เล่มที่ 16
ศิลาจารึกและการอ่านจารึก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            หนังสือที่ใช้อ่านศึกษาเล่าเรียนอยู่ทั่วไปในปัจจุบันทำด้วยกระดาษเป็นส่วนใหญ่ แต่กระดาษเป็นวัตถุที่ไม่มีความคงทนถาวร มักจะชำรุดฉีกขาดได้ง่าย เมื่อผู้เขียนหนังสือต้องการจะบันทึกเรื่องราวไว้ให้คงอยู่นานๆ จำเป็นต้องเขียนบนวัตถุ ที่มีความแข็งแรงคงทนถาวร เช่น แผ่นศิลา แผ่นไม้ ดินเผา หรือโลหะชนิดต่างๆ ได้แก่ แผ่นเงิน แผ่นทอง เป็นต้น

อุปกรณ์ที่ใช้จารึก เช่น เหล็กจาร

แผ่นที่ใช้จารึกนั้นมีรูปทรง และขนาดหลากหลายแตกต่างกัน ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ ความรู้ และความชำนาญของผู้สร้างศิลาจารึก บางชิ้นมีรอยชำรุด ร้าว แตก หรือหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ตามกาลเวลาที่ผ่านไป แต่นักโบราณคดีก็สามารถศึกษา และคาดเดาจากหลักฐานประกอบ และข้อมูลอื่นๆ ได้ว่า แผ่นศิลาจารึกแต่ละแผ่นนั้น มีประวัติยาวนานเพียงใด

            ศิลาจารึกบางชิ้นได้ถูกเปลี่ยนรูปทรงจนแทบจะไม่เหลือเค้าเดิม ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนในสมัยหลัง ที่นำศิลาจารึกนั้นมาใช้ในโอกาสอื่น เช่น นำมาสักการะบูชา ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ และปิดทอง จนบดบังรูปเดิมเสียหมด หรือนำมาใช้ประโยชน์บางอย่าง เช่น ทำเป็นหินลับมีด หรือนำไปตกแต่งสถานที่บางแห่ง ทำให้คนรุ่นหลังๆ ต่อมา เข้าใจคลาดเคลื่อน ถึงที่มาอันแท้จริงของศิลาจารึกนั้น

อุปกรณ์ที่ใช้ในการสกัดหิน

วัตถุที่ใช้เป็นจารึกมีหลายชนิดดังได้กล่าวมาแล้ว แต่จะมีลักษณะตรงกัน คือ แข็งแรง คงทน และถาวร ส่วนเครื่องมือที่ใช้จารึก ก็จะแตกต่างกันไปตามลักษณะของวัตถุจารึก จึงแบ่งวิธีการจารึกออกเป็น ๓ แบบ ดังนี้

๑. จารึกด้วยเหล็กสกัด

            การจารึกแบบนี้จะทำบนแผ่นหรือแท่งหินเนื้อแข็ง เช่น หินดินดาน หรือหินทราย เมื่อตัดหินได้รูปทรงตามที่ต้องการแล้ว ก็จะขัดผิวหน้าด้านที่จะจารึกจนเรียบ แล้วลงมือจารึกสิ่งที่ต้องการสื่อความหมาย โดยการสลักให้เป็นรูปรอย หรือลายลักษณ์อักษรลงไป ด้วยเหล็กที่มีปลายแบนและคม เรียกว่า เหล็กสกัด เช่นที่ปรากฎในศิลาจารึก

๒. จารึกด้วยเหล็กจาร

            การจารึกแบบนี้จะใช้วัตถุอื่นที่ไม่ใช่หิน เช่น อาจจะเป็นไม้ หรือโลหะชนิดต่างๆ เนื้อวัตถุไม่แข็งมากอย่างหิน และบางกว่า เครื่องมือที่ใช้จารึกจะเป็นเหล็กแท่งกลมปลายแหลมคม เรียกว่า เหล็กจาร
๓. จารึกด้วยวิธีอื่นๆ

            เอกสารที่บันทึกลายลักษณ์อักษรบนแผ่นไม้ และแผ่นโลหะเหล่านี้ บางครั้งพบว่า มิได้จารึกด้วยเหล็กจาร แต่ใช้วิธีเขียนหรือชุบด้วยสีหรือหมึก ด้วยการใช้พู่กัน หรือปากกาจุ่มสีหรือหมึกเขียนตัวอักษร เอกสารดังกล่าวนี้เรียกว่า จารึกเช่นเดียวกัน ดังปรากฏบนฝาผนังพระอุโบสถ ตู้ลายรดน้ำ หรือเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น

จารึกบนแผ่นดินเผา ซึ่งเนื้อวัตถุจะไม่แข็งมากอย่างหินและบางกว่า

            การวางรูปอักษรในจารึก จะเริ่มต้นจากซ้ายไปขวา และเรียงตามลำดับจากข้างบนลงมาข้างล่าง บางทียังพบว่า มีการตีเส้นบรรทัดเป็นแนววางตัวอักษร สมัยแรกการวางตัวอักษรจะอยู่ใต้เส้นบรรทัด เช่น จารึกเจดีย์วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย จะปรากฏเส้นบรรทัด เป็นรอยขีดลึกลงไปในเนื้อศิลาเป็นแนวทุกบรรทัด ความนิยมเขียนอักษรใต้เส้นบรรทัด มีหลักฐานปรากฏอยู่ตลอดมา จนถึงปลายรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อรูปแบบการเขียนอักษรโรมัน ของชาวยุโรปเข้ามาแพร่หลายในประเทศ การเขียนอักษรบนเส้นบรรทัด ตามแบบอักษรโรมัน จึงเริ่มมีขึ้น และเป็นที่นิยมเรื่อยมา จนถึงปลายรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ การเขียนอักษรใต้เส้นบรรทัดก็หมดไป ปัจจุบันนี้เราจึงเห็นแต่การเขียนอักษรบนเส้นบรรทัดเท่านั้น