ลายไทย พลิ้วไหววงวาดพิลาสเหลือ
ล้วนกระหนกเป็นหลักประจักษ์เจือ เถาเครือกระจังประจำยาม
พุ่มข้าวบิณฑ์เฟื่องอุบะเทพนม กรวยเชิงน่าชมก้านขดข้าม
บัวกระหนกรักร้อยดอกลอยงาม ระบือนามพริ้งพรายลายไทยเอย
ศิลปะการตกแต่งในวัฒนธรรมไทยมีการเขียน การสลัก การปั้นปูนสำหรับประดับประดาสถานที่สำคัญและวัตถุสิ่งของ โดยใช้ลวดลาย ที่เรียกว่า ลายไทย หรือลายกระหนก
ลวดลายกระหนกเปลวที่ตู้พระธรรม สมัยอยุธยา ที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ
การที่ได้ชื่อว่า ลายไทย หรือลายกระหนก เพราะลายไทยมี กระหนก ประกอบอยู่ด้วยเสมอ คำว่า "กระหนก" แปลว่า ทอง ท่านผู้รู้สันนิษฐานว่า ลายกระหนก แต่เดิมหมายถึง ลายทองที่เขียนตู้พระธรรม ต่อมาความหมายเปลี่ยนไปเป็นรูปลักษณ์ของตัวลาย ส่วนคำว่า "ลายไทย" นั้นเพิ่งใช้ในสมัยรัตนโกสินทร์
ลวดลายปูนปั้นประดับเจดีย์รายองค์หนึ่งในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี
ลายไทยมีประวัติความเป็นมานานนับพันปี ต้นแบบของลายไทยคือลวดลายในศิลปะอินเดียโบราณ มีเค้าอยู่ในสมัยศิลปะทวารวดี ซึ่งเป็นสมัยที่พระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้าสู่สุวรรณภูมิ จึงอาจกล่าวได้ว่า ลายไทยเข้ามาพร้อมกับพระพุทธศาสนา
ลักษณะลวดลายกระหนกในสมัยต่างๆ (ภาพโดย สันติ เล็กสุขุม)
ลายไทยได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องทั้งรูปลักษณ์และลวดลาย ด้วยจินตนาการและภูมิปัญญาของช่างไทย
ด้านรูปลักษณ์ ลายกระหนกในลายไทยแต่แรกเริ่มมีรูปร่างเหมือนเลข ๑ ที่มีหัวจุก ต่อมาในสมัยทวารวดี ลายกระหนกมีลักษณะที่ปัจจุบันเห็นว่าคล้ายใบผักกูด โดยมีขอบใบเป็นหยักโค้ง จึงตั้งชื่อเรียกว่า กระหนกผักกูด กระหนกลวดลายแบบเขมรที่พบในไทย เช่น ที่ปราสาทพนมรุ้ง มีลักษณะรูปทรงที่ล่ำสัน กระหนกแบบหริภุญชัยมีลักษณะเด่น คล้ายรูปใบไม้ก้านม้วนใบพลิก กระหนกแบบสุโขทัยมีลักษณะเป็นแถววงโค้งเรียงซ้อนสลับคล้ายแบบล้านนา โดยก่อนสมัยอยุธยา ลายกระหนกยังได้รับอิทธิพลของขอมหรือเขมรโบราณ ครั้นถึงสมัยอยุธยาลวดลายบางลงและลดความซับซ้อนลง ต่อมา ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ลายกระหนก มีความวิจิตรและประณีตจนถือกันว่าเป็นงานชั้นครู ซึ่งเป็นแบบอย่างมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์
ลวดลายกรวยเชิง ปูนปั้นประดับส่วนล่างของผนัง ที่วัดส้ม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ช่างไทยนำกระหนกมาผูกเป็นลวดลายโดยได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติที่อยู่รอบตัว ทั้งต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ และเถาวัลย์ ล้วนเป็นแม่แบบในการประดิษฐ์ลายกระหนกที่อ่อนช้อย สวยงาม และมีมากมายหลายลักษณะ เช่น ลายพรรณพฤกษา ลายเครือเถา ลายประจำยาม ทั้งนี้ ในการออกแบบลวดลายต้องคำนึงถึงพื้นที่ที่จะใช้ประดับ ลวดลายจะต้องเหมาะสมกับพื้นที่ เช่น ลายกรวยเชิง เหมาะสำหรับประดับพื้นที่ส่วนล่างของผนัง ส่วนลายเฟื่องอุบะเหมาะที่จะใช้ประดับพื้นที่ส่วนบนของผนัง
ลวดลายเฟื่องอุบะ ปูนปั้นประดับส่วนบนของผนัง ที่วัดส้ม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สิ่งแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของลายไทย-ลายกระหนก จากที่เคยใช้ประดับประดา อยู่แต่ในวัดหรือในวัง ก็แพร่หลายสู่สังคมในวงกว้าง ส่วนด้านรูปลักษณ์ แม้ในปัจจุบันลายไทย-ลายกระหนก จะเป็นลวดลายเอกลักษณ์ประจำชาติ แต่ก็ยังมีความหลากหลาย โดยอาจแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่

ลวดลายตู้พระธรรม ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ
นำลายกระหนกมาผูกประกอบกับลายรูปสัตว์ ใบไม้ ดอกไม้
กลุ่มที่ ๑ แบบฉบับแห่งชาติ
ลายกระหนกมีหลักเกณฑ์และสัดส่วนเฉพาะ ใช้ในงานช่างหลวง งานช่างจากกรมศิลปากร และจากครูช่างสังกัดสถาบันการศึกษา
ลวดลายกระหนกที่ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ
กลุ่มที่ ๒ แบบท้องถิ่น
ลายกระหนกมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น โดยถ่ายทอดกันในท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันกำลังถูกกลุ่มแบบฉบับแห่งชาติ แทนที่เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีบางท้องถิ่นที่สามารถดำรงเอกลักษณ์ส่วนใหญ่ของตนไว้อย่างเหนียวแน่น เช่น ลวดลายงานเขียนสีเรือกอและของภาคใต้
ลวดลายเขียนสีบนเรือกอและ จังหวัดปัตตานี
กลุ่มที่ ๓ แบบร่วมสมัย
ลายกระหนกกลุ่มนี้สะท้อนลักษณะเฉพาะตัวของช่างหรือศิลปินปัจจุบัน โดยไม่เคร่งครัดตามแบบฉบับแห่งชาติ
ลวดลายกระหนกแบบร่วมสมัย ฝีมือสันติ เล็กสุขุม
ลายไทย-ลายกระหนกมีเอกลักษณ์โดดเด่น เป็นสาระสำคัญของลวดลายประดับตามศิลปะไทย พัฒนาการอันยาวนาน ของลายไทย-ลายกระหนก สะท้อนให้เห็นความยืดหยุ่น ในด้านรูปลักษณ์ การออกแบบ และการนำไปใช้งาน ตามเอกลักษณ์อย่างไทยได้เป็นอย่างดี