เล่มที่ 12
การสหกรณ์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประวัติการสหกรณ์ของไทย

            "สหกรณ์" เป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นใช้ เมื่อต้นสมัยรัชกาลที่ ๖ มาจากคำภาษาอังกฤษว่า cooperation แปลว่า การร่วมกันทำงาน การทำงานด้วยกัน หรือการร่วมมือกัน


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงริเริ่มให้มีการสหกรณ์ขึ้นเป็นครั้งแรก ในประเทศไทย

            สหกรณ์แห่งแรกของประเทศไทยคือ สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ จดทะเบียนสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติสมาคมเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๕๙ เมื่อ วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๙ ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก สหกรณ์ในสมัยแรกๆ ส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์ขนาดเล็ก และมีวัตถุประสงค์ เพื่อความจำเป็นเฉพาะอย่างเพียงอย่างเดียว หรือที่เรียกว่า "สหกรณ์เอกประสงค์" กล่าวคือ มีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดหาทุนมาให้สมาชิกกู้ เพื่อนำไปไถ่ถอนหนี้เก่า และใช้เป็นทุนในการประกอบอาชีพ โดยมีเพื่อนสมาชิกเป็นหลักประกันร่วมกัน สมาชิกทั้งหมดของสหกรณ์รับผิดชอบหนี้สินของสหกรณ์ร่วมกัน อย่างไม่จำกัดจำนวน โดยได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากรัฐบาล จึงเรียกสหกรณ์ในสมัยแรกๆ นี้อีกอย่างหนึ่งว่า สหกรณ์หาทุน

            การดำเนินงานของสหกรณ์ประสบความ สำเร็จ เป็นประโยชน์แก่ชาวนาที่เป็นสมาชิก รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมสหกรณ์ให้เจริญขึ้น จึงประกาศใช้พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๑๑ ขึ้น

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่ผู้นำสหกรณ์ การเกษตร สหกรณ์นิคม และสหกรณ์ประมง ทั่วประเทศ ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ว่า "...คำว่า สหกรณ์ แปลว่า การทำงานร่วมกัน การทำงานร่วมกัน ลึกซึ้งมาก เพราะว่าจะต้องร่วมมือกันในทุกด้าน ทั้งในด้านงานการที่ทำด้วยร่างกาย ทั้งในด้าน งานการที่ทำด้วยสมอง และงานการที่ทำด้วยใจ ทุกอย่างนี้ขาดไม่ได้ ต้องพร้อม..."