หลักการสหกรณ์ สหกรณ์ที่แท้จริงจะต้องยึดถือ และปฏิบัติตามหลักการสหกรณ์ ๖ ประการคือ ๑. การเข้าเป็นสมาชิกโดยความสมัครใจ สหกรณ์เป็นองค์การธุรกิจ ซึ่งต้องการช่วยเหลือคน จึงไม่สร้างข้อกีดกัน หรือข้อจำกัดในเรื่องสังคม การเมือง หรือศาสนาของบุคคล มาเป็นเงื่อนไข การสมัครเข้าเป็นสมาชิก ถ้าหากเขาสามารถดำเนินงานร่วมกัน และใช้บริการของสหกรณ์ได้ โดยสุจริตใจ รวมทั้งยอมรับกติกา กฎเกณฑ์ และความรับผิดชอบในฐานะสมาชิกด้วยความเต็มใจ สหกรณ์ก็พร้อมที่จะรับเข้าเป็นสมาชิกทั้งสิ้น เพราะสหกรณ์ต้องการรวมคน เพื่อให้ได้มา ซึ่งเงินทุน ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และประหยัด ๒. การควบคุมตามแบบประชาธิปไตย สหกรณ์เป็นองค์การที่กลุ่มบุคคลร่วมมือกันจัดตั้งขึ้น การมีสิทธิในการเป็นเจ้าของกิจการ จึงมีอยู่อย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น สมาชิกทุกคนจึงมีสิทธิในการเลือก หรือได้รับเลือกเป็นกรรมการเช่นเดียวกัน และโดยที่สหกรณ์มุ่งหวังที่จะรวมคน มากกว่าการรวมทุน สหกรณ์จึงถือว่า การมีส่วนร่วมของสมาชิกมีความสำคัญต่อสหกรณ์เท่ากัน การออกเสียง เพื่อการลงมติใดๆ ก็ตาม สมาชิกแต่ละคนจะมีสิทธิในการออกเสียงได้คนละ ๑ เสียง และมติของที่ประชุมยอมรับตามเสียงส่วนใหญ่ ในการบริหารงานสหกรณ์ สมาชิกจะเลือก เพื่อนสมาชิกจำนวนหนึ่งขึ้นมาเป็นคณะกรรมการ ดำเนินการ เพื่อให้ทำหน้าที่แทนสมาชิก ในฐานะที่สหกรณ์เป็นนิติบุคคล | |
แผนผังหลักการสหกรณ์ | |
๓. การจ่ายเงินปันผลตามหุ้นในอัตราจำกัด สหกรณ์อาจจ่ายเงินปันผลตามหุ้นให้แก่สมาชิกได้ในอัตราที่จำกัด โดยถือว่า เป็นเพียงดอกเบี้ยสำหรับเงิน ที่สมาชิกนำมาลงทุนในสหกรณ์เท่านั้น ๔. การจำแนกเงินส่วนเกิน ธุรกิจต่างๆ ที่สหกรณ์กระทำนั้น เป็นธุรกิจตามความต้องการของสมาชิก ที่สหกรณ์จะต้องบริการให้แก่สมาชิก ดังนั้น เมื่อสหกรณ์มีเงินส่วนเกินจากการดำเนินธุรกิจ หรือเงินกำไร จึงถือว่า เงินนี้เป็นของบรรดาสมาชิกทั้งสิ้น เนื่องจาก สมาชิกทั้งหลายเป็นเจ้าของสหกรณ์ หากจะมีการจำแนกเงินส่วนเกินนี้ จึงควรต้องตกเป็นของสมาชิก ในวิธีที่จะไม่ทำให้สมาชิกคนหนึ่งคนใดได้เปรียบคนอื่นๆ และการจำแนกเงินส่วนนี้ จะต้องเป็นไปตามมติ ของที่ประชุมสมาชิกสหกรณ์ เช่น จัดสรรไว้เป็นเงินทุนในการดำเนินการต่อไป หรือเป็นทุนสวัสดิการสงเคราะห์ หรือเป็นทุนการศึกษาแก่สมาชิก หรือเป็นเงินทุน เพื่อจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ทั้งเพื่อครอบครัว สมาชิก และเพื่อชุมชน หรือเป็นเงินเฉลี่ยคืนตามส่วนธุรกิจที่สมาชิกกระทำกับสหกรณ์ | |
สมาชิกที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพน้อมเกล้าฯถวายผลิตผงทางการเกษตร | |
๕. การส่งเสริมการศึกษา ความสำเร็จของสหกรณ์ขึ้นอยู่กับสมาชิกเป็นอย่างมาก ถ้าสมาชิกได้รับข้อมูล หรือความรู้ตามความเป็นจริง เกี่ยวกับสหกรณ์ของเขาอยู่เสมอ ก็จะเข้าใจ และไว้วางใจในการจัดการของสหกรณ์ จึงให้ความร่วมมือทั้งแรงกาย และความคิด สหกรณ์จำเป็นต้องสนับสนุนให้สมาชิกมีความรู้ในทุกสาขา ไม่เพียงแต่เรื่องสหกรณ์เท่านั้น ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพ จะก่อให้เกิดการประสาน เพื่อความอยู่ดีกินดีของสมาชิก ฝ่ายจัดการของสหกรณ์ ก็จำเป็นต้องมีความรอบรู้ ในด้านหลักการบริหารธุรกิจ ตลอดจนจะต้องรอบรู้ถึงหลักการ และวิธีการสหกรณ์ และการประกอบอาชีพของสมาชิกด้วย เพื่อที่จะได้ดำเนินการให้สอดคล้อง กับความต้องการของสมาชิกอย่างถูกต้อง ตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง ๖. ความร่วมมือกันระหว่างสหกรณ์ สหกรณ์ทุกแห่งควรจะมีความร่วมมือช่วยเหลือกันอย่างแข็งขัน ทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมาย แห่งอุดมการณ์ของความอยู่ดีกินดี และมีสันติสุข โดยมีองค์การสัมพันธภาพสหกรณ์ระหว่างประเทศ เป็นศูนย์กลางแห่งความร่วมมือกันระหว่างประเทศ ทั้งนี้เนื่องจาก เกือบทุกประเทศทั่วโลก ได้ยอมรับว่า สหกรณ์เป็นวิธีการทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ |