เล่มที่ 12
การสหกรณ์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประเภทของสหกรณ์ในประเทศไทย

ปัจจุบันประเทศไทยมีสหกรณ์อยู่ ๖ ประเภท คือ

๑. สหกรณ์การเกษตร

            เป็นสหกรณ์ สำหรับผู้มีอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา เลี้ยง สัตว์ ทำไร่ ทำสวน ฯลฯ สหกรณ์การเกษตรนี้ ได้วิวัฒนาการมาจากสหกรณ์หาทุนเดิม รวมกับสหกรณ์ประเภทต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเกษตรในท้องถิ่นเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน เช่น สหกรณ์ขายข้าว สหกรณ์บำรุงที่ดิน และอื่นๆ มาเป็นสหกรณ์การเกษตร มีวัตถุประสงค์หลายอย่าง ครอบคลุมครบวงจรการประกอบอาชีพ และการดำรงชีพของสมาชิก โดยดำเนินธุรกิจในลักษณะของการบริการ ดังนี้
ฉางข้าวของสหกรณ์การเกษตรเป็นศูนย์รวมข้าวของสมาชิกสำหรับจำหน่ายแก่พ่อค้า
ฉางข้าวของสหกรณ์การเกษตรเป็นศูนย์รวมข้าวของสมาชิกสำหรับจำหน่ายแก่พ่อค้า
๑.๑ ธุรกิจสินเชื่อ

            จัดหาเงินทุนมา ให้สมาชิกกู้ ด้วยการระดมทุนจากสมาชิกทั้งใน รูปของการฝากเงิน และการถือหุ้นเพิ่ม หาแหล่งเงินกู้ภายนอกเพิ่มเติม เพื่อนำมาดำเนินการให้ เป็นไปตามความต้องการของสมาชิก
ฉางข้าวของสหกรณ์การเกษตรเป็นศูนย์รวมข้าวของสมาชิกสำหรับจำหน่ายแก่พ่อค้า
ฉางข้าวของสหกรณ์การเกษตรเป็นศูนย์รวมข้าวของสมาชิกสำหรับจำหน่ายแก่พ่อค้า
๑.๒ ธุรกิจการซื้อ

            จัดหาปัจจัยการ ผลิตได้แก่ ปุ๋ย พันธุ์พืช ยาปราบศัตรูพืช เครื่องมือการเกษตร เพื่อเพิ่มผลิตผลของสมาชิก รวมทั้ง เครื่องอุปโภคที่จำเป็น ในการดำรงชีวิต มาบริการแก่สมาชิกด้วย

๑.๓ ธุรกิจการขาย

            จัดการรวบรวม ผลิตผลของสมาชิกมาจัดการจำหน่าย หรือแปรรูป ออกจำหน่าย โดยมีความมุ่งหมายที่จะให้สมาชิก ขายผลิตผลได้ในราคาดี การที่จะช่วยให้ผู้ผลิต สามารถจำหน่ายผลิตผลได้ในราคาสูง การดำเนินการในขั้นตอนของการผลิต จนถึงการแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จ จะต้องอยู่ในกลุ่มผู้ผลิตเท่านั้น จึงจะสามารถกำหนดราคาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ผลิตได้

            สหกรณ์การเกษตรเป็นจำนวนมาก มีโรงสี แปรรูปข้าวเปลือกของตนเอง มีโรงงานผสมอาหารสัตว์ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมสด และ ผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมทั้งมีฉางไซโล ยานพาหนะ และอุปกรณ์ในการรวบรวมผลิตผลของสมาชิก

            นอกจากธุรกิจที่สำคัญ ๓ ประการดังกล่าว แล้ว สหกรณ์การเกษตรยังจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมสร้างฐานะของสมาชิก และครอบครัว รวมทั้งชุมชนด้วย ได้แก่ กิจกรรมสวัสดิการสงเคราะห์ ทั้งในเรื่องของภัยธรรมชาติ ฌาปนกิจ กิจกรรมกลุ่มสตรีสหกรณ์ และเยาวชนสหกรณ์

ใน พ.ศ. ๒๕๒๙ มีสหกรณ์การเกษตรตั้งอยู่ในท้องที่ทุกอำเภอทั่วประเทศ จำนวน ๑,๐๘๙ สหกรณ์ มีสมาชิกทั้งสิ้น ๘๕๑,๒๒๔ ครอบครัว

๒. สหกรณ์นิคม

            เป็นสหกรณ์สำหรับผู้ที่ประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีน้อย ไม่พอประกอบอาชีพ โดยรัฐบาลจะจัดสรรที่ดินที่เสื่อมสภาพจากป่าสงวน แล้วให้ราษฎรเข้าถือครองประกอบอาชีพ ในสมัยแรกที่มีการจัดตั้งสหกรณ์นิคม สมาชิกสหกรณ์จะได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ได้รับการจัดสรรนั้น แต่ปรากฏว่า มีสมาชิกจำนวนมากที่ไม่รักษาที่ดินนั้นไว้ นำไปขายต่อให้ผู้อื่น ทำให้มีการบุกรุกป่าสงวนเพิ่มขึ้นอีก ประกอบกับเป็นพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เกี่ยวกับการจัดสหกรณ์ในที่ดินพระราชทาน ตามโครงการในพระราชดำริ ไม่มีการให้กรรมสิทธิ์ แต่สมาชิกทุกคนจะได้รับสิทธิครอบครอง และสามารถตกทอดเป็นมรดกถึงลูกหลานได้ ตราบใดที่ยังประสงค์จะทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ของสหกรณ์ หากไม่มีทายาทที่จะรับช่วงมรดก ก็ให้ที่ดินนั้น ตกเป็นของสหกรณ์ เพื่อรับบุคคลที่ประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม เข้ามาทำกินได้ เราเรียกการจัดสหกรณ์ชนิดนี้ว่า สหกรณ์การเช่าที่ดิน

            สมาชิกของสหกรณ์นิคมอีกชนิดหนึ่งที่ สามารถได้กรรมสิทธิ์ที่ดินก็คือ สหกรณ์การเช่าซื้อ ที่ดิน ซึ่งจัดขึ้น ในที่ดินผืนใหญ่ ที่มีผู้เช่าที่ดินทำกินอยู่แล้ว และเจ้าของที่ดินประสงค์จะขายที่ดินนั้น ให้แก่ผู้เช่า ซึ่งถ้าผู้เช่าทั้งหมดตกลงและประสงค์ ที่จะได้ที่ดินเหล่านั้น เป็นของตนเอง แต่ติดขัดใน เรื่องเงิน ทางราชการโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ก็จะขออนุมัติรัฐบาลจัดหาเงินกู้ เพื่อซื้อที่ดินนั้นไว้ และขายให้แก่ผู้เช่าเหล่านั้นโดยวิธีการเช่าซื้อ ทั้งนี้ จะต้องเป็นไปตามหลักการและวิธีการสหกรณ์ เมื่อผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเสร็จสิ้น ก็จะได้รับกรรมสิทธิ์ ในที่ดินเป็นของตนเองต่อไป

            ใน พ.ศ. ๒๕๒๙ มีสหกรณ์นิคม จำนวน ๙๓ สหกรณ์ มีสมาชิก ๘๒,๔๑๒ คน ส่วนใหญ่ จะได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน จำนวนครอบครัว ละ ๒๕ ไร่

๓. สหกรณ์ประมง

            เป็นสหกรณ์สำหรับผู้มีอาชีพประมงโดยเฉพาะ ทั้งอาชีพประมงน้ำจืด และประมงทะเล มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ความรู้ทางด้านวิชาการ และดำเนินธุรกิจ เพื่อส่งเสริมอาชีพประมง ทั้งการจำหน่ายสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำ และอุปกรณ์ประมง
สมาชิกสหกรณ์ประมงกำลังจับสัตว์น้ำ
สมาชิกสหกรณ์ประมงกำลังจับสัตว์น้ำ
            ใน พ.ศ. ๒๕๒๙ มีสหกรณ์ประมงทั้ง ประมงน้ำจืดและประมงทะเลในท้องที่จังหวัด ชายทะเลและแหล่งน้ำธรรมชาติ จำนวน ๑๙ สหกรณ์ มีสมาชิก ๔,๑๒๗ ครอบครัว
๔. สหกรณ์ร้านค้า

            เป็นสหกรณ์สำหรับผู้บริโภคทั่วไป โดยการจัดจำหน่ายสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค ที่จำเป็นในครอบครัว ให้แก่สมาชิก มีวัตถุประสงค์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว สหกรณ์ร้านค้า หรือร้านสหกรณ์นี้ ถือว่าเป็นต้นแบบของสหกรณ์ทั่วโลก ทั้งนี้ เพราะสหกรณ์แห่งแรกของโลก ที่ดำเนินการประสบความสำเร็จ เป็นสหกรณ์ที่จำหน่ายสินค้า เครื่องบริโภคของประเทศอังกฤษ  ซึ่งมีวิธีการปฏิบัติ ที่สามารถใช้เป็นหลักการสหกรณ์สากล ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้
สหกรณ์ร้านค้า
สหกรณ์ร้านค้า
ร้านสหกรณ์ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะตั้ง อยู่ในที่ชุมชนหนาแน่นในเมือง และกระจายไปยังหมู่บ้านในชนบท ในรูปของร้านค้าหมู่บ้าน

ใน พ.ศ. ๒๕๒๙ มีสหกรณ์ร้านค้ากระจายอยู่ทั่วประเทศ จำนวน ๓๔๑ สหกรณ์ มี สมาชิก ๖๕๐,๖๑๓ คน

๕. สหกรณ์ออมทรัพย์

            เป็นสหกรณ์สำหรับผู้ที่มีรายได้ประจำโดยทั่วไป ที่ต้องการพึ่งตนเอง ด้วยการออมทรัพย์เป็นประจำ และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ด้วยการให้กู้ยืม เมื่อเกิดความจำเป็น สหกรณ์ออมทรัพย์ตั้งขึ้นทั่วไป ในสถานที่ราชการ สำหรับข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร และในรัฐวิสาหกิจ โรงงาน บริษัท สถานศึกษา หรือในชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ ในโรงงาน และบริษัทต่างๆ นอกจากจะช่วยให้พนักงานมีการออมทรัพย์ เพื่อตนเองแล้ว ยังสามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้น ในระหว่างพนักงาน และเจ้าของกิจการ ทำให้ข้อขัดแย้งต่างๆ คลี่คลาย ไปในทางที่ดีขึ้น

ใน พ.ศ. ๒๕๒๙ มีสหกรณ์ออมทรัพย์ จำนวน ๖๓๔ สหกรณ์ มีสมาชิก ๙๙๔,๗๙๐ คน

๖. สหกรณ์บริการ

            เป็นสหกรณ์สำหรับผู้ที่ต้องการแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพ ต้องการดำรงชีพตามแนวทางสหกรณ์ และมีประเภทของอาชีพ นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว สหกรณ์บริการจึงมีหลายรูปแบบ เช่น สหกรณ์ไฟฟ้า ดำเนินการให้ได้มาซึ่งกระแสไฟฟ้า และจัดให้มีการบำรุงรักษาร่วมกัน สหกรณ์เคหสถาน ดำเนินการให้ได้มา ซึ่งบ้านที่อยู่อาศัย หรือที่ดิน และสิ่งสาธารณูปโภคอื่นๆ สหกรณ์ผู้เดินรถรับจ้าง สหกรณ์แท็กซี่ สหกรณ์ผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลัก เป็นต้น
สหกรณ์เคหสถานเป็นสหกรณ์บริการประเภทหนึ่ง
สหกรณ์เคหสถานเป็นสหกรณ์บริการประเภทหนึ่ง
ใน พ.ศ. ๒๕๒๙ มีสหกรณ์บริการ จำนวน ๒๕๖ สหกรณ์ มีสมาชิก ๗๔,๖๗๓ คน

            สหกรณ์ทั้ง ๖ ประเภท จดทะเบียนจัดตั้ง เป็นสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๑๑ และดำเนินการ ตามหลักการสหกรณ์สากล ๖ ประการ โดยมีสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศ ไทยเป็นศูนย์กลางแห่งความร่วมมือกันระหว่างสหกรณ์ ทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ มี กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานของรัฐในการ ส่งเสริมและดูแลการดำเนินงานของสหกรณ์ มี กรมตรวจบัญชีสหกรณ์เป็นหน่วยงานของรัฐในการ ตรวจตรากิจการสหกรณ์ ด้วยการตรวจบัญชีทุก สหกรณ์ เพื่อให้สมาชิกได้ทราบถึงฐานะของสหกรณ์ของตน มีสำนักงานนายทะเบียนสหกรณ์ เป็นหน่วยงานของรัฐ ในการรับจดทะเบียนสหกรณ์ และสั่งเลิกสหกรณ์