เล่มที่ 1
ดนตรีไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การฟังเพลงไทย

            วงดนตรีแต่ละอย่าง ย่อมมีวิธีบรรเลงและเสียงของเครื่องดนตรีต่างกัน จึงต้องรู้จักวงดน- ตรีที่ฟังนั้นเสียก่อน วงปี่พาทย์ที่ตีด้วยไม้แข็ง ก็ย่อมมีเสียงแกร่งกร้าว มักบรรเลงค่อนข้างเร็ว และ โลดโผน วงปี่พาทย์ไม้นวม การบรรเลงก็จะต้องค่อนข้างช้า ไพเราะในทางนุ่มนวล วงมโหรีจะ ต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย ส่วนวงเครื่องสาย อาจมีได้ทั้งรุกเร้า รวดเร็ว และไพเราะนุ่มนวล เมื่อรู้เช่นนี้ ขณะฟังวงอะไรบรรเลงก็ฟังโดยทำใจให้เป็นไปตามลักษณะของวงชนิดนั้น

วงมโหรีโบราณ (เครื่องหก)
วงมโหรีโบราณ (เครื่องหก)

            การฟังเพลง สิ่งสำคัญก็อยู่ที่ทำนอง เครื่องดนตรีที่บรรเลงทุกๆ อย่างย่อมมีทำนองของตัว จะต้องฟังดูว่า เครื่องดนตรีทุกๆ อย่างนั้น ดำเนินทำนองสอดคล้องกลมเกลียวกันดีหรือไม่ และต่าง ทำถูกตามหน้าที่ (ดังที่กล่าวมาในเรื่องผสมวง) หรือไม่ เช่น ซออู้ทำหน้าที่หยอกล้อยั่วเย้าหรือเปล่า หรือ ฆ้องวงเล็ก ตีสอดแทรกทางเสียงสูงดีหรือไม่ เป็นต้น เมื่อสังเกตการบรรเลงอย่างนั้นแล้ว จึงทำอารมณ์ให้เป็นไปตามอารมณ์ของเพลง เพราะทำนองเพลงย่อมแสดงอารมณ์โศก รัก รื่นเริง หรือขับกล่อมให้เพลิดเพลิน เพลงอารมณ์โศก และรัก มักจะมีจังหวะช้าๆ และเสียงยาว เพลง รื่นเริง มักจะมีจังหวะค่อนข้างเร็ว และเสียงสั้น ส่วนเพลงขับกล่อม ก็มักจะเป็นพื้นๆ เรียบๆ สม่ำเสมอ ทั้งนี้จะต้องสังเกตด้วยเสียงของทำนองที่มาสู่อารมณ์เราด้วย ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าเมื่อฟัง เพลงในอารมณ์ใด ก็ตั้งใจฟังไปในอารมณ์นั้น ก็จะได้รสไพเราะจากการฟังได้อย่างแท้จริง