เล่มที่ 1
ดนตรีไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

การผสมวง

            ผสมวง คือ การเอาเครื่องดนตรีหลายๆ อย่างมาบรรเลงรวมกัน แต่การที่จะนำเอาเครื่อง ดนตรีคนละอย่างมาบรรเลงพร้อมๆ กันนี้ จะต้องพิจารณาเลือกแต่สิ่งที่มีเสียงกลมกลืนกันและ ไม่ดังกลบเสียงกัน สมัยโบราณนั้นเครื่องดีดก็จะผสมแต่กับเครื่องสี เพราะมีเสียงที่ค่อนข้างเบา ด้วยกัน และเครื่องตีก็จะผสมแต่เฉพาะกับเครื่องเป่าเท่านั้น เพราะมีเสียงค่อนข้างดังมากด้วยกัน ภายหลังเมื่อรู้จักวิธีสร้างหรือแก้ไขเครื่องตีและเครื่องเป่าให้ลดความดังลงได้พอเสมอกับเครื่องดีด เครื่องสี จึงได้นำเครื่องตี และเครื่องเป่าเหล่านั้นบางอย่างเข้าผสมเฉพาะ แต่ที่ต้องการและจำเป็น และเลือกดูว่า เครื่องดนตรีอย่างไหนทำเสียงสูงๆ ต่ำๆ ได้หลายเสียง ก็ให้บรรเลงเป็นทำนอง อย่าง ไหนทำเสียงสูงต่ำหลายๆ เสียงไม่ได้ ก็ให้เป็นพวกบรรเลงประกอบจังหวะ

วงดนตรีไทยที่ผสมเป็นวงและถือเป็นแบบแผน มีอยู่ ๓ อย่างคือ วงปี่พาทย์ วงเครื่องสาย และวงมโหรี นอกจากนี้ถือว่า เป็นวงพิเศษ

วงปี่พาทย์

วงปี่พาทย์ ผสมด้วยเครื่องตีและเป่า มีอยู่ ๓ ขนาด คือวงปี่พาทย์เครื่องห้า วงปี่พาทย์ เครื่องคู่ และวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่
วงปี่พาทย์เครื่องห้า
วงปี่พาทย์เครื่องห้า
วงปี่พาทย์เครื่องห้า มีเครื่องดนตรีที่ผสมในวง โดยมีวิธีบรรเลงและหน้าที่ต่างๆ กันดังนี้
๑. ปี่ใน เดินทำนองถี่ๆ บ้าง โหยหวนเป็นเสียงยาวบ้าง มีหน้าที่ดำเนินทำนองและช่วยนำวงด้วย
๒. ระนาดเอก ตีพร้อมกัน ๒ มือเป็นคู่ ๘ เดินทำนองเก็บถี่ๆ โดยตลอด มีหน้าที่เป็นผู้นำวง
๓. ฆ้องวงใหญ่ ตีพร้อมกัน ๒ มือบ้าง ตีมือละลูกบ้าง มีหน้าที่ดำเนินทำนองเนื้อเพลง เป็นหลักของวง
๔. ตะโพน ตีมือละหน้า ให้เสียงสอดสลับกัน มีหน้าที่กำกับจังหวะหน้าทับให้รู้วรรคตอน ของเพลง และเป็นผู้นำกลองทัดด้วย
๕. กลองทัด ตีห่างบ้างถี่บ้าง ตามแบบแผนของแต่ละเพลง
๖. ฉิ่ง โดยปกติตีสลับกันให้ดังฉิ่งทีหนึ่ง ดังฉับทีหนึ่ง โดยสม่ำเสมอ มีหน้าที่กำกับจังหวะ ย่อย ให้รู้จังหวะเบาจังหวะหนัก

วงปี่พาทย์เครื่องคู่

มีเครื่องดนตรีที่ผสมเป็นวงดังนี้

๑. ปี่ใน (วิธีเป่าและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)
๒. ระนาดเอก (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)
๓. ระนาดทุ้ม ตีพร้อมกันทั้งสองมือบ้าง ตีมือละลูกบ้าง และมือละหลายๆ ลูกบ้าง มี หน้าที่สอดแทรก หยอกล้อ ยั่วเย้า ไปกับทำนองให้สนุกสนาน
๔. ฆ้องวงใหญ่ (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)
๕. ฆ้องวงเล็ก ตีเก็บถี่ๆ มือละลูกบ้าง มือละหลายๆ ลูกบ้าง มีหน้าที่สอดแทรกทำนอง ในทางเสียงสูง
๖. ตะโพน (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)
๗. กลองทัด (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)
๘. ฉิ่ง (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)

ปี่พาทย์เครื่องคู่นี้ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
วงปี่พาทย์เครื่องคู่
วงปี่พาทย์เครื่องคู่
วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ มีเครื่องดนตรีผสมอยู่ในวงดังนี้

๑. ปี่ใน (วิธีเป่าและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)
๒. ระนาดเอก (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)
๓. ระนาดทุ้ม (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องคู่)
๔. ระนาดเอกเหล็ก ตีพร้อมกันทั้งสองมือ เป็นคู่ ๘ เดินทำนองถี่ๆ บ้าง ตีกรอบ้าง เช่นเดียวกับระนาดเอก แต่มีหน้าที่เพียงช่วยให้เสียงกระหึ่มขึ้นเท่านั้น ไม่มีหน้าที่เป็นผู้นำวง
๕. ระนาดทุ้มเหล็ก ตีมือละลูก หรือหลายๆ ลูก เดินทำนองห่างๆ มีหน้าที่ยั่วเย้าทำนองเพลงห่างๆ
๖. ฆ้องวงใหญ่ (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)
๗. ฆ้องวงเล็ก (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องคู่)
๘. ตะโพน (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)
๙. กลองทัด (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)
๑๐. ฉิ่ง (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)
วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่นี้ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

            ในวงปี่พาทย์ทั้งเครื่องห้า เครื่องคู่ และเครื่องใหญ่นี้ ถ้าการบรรเลงบางเพลงเห็นควรมีฉาบ เล็ก ฉาบใหญ่ หรือ โหม่ง ก็นำมาผสมกันได้ โดยมีหน้าที่ดังนี้

            ฉาบเล็ก ตีได้ทั้งให้ข้างๆ กระทบกัน หรือ ตี ๒ ฝาเข้าประกบกัน มีหน้าที่หยอกล้อ ยั่วเย้าไปกับฉิ่ง หรือให้สอดคล้องกับทำนองเพลง

            ฉาบใหญ่ ตี ๒ ฝาเข้าประกบกันตามจังหวะห่างๆ มีหน้าที่ช่วยกำกับจังหวะห่างๆ ถ้า เป็นเพลงสำเนียงจีนก็ตีให้เข้ากับทำนอง

โหม่ง ตีตรงปุ่มด้วยไม้ตีตามจังหวะห่างๆ มีหน้าที่ควบคุมจังหวะห่างๆ
วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่
วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่
            การบรรเลงปี่พาทย์นี้ โดยปกติระนาดเอกและฆ้องวงใหญ่จะใช้ไม้แข็งตี แต่ถ้าต้องการให้ มีเสียงนุ่มนวล ก็เปลี่ยนไม้ตีเป็นไม้นวมเสียทั้งสองอย่าง เรียกว่า "ปี่พาทย์ไม้นวม"

            ถ้าบรรเลงประกอบการขับเสภา ซึ่งมีร้องส่ง ก็เอาตะโพน และกลองทัดออก ใช้ "สองหน้า" ตีกำกับจังหวะหน้าทับ และใช้ได้ทั้งปี่พาทย์เครื่องห้า เครื่องคู่ และเครื่องใหญ่ ใช้ไม้แข็งตี ตามปกติ

            หากจะให้เป็นปี่พาทย์นางหงส์ ก็เอาตะโพน กลองทัด และปี่ในออก เอา "ปี่ชวา" และ "กลองมลายู" เข้ามาแทน ปี่พาทย์นางหงส์นี้ใช้เฉพาะงานศพเท่านั้น

วงเครื่องสาย

            วงเครื่องสาย เป็นวงดนตรีที่มีเครื่องดีด และเครื่องสีเป็นหลัก มีเครื่องเป่าและเครื่องตีที่ ได้เลือกว่ามีเสียงเหมาะสมกันผสม ดังนี้

เครื่องสายวงเล็ก มีเครื่องดนตรีผสมในวง และมีหน้าที่ต่างๆ กันคือ

๑. ซอด้วง สีเป็นทำนองเพลงมีถี่บ้าง โหยหวนเป็นเสียงยาวบ้าง มีหน้าที่เป็นผู้นำวง และ เป็นหลักในการดำเนินเนื้อเพลง
๒. ซออู้ สีหยอกล้อยั่วเย้าไปกับทำนองเพลง
๓. จะเข้ ดีดเก็บถี่ๆ บ้าง ห่างๆ บ้าง สอดแทรกทำนองให้เกิดความไพเราะ
๔. ขลุ่ยเพียงออ เป่าเก็บถี่ๆ บ้าง โหยหวนเป็นเสียงยาวบ้าง ดำเนินทำนองเพลง
๕. โทน ตีให้สอดสลับกับรำมะนา กำกับจังหวะหน้าทับ
๖. รำมะนา ตีให้สอดสลับกับโทน กำกับจังหวะหน้าทับ โทนกับรำมะนานี้ ต้องตีให้สอดคล้องกัน เหมือนเครื่องดนตรีอย่างเดียว เพราะฉะนั้นบางที จึงใช้คนเดียวตีทั้งสองอย่าง
๗. ฉิ่ง (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์)

วงเครื่องสายเครื่องคู่ มีเครื่องดนตรีผสมอยู่ในวงและมีหน้าที่ดังนี้

๑. ซอด้วง ๒ คัน การสีเหมือนในเครื่องสายวงเล็ก แต่มีหน้าที่การนำวงมีเพียงคันเดียว อีก คันหนึ่งเพียงช่วยเป็นหลักในการดำเนินเนื้อเพลง
๒. ซออู้ ๒ คัน (การสีและหน้าที่เหมือนในเครื่องสายวงเล็ก)
๓. จะเข้ ๒ ตัว (การดีดและหน้าที่เหมือนในเครื่องสายวงเล็ก)
๔. ขลุ่ยเพียงออ (วิธีเป่าและหน้าที่เหมือนในเครื่องสายวงเล็ก)
๕. ขลุ่ยหลิบ วิธีเป่าเหมือนกับขลุ่ยเพียงออ แต่มีหน้าที่สอดแทรกทำนองไปในทางเสียงสูง
๖. โทน (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในเครื่องสายวงเล็ก)
๗. รำมะนา (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในเครื่องสายวงเล็ก)
๘. ฉิ่ง (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)
วงเครื่องสายเครื่องคู่
วงเครื่องสายเครื่องคู่
วงมโหรี

            มโหรี เป็นวงดนตรีผสม ตั้งแต่มีไม่กี่สิ่ง จนกลายเป็นวงเครื่องสายผสมกับวงปี่พาทย์ ดังจะกล่าวต่อไปนี้

วงมโหรีโบราณ มีเครื่องดนตรีและผู้บรรเลงเพียง ๔ คน

๑. ซอสามสาย สีเก็บบ้าง โหยหวนเสียงยาวๆ บ้าง มีหน้าที่คลอเสียงคนร้องและดำเนิน ทำนองเพลง
๒. กระจับปี่ ดีดดำเนินทำนองถี่บ้างห่างบ้าง เป็นหลักในการดำเนินเนื้อเพลง
๓. โทน ตีให้สอดสลับไปแต่อย่างเดียว (เพราะยังไม่มีรำมะนา) มีหน้าที่กำกับจังหวะ หน้าทับ
๔. กรับพวง ตีตามจังหวะห่างๆ มีหน้าที่กำกับจังหวะย่อย ซึ่งคนร้องเป็นผู้ตี

            วงมโหรีอย่างนี้ได้ค่อยๆ เพิ่มเครื่องดนตรีมากขึ้นเป็นขั้นๆ ขั้นแรกเพิ่มรำมะนาให้ตีคู่กับ โทน แล้วเพิ่มฉิ่งแทนกรับพวง ต่อมาก็เพิ่มขลุ่ยเพียงออ และนำเอาจะเข้เข้ามาแทนกระจับปี่ ต่อจากนั้น ก็นำเอาเครื่องดนตรีในวงเครื่องสายและวง ปี่พาทย์เข้ามาผสม แต่เครื่องดนตรีที่นำมาจาก วงปี่พาทย์นั้น ทุกๆ อย่างจะต้องย่อขนาดให้เล็กลง เพื่อให้เสียงเล็กและเบาลง ไม่กลบเสียง เครื่องดีดเครื่องสีที่มีอยู่แล้ว มีขนาดวงตามลำดับ ดังนี้

วงมโหรีวงเล็ก มีเครื่องดนตรีดังนี้

๑. ซอสามสาย (วิธีสีและหน้าที่เหมือนในวงมโหรีโบราณ)
๒. ระนาดเอก (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์)
๓. ฆ้องวง เนื่องจากย่อขนาดเล็กลงกว่าฆ้องวงใหญ่ และใหญ่กว่าฆ้องวงเล็กในวง ปี่พาทย์ จึงมักเรียกว่า "ฆ้องกลาง" หรือ "ฆ้องมโหรี" วิธีตีและหน้าที่เหมือนฆ้องวง ใหญ่ในวงปี่พาทย์
๔. ซอด้วง (วิธีสีเหมือนในวงเครื่องสาย แต่ไม่ต้องเป็นผู้นำวง เพราะมีระนาดเอกเป็น ผู้นำวงอยู่แล้ว)
๕. ซออู้ (วิธีสีและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสาย)
๖. จะเข้ (วิธีดีดและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสาย)
๗. ขลุ่ยเพียงออ (วิธีเป่าและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสาย)
๘. โทน (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสาย)
๙. รำมะนา (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสาย)
๑๐. ฉิ่ง (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์)

             วงมโหรีเครื่องคู่ มีเครื่องดนตรีที่ผสมอยู่ในวง ทั้งวิธีบรรเลงและหน้าที่ เหมือนกับวงมโหรีวงเล็กทุกอย่าง แต่เพิ่มซอด้วงเป็น ๒ คัน ซออู้เป็น ๒ คัน จะเข้เป็น ๒ ตัว กับเพิ่มเครื่องดนตรีอีก ๓ อย่าง คือ

๑. ขลุ่ยหลิบ วิธีเป่าและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสายเครื่องคู่
๒. ระนาดทุ้ม วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องคู่
๓. ฆ้องวงเล็ก มีขนาดเล็กกว่าฆ้องวงเล็กในวงปี่พาทย์ วิธีตีและหน้าที่เหมือนอย่างใน วงปี่พาทย์เครื่องคู่ บางทีก็เพิ่มซอสามสายคันเล็ก เรียกว่า ซอสามสายหลิบ อีก ๑ คัน
วงมโหรีเครื่องใหญ่
วงมโหรีเครื่องใหญ่
วงมโหรีเครื่องใหญ่ มีเครื่องดนตรีที่ผสมอยู่ในวง ตลอดจนวิธีบรรเลงและหน้าที่เหมือนกับวงมโหรีเครื่องคู่ทุก อย่าง แต่เพิ่มเครื่องดนตรีขึ้นอีก ๒ อย่าง คือ
๑. ระนาดเอกเหล็ก (หรือทอง) วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่
๒. ระนาดทุ้มเหล็ก (หรือทอง) วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่

            ในสมัยปัจจุบันมักจะเพิ่ม "ขลุ่ยอู้" ขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ขลุ่ยอู้นี้วิธีเป่าเหมือนกับขลุ่ยเพียงออ แต่มีหน้าที่ดำเนินเนื้อเพลงเป็นทำนองห่างๆ ในทางเสียงต่ำ ส่วนฉาบเล็ก ฉาบใหญ่ และโหม่ง ผสมได้ทั้งวงเล็ก เครื่องคู่ และเครื่องใหญ่มีหน้าที่ อย่างเดียวกับที่กล่าวแล้วในวงปี่พาทย์