เล่มที่ 37
ศิลปินแห่งชาติ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ศิลปินจำนวนมากที่ได้สร้างผลงานศิลปะให้แก่แผ่นดินในขณะที่มีชีวิตอยู่ เมื่อเสียชีวิตไปแล้ว ทางราชการไม่ได้มีโครงการช่วยเหลือใดๆ นายชวน  หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี เห็นความสำคัญของศิลปินอย่างยิ่ง จึงริเริ่มให้มีโครงการยกย่องเชิดชูเกียรติ ใน พ.ศ. ๒๕๒๗ เพื่อส่งเสริมสนับสนุน และให้กำลังใจแก่ศิลปิน โดยมอบหมายให้ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกศิลปินผู้สร้างผลงานศิลปะที่มีคุณค่าและแสดงศักดิ์ศรีของชาติ เพื่อประกาศเกียรติคุณเป็น "ศิลปินแห่งชาติ" ทำให้ประเทศไทยได้รับการยกย่องสรรเสริญจากนานาอารยประเทศว่า มีวัฒนธรรมโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และศักดิ์ศรี เป็นการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ๓ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการรักษามรดกวัฒนธรรมให้คงอยู่และสืบทอดกันต่อไป

            พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปิน ทรงได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ทรงเชี่ยวชาญศิลปะทั้ง ๓ สาขา ได้แก่ สาขาทัศนศิลป์ สาขาศิลปะการแสดง และสาขาวรรณศิลป์ ทรงมีผลงานด้านศิลปะในทุกสาขา โดยทรงปั้นหุ่นพระพักตร์พระพุทธรูปองค์พระประธาน ในพระอุโบสถ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ทรงซอสามสายชื่อ "สายฟ้าฟาด" บรรเลงเพลงบุหลันลอยเลื่อน ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง อิเหนา เป็นต้น ดังนั้น วันพระราชสมภพของพระองค์ คือ วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ จึงถือเป็น "วันศิลปินแห่งชาติ"


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช องค์ "อัครศิลปิน"

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นเลิศในศิลปะทุกสาขา ทั้งในด้านดนตรีสากล เพลงพระราชนิพนธ์ และพระราชนิพนธ์เรื่องต่างๆ ภาพถ่ายและภาพวาดฝีพระหัตถ์ ทรงอุปถัมภ์ศิลปินทั้งหลายโดยเท่าเทียมกัน งานศิลปะของพระองค์ เป็นสื่อเชื่อมความเข้าใจและความสัมพันธ์ นำพาความสุขมาสู่ราษฎร

            ในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๙ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา "อัครศิลปิน" แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ที่มีการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ได้แก่ นายเฟื้อ  หริพิทักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ นายมนตรี  ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ท่านผู้หญิงแผ้ว  สนิทวงศ์เสนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ศิลปินทั้ง ๔ คนได้เข้ารับพระราชทานเครื่องหมายเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติจากองค์ "อัครศิลปิน"


ภาพเขียนสีน้ำมัน ฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

            สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงเป็นเลิศในด้านศิลปะ และทรงเป็นเมธีวัฒนธรรม ทรงพระมหากรุณาธิคุณต่องานศิลปะและวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง ดังเห็นได้จากการทรงระนาดและซอด้วง ทรงพระราชนิพนธ์บทกวี บทเพลง เรื่องสั้น สารคดี รวมทั้งทรงวาดภาพและถ่ายภาพ ดังนั้น ในวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา "วิศิษฏศิลปิน"

            คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นคณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นชอบ และประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติประจำปี โดยประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติลงนามประกาศเกียรติคุณ และนำศิลปินแห่งชาติเข้ารับพระราชทานเครื่องหมายเชิดชูเกียรติจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีการจัดงานยกย่องเชิดชูเกียรติ เช่น จัดงานเลี้ยงแสดงความยินดีแก่ศิลปินแห่งชาติ จัดแสดงผลงาน จัดนิทรรศการ ผลิตสื่อเผยแพร่ จัดทำฐานข้อมูล ของศิลปินแห่งชาติ และเผยแพร่ถ่ายทอดภูมิปัญญาของศิลปินแห่งชาติ นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ และประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ ปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๕ มีศิลปินสาขาต่างๆ ที่ได้รับการคัดเลือก เป็นศิลปินแห่งชาติ รวมทั้งสิ้น ๒๒๑ คน เสียชีวิต ๙๔ คน และยังมีชีวิต ๑๒๗ คน


นิทรรศการชีวประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ จัดแสดงที่หออัครศิลปิน
ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

            ผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติจะได้รับเงินตอบแทนเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท ตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ นอกจากนี้ ยังได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลเฉพาะตัว เพื่อเป็นประโยชน์ตอบแทนศิลปินแห่งชาติ โดยเบิกจ่ายเงิน จากกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม

            เราสามารถศึกษาชีวประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติได้ ณ หออัครศิลปิน ที่ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี  ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระอัจฉริยภาพในศิลปะทั้งมวล ในโอกาส ทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี