เล่มที่ 12
การสหกรณ์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
สหกรณ์เป็นแนวทางในการพัฒนาชีวิต

            วิธีการสหกรณ์ได้ถูกค้นพบ และนำมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่โลก ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งเป็นยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสังคม มีการคิดค้นประดิษฐ์เครื่องมือ และเครื่องจักร แทนการใช้แรงงานคน สามารถผลิตสินค้าได้เป็นจำนวนมาก และรวดเร็ว การคมนาคมติดต่อ เพื่อนำผลิตผลไปสู่ผู้บริโภค ก็สะดวกรวดเร็ว จึงเกิดความเดือดร้อนแก่กรรมกรในโรงงานต่างๆ เป็นจำนวนมาก และยังเพิ่มมากขึ้น เมื่อผู้ประกอบการรายย่อย ไม่สามารถรักษากิจการไว้ได้ เนื่องจากไม่มีเงินทุนที่จะซื้อเครื่องมือเครื่องใช้มาใช้ในโรงงาน จึงต้องเลิกหรือขายกิจการ ให้แก่ผู้มีทุนทรัพย์มากกว่า ส่วนตนเอง และกรรมกรก็กลายสภาพเป็นคนงาน ในโรงงานนั้นต่อไป
เกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
เกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
            จากเหตุการณ์บีบคั้นต่างๆ ดังกล่าว รวมกับความดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด จึงพยายาม แสวงหายุทธวิธีที่จะพยุงฐานะของตน ด้วยการ รวมเป็นสมาคมสงเคราะห์บ้าง เสนอให้นำเอาวิธี การเศรษฐกิจอย่างอื่นมาใช้บ้าง เช่น ให้เลิกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน เสียทั้งหมด โดยให้ รัฐเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เอง และให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้รับส่วนแบ่งอย่างยุติธรรม หรือให้ถือว่า ผลประโยชน์ส่วนรวมของชุมชน ต้องอยู่เหนือผลประโยชน์ ส่วนบุคคล ซึ่งต้องมีมาตรการที่เข้มงวดมากจึงจะสามารถปฏิบัติได้ และถ้าเป็นไปได้ก็ให้รัฐเป็นเจ้าของที่ดินและทุน ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ วิธีการทั้ง ๒ อย่างนี้ กระทบกระเทือนต่อผู้ที่ต้อง เสียประโยชน์อย่างมาก และเป็นการปิดกั้นสิทธิ มนุษยชน จึงมีบางฝ่ายพิจารณาเห็นว่า ทั้งระบบการแข่งขันแบบเสรีนิยม และการยึดกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินต่างๆ นั้น ไม่อาจช่วยให้เกิดความเป็นธรรม แก่สังคมได้ หลักการในระบบสหกรณ์น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ดีกว่า เพราะผู้ผลิตรายย่อยที่ได้รับความเดือดร้อน จะร่วมมือ และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ของผู้ที่มีความยากจนเดือดร้อน ทำให้มีฐานะดีขึ้น เกิดความสงบสุขในสังคม โดยได้กำหนดวิธี ปฏิบัติและหลักการดำเนินการอย่างเหมาะสม ทำให้เกือบทุกประเทศทั่วโลก ใช้สหกรณ์เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
สมาชิกฝากเงินกับสหกรณ์ออมทรัพย์
สมาชิกฝากเงินกับสหกรณ์ออมทรัพย์
            ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่ที่ประสบความยากลำบากได้แก่ เกษตรกร ในปัจจุบัน แม้จะมีสหกรณ์การเกษตรกระจายอยู่ตามอำเภอต่างๆ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ แล้วก็ตาม แต่จำนวนเกษตรกร ที่เป็นสมาชิกสหกรณ์นั้น ยังมีจำนวนน้อย ทำให้ไม่สามารถ แก้ไขปัญหาความยากลำบากให้หมดสิ้นไปได้ การที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนให้หมดไปได้นั้น จะต้องดำเนินการในเรื่องสหกรณ์อย่างจริงจังและทั่วถึง และจะต้องร่วมมือกันอย่างหนักแน่น ปราศจากความขัดแย้งใดๆ ที่สำคัญเหนือสิ่ง ใดก็คือ ความตั้งใจในการลงมือปฏิบัติจริง ของเกษตรกร ในอดีตที่ผ่านมาเคยมีการกล่าวว่า สหกรณ์ไม่อาจแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของเกษตรกรได้ เพราะผู้พูดมีความเข้าใจว่า เมื่อมีสหกรณ์แล้ว จะเป็นแก้วสารพัดนึก บันดาลความสำเร็จให้เกิดขึ้นได้ แต่ความเป็นจริงแล้ว คำว่า "สหกรณ์" เป็นเพียงนามธรรม จะไม่เกิดประโยชน์อย่างใด ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามหลักการอย่างถูกต้องและจริงจัง
สหกรณ์บริการเงินกู้แก่สมาชิก
สหกรณ์บริการเงินกู้แก่สมาชิก
            อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์นั้น สอนให้คนรู้จักการเผื่อแผ่ เอื้ออารี รักสันติ รู้จักร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เคารพกฎเกณฑ์ เป็นนักประชาธิปไตย มีความขยันอดทน รู้จักออมทรัพย์ เพื่อให้พึ่งตนเองได้ มีความสามัคคีปรองดองกันในสังคม ดังนั้น หากเกษตรกรได้มีการรวมตัวกันในรูปสหกรณ์แล้ว เชื่อมั่นได้ว่า ปัญหาความยากจน ของเกษตรกรในชนบทจะหมดสิ้นไป และความเจริญรุ่งเรืองจะมาสู่ประเทศชาติอย่างแน่นอน
            การช่วยเหลือเกษตรกรให้มีฐานะดีขึ้นนั้น จะต้องช่วยให้เกษตรกรรู้จักการพึ่งตนเอง ช่วย- เหลือซึ่งกันและกันอย่างเข้มแข็ง เปรียบเสมือน การขว้างฟางข้าว ฟางแต่ละเส้นนั้นถึงแม้จะใช้ ผู้ที่มีกำลังแข็งแรงสักปานใดก็ไม่สามารถขว้างไป ให้ไกลได้ แต่ถ้านำฟางแต่ละเส้นมามัดรวมกัน เป็นกำก็จะสามารถขว้างให้ไกลได้ตามความต้อง การฉันใด เกษตรกรผู้อ่อนแอแต่ละคนจะไม่ สามารถผ่านอุปสรรคไปได้เลยถ้าหากไม่ร่วมมือกัน อย่างแน่นหนาและมั่นคงฉันนั้น นั่นคือ เกษตรกรต้องร่วมมือกันดำเนินงานในรูปของสหกรณ์
ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการทชหุบกะพง กรมส่งเสริมสหกรณ์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการทชหุบกะพง กรมส่งเสริมสหกรณ์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงสนพระราชหฤทัย และทรงห่วงใยในการพัฒนาชนบทเป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีโครงการพัฒนาชนบท ตามพระราชดำริหลายโครงการ แต่ละโครงการมุ่งหมายที่จะพัฒนาให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ เป็นสำคัญ และจะต้องมีสหกรณ์เข้าไป เป็นงานส่วนหนึ่งของโครงการ โครงการสหกรณ์ตามพระราชดำริ มีหลายโครงการ โครงการที่สำคัญ เช่น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทอดพระเนตรการทำผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์ ณ ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทอดพระเนตรการทำผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์ ณ ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง
๑. โครงการศูนย์สาธิตสหกรณ์หุบกะพง

            ตั้งอยู่ที่ตำบลหุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เดิมเป็นโครงการศูนย์พัฒนาไทย-อิสราเอล ตามพระราชประสงค์ เนื่องจาก พระองค์ท่านได้พระราชทานที่ดินให้แก่ชาวสวนผัก ที่อำเภอชะอำ เข้าทำกิน โดยมีพระราชประสงค์ให้ที่ดินที่พระราชทานนั้น สามารถตกทอดเป็นมรดกแก่บุตรหลานได้ แต่ไม่ได้กรรมสิทธิ์ กับทั้งทรงให้จัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นแปลงทดลอง เพื่อเป็นศูนย์การศึกษาทางการเกษตร เนื่องจากพื้นที่ในเขตนั้นมีความแห้งแล้ง และกันดาร จึงควรศึกษาและทดลอง ให้ประสบผลสำเร็จ ก่อนนำไปแนะนำเผยแพร่สู่เกษตรกร

สมาชิกสหกรณ์การเกษตร (โครงการหุบกะพง) เตรียมผลิตผลเพื่อส่งจำหน่ายสมาชิกสหกรณ์การเกษตร (โครงการหุบกะพง) เตรียมผลิตผลเพื่อส่งจำหน่าย

            เมื่อชาวสวนผักได้รับความช่วยเหลือจาก หน่วยงานของรัฐบาลจนสามารถทำการเพาะปลูก และมีรายได้แล้วก็มีปัญหาตามมาอีกคือ การประกอบอาชีพและการอยู่ร่วมกันในหมู่บ้าน พระองค์ท่านได้ทรงแนะนำให้ใช้วิธีการสหกรณ์เข้าดำเนินการ ดังพระราชดำรัส ที่พระราชทานแก่ กลุ่มชาวไร่ศูนย์พัฒนาไทย-อิสราเอล ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันศุกร์ ที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๑๕ ตอนหนึ่งว่า
การเลี้ยงโคนม
การเลี้ยงโคนม
            "...เป็นที่น่ายินดีมากที่บัดนี้หมู่บ้านตัวอย่าง นี้ได้เป็นสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นี้ก็จะต้อง ให้เข้าใจว่า เป็นวิธีหนึ่ง มีการร่วมกันทำงาน เป็นกลุ่มเป็นก้อน เพื่อที่จะให้ผลในการพัฒนา ความเป็นอยู่ของตน และอยู่ร่วมกันก็ทำให้มี แรงมาก คือร่วมแรงมาเพื่อการอาชีพให้เจริญ งอกงาม ให้เป็นสหกรณ์ในรูปอเนกประสงค์นั้น ก็ยิ่งจะได้ผลดี แต่ต้องเข้าใจมากขึ้น แล้วก็ต้อง มีความอดทน ความขยัน และความสามัคคี คือว่า ทุกคนที่อยู่ในที่นี้ต้องช่วยกัน ไม่เบียดเบียน กัน คนไหนที่เดือดร้อนก็จะต้องช่วยเหลือ

            สหกรณ์นี้ก็มีจุดประสงค์หลายด้านดังชื่อว่า อเนกประสงค์ หมายความว่าไม่ใช่ว่าประสงค์ อย่างเดียว มีหลายประสงค์ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของตัวก็เป็นความ ประสงค์ของสหกรณ์ อันแรกก็คือ การประกอบ อาชีพ สหกรณ์นี้มาร่วมมือกันเพื่อที่จะให้ทุกคน มีความสามารถในการประกอบอาชีพโดยเฉพาะ อาชีพของสมาชิกทั้งหลาย ส่วนใหญ่ก็เป็นการ เพาะปลูก ก็ได้ความรู้ในการเพาะปลูกที่ดี ได้ วิธีที่ถูกต้อง ถูกหลักของการเกษตร ต่อมาก็มี การร่วมมือในด้านการตลาดคือ เราปลูกอะไร แล้วเราจะต้องหาทางที่จะระบาย หาตลาด เพื่อ ที่จะได้รายได้กลับมาเป็นเงินที่จะมาใช้จ่ายด้วย ต่อมาก็มีโครงการร้านค้า ซึ่งหมายถึงว่าสหกรณ์ คือส่วนรวม ได้ไปจัดหาสิ่งของที่จำเป็น เช่นที่ ได้กล่าวไว้เรื่องปุ๋ย เรื่องสิ่งบริโภคมาจำหน่าย เพื่อที่จะซื้อได้ในราคาที่ไม่แพง และมีคุณภาพดี โครงการร้านค้านี้ จะจัดไม่ได้ถ้าไม่รวมกลุ่มกัน ไม่ได้ช่วยกัน และไม่มีความไว้วางใจกัน ต่อมา ก็มีเรื่องของความเป็นอยู่ทั่วๆ ไป ความปลอดภัย ของกลุ่ม ถ้าร่วมใจกัน มีความสามัคคีจริงๆ ก็จะสามารถรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้าน และ ไม่เกิดความเดือดร้อนในด้านการผลิตเพื่อการทำ อาชีพ นอกจากการเพาะปลูกนั้น ก็มีเรื่องของ การทำที่เรียกว่าอุตสาหกรรมในครัวเรือน นำเอา ผลิตผลที่ตัวได้ปลูก มาทำให้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ยิ่งขึ้น..."
การรีดนมโคด้วยมือ
การรีดนมโคด้วยมือ
๒. สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์)

            ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เป็นสหกรณ์ที่ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมสด ซึ่งเดิมดำเนินงานในรูปของบริษัทผลิตภัณฑ์นมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) เมื่อทรงเห็นว่า สหกรณ์โคนม หนองโพราชบุรี จำกัด ได้ดำเนินงานมาด้วยดี เป็นปึกแผ่นมั่นคงพอสมควร โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมสดนี้ ควรจะเป็นสมบัติโดยตรงของสมาชิก ตามที่ได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่สมาชิก สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๑๓ ว่า
            "...วิธีที่จะให้ผู้ผลิตนมโค สามารถจำหน่ายนมได้ มีทางเดียวคือ ตั้งโรงงาน แล้วให้โรงงานนั้นเป็นของผู้ผลิต มิใช่ว่า บริษัทฝรั่ง หรือญี่ปุ่นมาลงทุน สร้างโรงงานแปรสภาพวัตถุดิบให้เป็นสินค้าต่อไป ความคิดเช่นนั้น เป็นความคิดที่เรารับไม่ได้ เพราะว่า เกิดเรื่องอยู่เสมอ ที่จะต้องมีการทะเลาะวิวาทระหว่างผู้ผลิต คือ ผู้ผลิตนมโคกับผู้ที่แปรสภาพมาเป็นนมกระป๋อง เป็นนมผง เนยแข็ง เนยสด หรือเนยอะไรก็ตาม คือ ถ้าตั้งเป็นบริษัทแปรสภาพนี้ และขายนมสด จะต้องเกิดเรื่องอยู่เสมอ แต่ถ้าผู้ที่ผลิตวัตถุดิบ กับผู้ที่แปรสภาพเป็นเจ้าของเดียวกัน จะไม่เกิดปัญหา เพราะว่าทำกันเอง แต่การทำกันเองนี้ มีความลำบากอยู่ที่ต้องมีวินัยอยู่มาก ต้องมีความเสียสละ เพื่อส่วนรวมของกิจกรรมอย่างสำคัญ ถ้าตั้งโรงงานในรูปสหกรณ์ได้ ก็จะเป็นการดี แต่ถ้าสร้างในรูปโรงงานสหกรณ์ไม่ได้ ด้วยเหตุใดก็ตาม ก็เห็นควรเลิกล้มกิจการ..."ผลิตภัณฑ์นมชนิดต่าง ๆ
ผลิตภัณฑ์นมชนิดต่าง ๆ
พระองค์จึงได้พระราชทานโรงงานให้แก่ สหกรณ์รับดำเนินการต่อไป เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๑๘ และทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ด้วย
การผลิตข้าวเปลือก
การผลิตข้าวเปลือก
๓. โครงการโรงสีสหกรณ์ในศูนย์ศึกษา การพัฒนา

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานโรงสีสหกรณ์ ให้แก่ศูนย์ศึกษาการพัฒนา ๓ แห่งคือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส และศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีพระราชประสงค์ เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการ และใกล้เคียง มีโอกาสได้ใช้บริการโรงสี ในราคาที่เป็นธรรม เพื่อเป็นศูนย์กลางบริการข้าวเปลือก และข้าวสาร ให้แก่ธนาคารข้าวและเกษตรกร ในพื้นที่โครงการ ตลอดจน เพื่อเป็นสถานที่รับฝากข้าวเปลือก และจ่ายข้าวสารแก่เกษตรกร เพื่อนำไปบริโภคเป็นระยะๆ นอกจากนี้ยังมีพระราชประสงค์ เพื่อเป็นการศึกษาค้นคว้า จากแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ของขบวนการผลิตข้าวสาร ตั้งแต่การเก็บเกี่ยว การสี จนถึงการรับข้าวสารไปบริโภค และจำหน่าย

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงให้ความสำคัญแก่งานสหกรณ์มาก ทั้งยังได้ พระราชทานคำแนะนำในการดำเนินชีวิตตาม แนวทางสหกรณ์ไว้อย่างชัดแจ้ง ทรงเปรียบ- เทียบให้เห็นว่าสหกรณ์นั้น เปรียบได้กับร่างกาย ของคนเรา ถ้าอวัยวะของร่างกายไม่ปรองดอง กันร่างกายก็จะเจ็บไข้ได้ป่วย สหกรณ์ก็เช่นกัน ถ้าทุกคนเอาแต่ขัดกัน ไม่ปรองดองกัน สหกรณ์ จะมีปัญหา แต่ถ้าได้พูดจาบอกความคิดของตัว ยอมรับฟังความคิดของอีกคนหนึ่งมาคุยต่อไป อธิบายด้วยเหตุและผล ไม่ใช่ว่าจะต้องมีแพ้หรือ ชนะ ต่างคนต่างจะชนะถ้าปรองดองกัน ใน เรื่องของความคิดเห็นนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากใน การบริหารงานของกลุ่มคนเช่นในสหกรณ์ ดังนั้น ความสามัคคีปรองดองและรับฟังความคิดเห็น ของคนส่วนใหญ่ตามหลักการสหกรณ์ข้อที่ ๒ จึงเป็นการส่งเสริมการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย