เขตชนบทก้าวหน้า เมื่อชนบทได้มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ชนบทบ้างแห่งก็เจริญขึ้นเล็กน้อย หรือบางแห่ง ก็ยังคงสภาพเดิม คนชนบทในพื้นที่ที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น จะมีวิถีชีวิตดีกว่าคนชนบทในพื้นที่อื่นๆ ที่ยังไม่มีโอกาสได้รับผลประโยชน์ ชนบทที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นนี้ อาจเรียกได้ว่า "เขตชนบทก้าวหน้า" ซึ่งใน พ.ศ.๒๕๒๕ มีอยู่ประมาณร้อยละ ๒๙ ของพื้นที่ทำการเกษตรของประเทศ การทำการเกษตรในเขตนี้ ส่วนใหญ่จะมีรูปแบบ ดังต่อไปนี้ ก.เขตชลประทานสมบูรณ์แบบ คือ พื้นที่บริเวณที่ได้รับน้ำในการเพาะปลูกตลอดปี ในฤดูฝน ก็ได้รับน้ำฝนที่ตกตามธรรมชาติ ถ้าปีใดฝนตกน้อย หรือไม่ตกตามฤดูกาล ก็จะมีน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ เช่น เขื่อน ฝาย สระ แม่น้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติ ฯลฯ มาช่วยในการเพาะปลูก ส่วนในฤดูแล้ง พื้นที่บริเวณนี้ ก็จะได้รับน้ำ เพื่อใช้ในการเพาะปลูกเช่นเดียวกัน พื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคเหนือตอนบน และเขตภาคกลาง ในโครงการเจ้าพระยา ซึ่งได้รับน้ำจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดตาก และจังหวัดอุตรดิตถ์ นอกจากนี้ พื้นที่บางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ก็มีแหล่งน้ำทำการเกษตรตลอดปีเช่นเดียวกัน คนชนบทในพื้นที่ที่ได้รับน้ำตลอดปีเช่นนี้ สามารถทำการเพาะปลูกข้าวได้ ๒ ครั้ง คือ ข้าวนาปี และข้าวนาปรัง หรือปลูกข้าวนาปี และตามด้วยการปลูกพืชไร่ คือ ข้าวโพดหรือถั่วต่างๆ ในบางบริเวณ ก็ใช้ปลูกพืชผัก ซึ่งเป็นพืชที่ต้องใช้น้ำในการเพาะปลูกมาก และเป็นพืชที่ขายได้ราคาดี โดยเฉพาะในฤดูแล้ง และทำรายได้ให้แก่ผู้ปลูกมาก นอกจากนี้ คนชนบทส่วนนี้ ยังมีโอกาสเพิ่มรายได้ ด้วยการเกษตรประเภทอื่นๆ เช่น เลี้ยงปลา หรือเลี้ยงสัตว์ได้อีกด้วย | |||
การเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ที่ได้รับน้ำตลอดปี จะสามารถเพาะปลูกข้าวได้ปีละ ๒ ครั้ง | |||
ข. เขตปลูกพืชไร่ ๒ ครั้งและเขตปลูกพืชอุตสาหกรรม เขตปลูกพืชไร่เหล่านี้ ส่วนใหญ่มีบริเวณอยู่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ซึ่งส่วนใหญ่เดิมเป็นพื้นที่ป่า และเกษตรกรได้บุกเบิกจับจอง เพื่อปลูกพืชไร่ ทั้งพืชไร่ประเภทระยะยาว และระยะสั้น พืชไร่ระยะยาว เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และสับปะรด เป็นพืชที่ขายได้ราคาดีเป็นส่วนใหญ่ มีโรงงานอุตสาหกรรมรับซื้อ เพื่อทำอ้อยเป็นน้ำตาล ทำมันสะปะหลังเป็นอาหารสัตว์ และสับปะรดทำเป็นสับปะรดกระป๋อง ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกนำรายได้เข้าสู่ประเทศ ส่วนพืชไร่ระยะสั้น ซึ่งอาศัยช่วงน้ำฝนทำการเพาะปลูกได้ ๒ ครั้ง ต่อ ๑ ปี ได้แก่ ข้าวโพดและถั่วต่างๆ
ค. เขตไม้ผลยืนต้น มีอยู่ในบริเวณต่างๆ ทุกภาคของประเทศ ไม้ผลยืนต้นเหล่านี้ได้แก่ ลิ้นจี่ ลำใย ในภาคเหนือ เงาะ ทุเรียน มะม่วง น้อยหน่า ส้ม ในภาคกลาง และภาคตะวันออก เงาะ มะพร้าว ในภาคใต้ ผลไม้ของประเทศไทยมีชื่อเสียงในด้านรสชาติ ต่างประเทศได้เริ่มสั่งซื้อผลไม้เหล่านี้ จากประเทศไทยมากขึ้นทุกปี | |||
พื้นที่ทำการเกษตรในเขตชลประทาน | |||
ง. เขตยางพาราพันธุ์ดี ส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ ซึ่งเป็นบริเวณที่ฝนตกชุกอากาศชุ่มชื้นตลอดปี และมีบางแห่งในภาคตะวันออก ยางเป็นพืชที่มีราคาสูง ทำรายได้ให้แก่เจ้าของสวนยางพารา ตลอดจนเป็นสินค้าออกที่สำคัญประเภทหนึ่งของประเทศ | |||
กองข้าวที่ได้จากการนวดข้าวภายหลังการเก็บเกี่ยว | |||
ชาวชนบทที่อยู่ในเขตต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ส่วนใหญ่จะมีโอกาส มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีกว่าในเขตชนบทอื่นๆ เนื่องจาก มีรายได้สูง จากผลิตผลต่างๆ ที่เพาะปลูกได้ราคาดี ทำให้ชาวชนบทเหล่านี้ สามารถลงทุนและเรียนรู้ การใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรใหม่ๆ ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชนบทเหล่านี้ จึงมีสภาพดีขึ้น มีเครื่องทุ่นแรงจำพวกเครื่องจักร รถไถที่ใช้แทนโคกระบือ มีรถยนต์กระบะขนถ่ายพืชผลแทนเกวียน มีรถจักรยานยนต์แทนการเดิน หรือการขี่จักรยาน มีเครื่องสีข้าวแทนการตำข้าว และฝัดข้าว มีสิ่งอำนวยความสุขในครอบครัว เช่น โทรทัศน์ ตู้เย็น พัดลม มีถนนเข้าสู่หมู่บ้าน และหลายแห่ง มีไฟฟ้าใช้ บ้านเรือนก็เปลี่ยนจากกระท่อมมุงหลังคาจาก เป็นเรือนไม้ ๒ ชั้น คือ มีความเป็นอยู่ที่เรียกว่า "อยู่ดีกินดี" ลูกหลานได้มีโอกาสเล่าเรียนในโรงเรียน และได้เรียนต่อในชั้นสูงๆ เจ็บไข้ได้ป่วย ก็ไปหาหมอที่โรงพยาบาล หรือคลินิก ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก | |||
รถเกษตร (รถอีแต๋น) รถที่ใช้ขนส่งพืชผลและอื่นๆ ในชนบท | ในเขตชนบทก้าวหน้า แม้คนชนบทส่วนใหญ่จะมีโอกาส ได้รับความเจริญดังกล่าวข้าวต้นก็ตาม แต่คนบางส่วน ก็ยังมีปัญหาอยู่บางประการ เช่น ปัญหาไม่มีทีดินทำกิน ต้องรับจ้างคนอื่น ทำให้รายได้ไม่สูงเท่ากับพวกที่เป็นเจ้าของที่ดิน โดยเฉพาะในแถบภาคกลาง และภาคเหนือ มีคนชนบทประเภทนี้อยู่มาก ตัวอย่างเช่น ข้อมูลจากการสำรวจ ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๒ - ๒๕๒๖ แสดงให้เห็นว่า จังหวัดที่มีเกษตรกรใช้ที่ดินทำกินมากที่สุด ๕ จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ มีครัวเรือนใช้ที่ดินทำกินร้อยละ ๓๗.๗ พระนครศรีอยุธยา ร้อยละ ๓๐.๒ เชียงใหม่ ร้อยละ ๒๕.๕ สมุทรสาคร ร้อยละ ๒๓.๗ และนนทบุรี ร้อยละ ๒๓.๑ ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมดในแต่ละจังหวัด | ||
แม้ว่าคนเหล่านี้จะไม่มีที่ดินทำกินของตนเอง แต่คนชนบทเหล่านี้ ก็มีโอกาสที่จะหารายได้ โดยการรับจ้างทำการเกษตร เช่น เก็บเกี่ยวข้าว และรับจ้างอื่นๆ ในเขตชนบทก้าวหน้า ซึ่งได้รับค่าจ้างสูงพอสมควร และมีโอกาสทำงานได้เกือบตลอดทั้งปี ดังนั้นแม้คนเหล่านี้ จะมีรายได้ต่ำกว่าพวกที่เป็นเจ้าของที่ดิน แต่ก็ยังมีรายได้สูงกว่าพวกที่ยากจนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีที่ดินทำกินของตนเองเสียอีก |