ปัจจุบันมีดาวเทียมมากกว่า ๒,๐๐๐ ดวง ถูกส่งเข้าสู่วงโคจร เพื่อปฏิบัติงานด้านต่างๆ ดาวเทียมเหล่านี้อาจจำแนกตามลักษณะการใช้ประโยชน์ออกเป็นสามชนิดคือ ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา ดาวเทียมสื่อสาร และดาวเทียมสำรวจทรัพยากร | |
ทุ่นสำรวจข้อมูลทางสมุทรศาสตร์ของโครงการสำรวจและพยากรณ์ทางสมุทรศาสตร์และสภาพแวดล้อมทางทะเล ทุ่นนี้จะส่งข้อมูลผ่านดาวเทียมทุกๆ ชั่วโมงเพื่อให้ข้อมูลที่ตรงกับสภาพความเป็นจริงในขณะนั้น ทำให้สามารถพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ ได้ใกล้เคียงที่สุด | |
การโคจรของดาวเทียมทั้งหมดนี้ มีแตกต่างกันเป็นสองบแบบกล่าวคือ ถ้าไม่โคจรในแนวระนาบ ก็จะต้องโคจรในแนวเหนือใต้รอบโลก การโคจรในแนวระนาบกับเส้นศูนย์สูตร มีความสอดคล้องและเร็ว ในแนววงกลมเท่ากับความเร็วในการหมุนรอบตัวเองของโลก จึงทำให้ดาวเทียมดูเสมือนลอยนิ่งอยู่ ณ ตำแหน่งเดิมเหนือผิวโลก โดยทั่วไปโคจรในระดับสูง ๓๖,๐๐๐ กิโลเมตร ดาวเทียมที่โคจรในลักษณะเช่นนี้ ส่วนใหญ่เป็นดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา และดาวเทียมสื่อสาร | |
ส่วนดาวเทียมที่โคจรอยู่เหนือ-ใต้รอบโลก จะโคจรผ่านแนวศูนย์สูตร ณ เวลาท้องถิ่นเดียวกัน โดยทั่วไปโคจรสูงจากพื้นโลกที่ระดับต่ำกว่า ๒,๐๐๐ กิโลเมตร ดาวเทียมเช่นนี้ มักเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรพิภพ |
จานรับสัญญาณดาวเทียมทรัพยากรธรรมชาติ ขณะรับสัญญาณ | |
ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรที่สำคัญ และสามารถรับสัญญาณได้ในประเทศไทยนั้น มีอยู่ด้วยกันสามดวง คือ ดาวเทียมแลนด์แซต ดาวเทียมสปอต และดาวเทียมมอส ดาวเทียมแลนด์แซต เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรพิภพดวงแรกของโลก สร้างขึ้นโดยองค์การบริหารการบิน และอวกาศ สหรัฐอเมริกา หรือ ที่เรียกชื่อย่อว่า องค์การนาซา (NASA) ดาวเทียมแลนด์แซตมีหลายดวง ที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน มีแลนด์แซต ๔ และ แลนด์แซต ๕ มีระบบบันทึกภาพ และระบบสื่อสารพิเศษ สามารถส่งข้อมูลจากดาวเทียมสู่โลกในเวลาถ่ายภาพได้ทันที ดาวเทียมแลนด์แซตมีสถานีรับสัญญาณดาวเทียมทั่วโลก ดาวเทียมสปอตเป็นดาวเทียมของสถาบันอวกาศแห่งชาติ ฝรั่งเศส ปัจจุบันมีสปอต ๒ โคจรอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ ดาวเทียมสปอตมีอุปกรณ์บันทึกภาพ ซึ่งสามารถถ่ายภาพได้ทั้งแนวดิ่ง และแนวเฉียง ทำให้นำมาศึกษาในลักษณะสามมิติได้อย่างดี ดาวเทียมนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพืชพันธุ์ ภาพคลุมพื้นที่กว้าง และมีรายละเอียดภาพดีกว่า ๑ กิโลเมตร ดาวเทียมมอส เป็นดาวเทียมสำรวจพื้นพิภพ และสมุทรศาสตร์ ขององค์การอวกาศแห่งชาติ ญี่ปุ่น ซึ่งมีชื่อย่อว่า องค์การนาสดา (NASDA) สามารถถ่ายภาพในระยะทางกว้าง ๑๐๐ กิโลเมตร ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุณหภูมิต่างๆ ในทะเล การปกคลุมของเมฆและไอน้ำ การสำรวจปริมาณไอน้ำและน้ำในบรรยากาศ ลมทะเล การแผ่ปกคลุมของหิมะ และน้ำแข็งในทะเล ให้ข้อมูลทางด้านสมุทรศาสตร์ และสามารถวัดตำแหน่งของเรือหรือทุ่นได้ด้วย เครื่องมือภายในสถานีรับฯ ภาคพื้นดิน | |
ภาพที่รับจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรเหล่านี้ มีคุณสมบัติพิเศษแตกต่างจากภาพ ที่ได้จากกล้องถ่ายภาพธรรมดาหลายประการ กล่าวคือ ให้ข้อมูลเป็นตัวเลข ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นภาพขาวดำ และภาพสีผสม ตลอดจนนำมาวิเคราะห์ ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ทำให้มีความถูกต้องยิ่งขึ้น การบันทึกข้อมูลด้วยดาวเทียมนั้น สามารถทำได้เป็นบริเวณกว้างมาก ถึงสามหมื่นตารางกิโลเมตร และสามารถบันทึกภาพได้หลายช่วงคลื่น ทั้งที่สายตามนุษย์มองเห็น และมองไม่เห็น ทำให้อาจแยกวัตถุต่างๆ บนผิวโลกได้อย่างชัดเจน |