปลวก และเชื้อเห็ดราแล้ว ยังมีความทนทานต่อลมฟ้าอากาศได้อย่างดีเยี่ยม ดังจะเห็นได้จากสภาพของโบสถ์ วิหาร หรือบ้านที่มีอายุหลายร้อยปี ที่สร้างขึ้นด้วยไม้สัก ในจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากเนื้อไม้ของไม้สักมีน้ำมัน และสารแทรกบางชนิด เช่น สารเทคโตควิโนน ซึ่งเป็นสารมีพิษต่อปลวกและเห็ดราบางชนิด
เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก
ลักษณะโดยทั่วไปของต้นสัก
สัก เป็นไม้ป่าผลัดใบ ขึ้นอยู่ในป่าเขตร้อน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า เทคโตนาแกรนดิส (Tectona grandis) อยู่ในวงศ์เวอร์เบนาซีอี (Verbenaceae) ซึ่งค้นพบและตั้งชื่อโดย ลิเนียส เอฟ (Linnaeus F.) บุตรชายของลินเนียส นักพฤกษศาสตร์ชื่อดังของโลก
วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่
สร้างด้วยไม้สักสลักลวดลายและปิดทอง
ลักษณะของลำต้น
สัก เป็นไม้ยืนต้น สูงตั้งแต่ ๒๐ เมตรขึ้นไป และอาจสูงถึง ๕๐ เมตร ดังเช่นต้นสักที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งขึ้นอยู่ที่อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ความโตของลำต้นวัดเป็นเส้นรอบวงได้ถึง ๙.๓๐ เมตร (หรือเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓.๐๐ เมตร) มีอายุไม่ต่ำกว่าพันปี
ต้นสักอายุประมาณ ๒๐๐ ปี อยู่ที่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
ลักษณะลำต้นของสักจะสูง ตรง และชะลูด ปราศจากกิ่งก้าน จนใกล้จะถึงยอด โคนต้นเป็นรอยหยักเว้า ยอดเป็นพุ่มกว้างและกลม สีของลำต้นเป็นสีน้ำตาลปนเทา เปลือกแตกเป็นร่องตื้นๆ ตามความยาวของลำต้น เมื่อถากหรือสับลำต้นดู จะพบว่า เปลือกนอกหนาประมาณ ๑-๒ เซนติเมตร เปลือกในมีสีน้ำตาล และเขียวอ่อน กระพี้ขาวและหนา เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลทอง แลเห็นลายเส้นวงปีชัดเจน และลายเส้นวงปีนี้ จะบอกถึงอายุของต้นสักต้นนั้นๆ ได้โดยความโต ๑ วง จะใช้เวลา ๑ ปี
ใบสักจะแตกออก ตามกิ่งก้านหรือตามลำต้นเล็กๆ
ลักษณะของใบ
ใบ สักแตกออกตามกิ่งก้าน หรือตามลำต้นเล็กๆ ของกล้าไม้เป็นคู่ๆ ตรงข้ามกัน เมื่อต้นยังเล็ก ใบสักก็จะมีขนาดใหญ่มาก อาจมีความกว้างถึง ๔๐ เซนติเมตร และยาวถึง ๘๐ เซนติเมตร เมื่อต้นสักมีอายุมากขึ้น ขนาดของใบจะลดลง รูปของใบจะมีลักษณะโป่งตรงกลาง และเรียวแหลม ทั้งโคนและปลายใบ ผิวของใบสากคาย เนื่องจากมีขนแข็งเล็กละเอียดตลอดทั้งใบ หลังใบจะมีสีเขียวเข้ม เห็นลายเส้นเป็นร่างแหชัดเจน และมีต่อมสีดำเล็กๆ ท้องใบมีสีเขียวอ่อนเห็นลายเส้นนูน ใบอ่อนที่เพิ่งแตก มีสีน้ำตาลแดง และมีขนอ่อนนุ่ม เมื่อขยี้ดูจะมีสีแดงคล้ายเลือด เนื่องจากมีสารแทรกในใบสัก เป็นไม้ผลัดใบ ใบเริ่มเปลี่ยนสีเป็นเหลือง น้ำตาลและแดง ในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ต่อมาในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม ใบสักจะร่วงจนหมดต้น ดูคล้ายต้นสักตายแห้ง เมื่อฝนเริ่มในเดือนเมษายน - พฤษภาคม ก็จะแตกใบอ่อนใหม่
ดอกสักช่อหนึ่ง ๆ ยาวประมาณ ๔๐-๖๐ เซนติเมตร
ลักษณะของดอกสัก
ใบอ่อนที่แตกจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และโตเต็มที่ราวๆ เดือนกรกฎาคม ช่อดอกจะเริ่มแทงออกมา ดอกสักเล็กๆ เริ่มทยอยบาน ช่วงเวลาที่ดอกสักบาน คือ เดือนกันยายน ดอกสักช่อหนึ่งๆ ยาวประมาณ ๔๐-๖๐ เซนติเมตร แต่ละช่อดอกประกอบด้วยดอกเล็กๆ สีขาวหรือขาวแต้มม่วง และมีจำนวนมากถึงช่อละ ๗๕๐-๓,๐๐๐ ดอก ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของช่อดอกและลำต้น ดอกสักจะทยอยบานไปเรื่อยๆ ใช้เวลาประมาณ ๓-๔ สัปดาห์ ดอกที่เริ่มบานตอนเช้าจะร่วงหล่นในตอนเย็น หรือเช้าวันถัดไป ถ้าดอกไม่ได้รับการผสมเกสร ดอกสักแต่ละดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๖-๘ มิลิเมตร มีกลีบดอกสีขาว หรืออาจมีสีม่วงสลับ จำนวน ๖ กลีบ ในดอกประกอบด้วย ก้านเกสรตัวผู้ชูอับเรณู สีเหลือง ๖ ก้าน ตรงกลางดอกมีก้านเกสรตัวเมียขนาดใหญ่ ๑ ก้าน ปลายก้านแยกเป็น ๔ แฉก ชูเกสรตัวเมีย ที่ฐานของก้านเกสรตัวเมีย และฐานดอก เป็นกระเปาะของรังไข่ ภายในมีช่อง ๔ ช่อง ช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่การผสมเกสรของดอกสัก คือ ประมาณ ๑๑.๐๐-๑๕.๐๐ นาฬิกา โดยมีแมลง เช่น ผีเสื้อ ผึ้ง และมด เป็นต้น เป็นตัวช่วยผสมเกสร
ลักษณะของผลสัก
ลักษณะของผลสัก
หลักจากได้รับการผสมเกสรแล้ว ดอกสักก็เจริญเติบโตเป็นผลเล็กๆ ใช้เวลาประมาณ ๕๐ วัน ผลจึงเจริญเต็มที่ ประมาณเดือนมกราคมผลสักที่แก่จัดหรือแห้ง จะมีสีน้ำตาล จากนั้นก็ร่วงหล่นตามธรรมชาติ เมื่อมีพายุฝนแรกในราวกลางเดือนเมษายน ผลที่แก่จัดหรือแห้งนี้ จะขยายตัวพองกลม มีเปลือกนอกเป็นแผ่นบางพองสีน้ำตาล แผ่นบางนี้แปลงสภาพมาจากกลีบดอกหลังการผสม ลักษณะกลมแข็ง มีขนสีน้ำตาลหุ้ม เปลือกของผลในมีสองชั้น ชั้นนอกเหนียวและหยุ่น ห่อหุ้มเปลือกชั้นใน ที่แข็งคล้ายกะลามะพร้าว ข้างในสุดของผลเป็นโพรง เมื่อถึงฤดูฝน ผลหรือเมล็ดสักเหล่านี้ ก็จะแตกออก และเจริญเติบโตกลายเป็นต้นกล้าอันล้ำค่าต่อไป