คนเรามีสัญชาตญาณของการบอกข่าว ในสมัยก่อนมีการแจ้งข่าวสารถึงกันด้วยวิธีตีเกราะเคาะไม้ ตีระฆัง เป่าเขาสัตว์ เป่าสังข์ เพื่อส่งสัญญาณเสียง ก่อไฟเพื่อส่งสัญญาณควัน หรือแม้กระทั่งแต่งบทเพลงร้องรำเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ตนได้ไปประสบพบเห็นมา
ครั้นเมื่อคนสามารถคิดประดิษฐ์ตัวอักษรได้ ก็เขียนเล่าเหตุการณ์ลงบนกระดาษหรือผ้า แล้วส่งไปยังผู้รับปลายทาง เรื่องราวที่เขียนลงไปบนกระดาษหรือผ้านี้ เรียกกันว่า "หนังสือข่าว" หรือ "จดหมายข่าว" ต่อมาใน พ.ศ. ๑๙๘๓ โยฮันน์ กูเทนแบร์ก (Johann Gutenberg) ชาวเยอรมัน ได้คิดประดิษฐ์แท่นพิมพ์ชนิดหมุนขึ้นในประเทศเยอรมนี แท่นพิมพ์ชนิดนี้ สามารถตีพิมพ์ได้รวดเร็ว อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้มีผู้นำมาใช้พิมพ์หนังสือข่าวซึ่งรายงานเหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ถือได้ว่า เป็นต้นกำเนิดของหนังสือพิมพ์ ในสมัยต่อมา

คนในสมัยก่อน แจ้งข่าวสารด้วยวิธีตีเกราะเคาะไม้
อาจกล่าวได้ว่า ประเทศในทวีปยุโรปคือแหล่งกำเนิดของหนังสือพิมพ์ ทั้งในเชิงปรัชญา อุดมการณ์ รูปแบบ และเทคโนโลยี ต่อมา ในครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๔ วิทยาการหนังสือพิมพ์จึงแพร่กระจายเข้ามาสู่สังคมไทย โดยนายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) ชาวอเมริกัน ซึ่งคนไทยเรียกกันว่า หมอบรัดเล เป็นผู้นำเข้ามา
หมอบรัดเลจัดทำหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของกรุงสยามชื่อว่า บางกอกรีคอร์เดอร์ (The Bangkok Recorder) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๗ โดยออกเป็นรายปักษ์ และตีพิมพ์เป็นภาษาไทย แต่จำหน่ายได้เพียงปีเศษ ก็เลิกไป เนื่องจากหมอบรัดเลเห็นว่า รัฐบาลไทยไม่ให้การสนับสนุน ต่อมา หมอบรัดเลได้ออกหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ขึ้นใหม่อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ได้นำเสนอทัศนะใหม่ๆ ในการมองโลก ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ถือเป็นหนังสือพิมพ์ ที่มีบทบาทยิ่ง ในการโน้มน้าวสังคมไทยสมัยนั้น ไปสู่กระแสอารยธรรมตะวันตก

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ตราบจนกระทั่งทุกวันนี้ หนังสือพิมพ์ก็ยังมีบทบาทอยู่ในสังคมไทย ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เป็นสื่อกลาง ที่เผยแพร่ ข้อมูลข่าวสาร และความคิดเห็นที่หลากหลายแก่มวลชน จึงเป็นกลไกที่สำคัญยิ่ง ในการสนับสนุนสังคมประชาธิปไตย ให้ก้าวหน้าไปได้ อย่างมีประสิทธิภาพ
ในด้านการบริหารจัดการหนังสือพิมพ์นั้น เจ้าของอาจบริหารเองโดยตรง หรือบริหารโดยหุ้นส่วนก็ได้ หน่วยงานหลักในหนังสือพิมพ์ มี ๓ กอง ได้แก่ กองบรรณาธิการ กองจัดการ และกองการผลิต ทุกกองต้องมีการทำงานที่ประสานกันอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ กองที่สำคัญที่สุดคือ กองบรรณาธิการ โดยมีบรรณาธิการใหญ่เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดขององค์กรหนังสือพิมพ์
หนังสือจดหมายเหตุบางกอกรีคอร์เดอร์
หนังสือพิมพ์ของไทยส่วนมาก มีขนาดใหญ่ และมีรูปแบบการจัดหน้าและภาพ ที่หลากหลาย การออกแบบจัดหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถดึงดูดใจผู้อ่านได้ จึงต้องอาศัยศิลปะ ในการสร้างความกลมกลืน ระหว่างรายละเอียดของข่าว และภาพ ตั้งแต่หน้าแรก จนถึงหน้าสุดท้าย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ไทยมีบทบาทสำคัญยิ่งในสังคม โดยเป็นผู้ให้ข่าวสารทั้งที่เกิดในประเทศ และต่างประเทศ หนังสือพิมพ์ไม่ใช่สื่อของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นสื่อของมวลชนทั้งหมดในสังคม ดังนั้น หนังสือพิมพ์จึงต้องมีเสรีภาพ ในการนำเสนอความจริงอย่างตรงไปตรงมา และปราศจากอคติ

หนังสือพิมพ์ของไทย ส่วนมากมีขนาดใหญ่ มีข่าว และภาพที่หลากหลาย
ในระบอบประชาธิปไตย หนังสือพิมพ์เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน เพราะประชาชนจำเป็นต้องทราบว่า รัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่ หรือมีนโยบายจะทำอะไร ดังนั้น ผู้ที่มีอำนาจในการบริหารประเทศ จึงต้องดำเนินการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และทำตามคำมั่นสัญญา ที่ให้ไว้แก่ประชาชน
การที่หนังสือพิมพ์มีหน้าที่เฝ้าดูการทำงานของรัฐบาล ทำให้มีผู้เรียกหนังสือพิมพ์ว่า เป็น "สุนัขเฝ้าบ้าน" ของประชาชน กล่าวคือ ประชาชนเปรียบเสมือนเจ้าของบ้าน หากมีคนร้ายจะเข้ามาขโมยสิ่งของหรือปล้นบ้าน สุนัขก็ต้องส่งเสียงเห่าหอนให้รู้ตัว ด้วยวิธีนี้ ถือกันว่า จะทำให้สังคมสงบสุข เพราะผู้มีอำนาจไม่กล้าข่มเหงผู้อ่อนแอกว่า เป็นการสร้างดุลยภาพให้เกิดขึ้นในสังคมนั้น

หนังสือพิมพ์เป็นเครื่องมือสำคัญที่ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน
หนังสือพิมพ์ยังมีบทบาทในการให้การศึกษาแก่ผู้อ่าน เป็นการให้ความรู้ด้วยข้อมูลข่าวสาร และเป็นกระจกสะท้อนสังคม เราสามารถทราบความเป็นไปของสังคมได้จากการอ่านหนังสือพิมพ์ โดยหนังสือพิมพ์ทำหน้าที่เสนอข่าวสารให้ประชาชนรู้ และติดตามเหตุการณ์ของสังคมและบ้านเมือง ด้วยเหตุที่ประชาชนจำเป็นต้องบริโภคข่าวสารไม่แตกต่างจากการที่ต้องใช้น้ำประปา ไฟฟ้า ดังนั้น หนังสือพิมพ์จึงทำหน้าที่เสมือนเป็นสาธารณูปโภคชนิดหนึ่งด้วยที่ทำให้ชีวิตของคนสะดวกสบาย ปลอดภัย และได้รับความเพลิดเพลิน
เนื่องจากหนังสือพิมพ์เป็นสื่อเพื่อประชาชน ดังนั้น หนังสือพิมพ์จึงต้องยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง บทบาทหน้าที่ ของหนังสือพิมพ์พึงเป็นไป เพื่อการสร้างสรรค์ สังคม ให้ประชาชนดำรงชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างมีสันติสุข และเพื่อให้หนังสือพิมพ์สามารถปฏิบัติหน้าที่นี้ได้ โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาลหรือหน่วยงานอื่นใด หนังสือพิมพ์จึงต้องมีเสรีภาพ แต่ในเสรีภาพนั้นจะต้องมีความรับผิดชอบควบคู่ไปด้วย

การอ่านข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ทางอินเทอร์เน็ต
การเติบโตของเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม เครือข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง และอินเทอร์เน็ต ทำให้หนังสือพิมพ์ต้องปรับตัว ให้เข้ากับพัฒนาการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น
เทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูลส่งผลกระทบต่อสื่อหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือ ข้อมูลข่าวสารกระจายไปอย่างกว้างขวาง แต่ข้อเสียคือ ความไม่รับผิดชอบของผู้ที่เข้ามาใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อแพร่กระจายข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ โดยมีการเข้ามาให้ร้ายผู้อื่นบ้าง หรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคลบ้าง ปัญหาดังกล่าว จึงทำให้ประเทศต่างๆ ต้องหาทางกำหนดแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และนำไปสู่สังคมความรู้ที่มีคุณภาพยิ่งต่อไป
เด็กๆ เป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งจะต้องเป็นผู้ใช้หนังสือพิมพ์และเทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูล ข่าวสารให้มีประโยชน์ต่อสังคมในภายหน้า จึงจำเป็นต้องรู้จักแยกแยะหนังสือพิมพ์ที่ดี และไม่ดีออกจากกัน รวมทั้งใช้เทคโนโลยีการสื่อสารอย่างมีคุณค่า