เขตชนบทปานกลาง นอกจากเขตชนบทก้าวหน้าแล้ว ยังมีชนบทอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งได้รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาประเทศบ้างพอสมควร ซึ่งอาจเรียกได้ว่า "เขตชนบทปานกลาง" คือ มีความก้าวหน้าปานกลาง ได้แก่ บริเวณที่อยู่ใกล้ระบบชลประทาน ซึ่งสามารถป้องกันน้ำท่วม และเสริมปริมาณน้ำ เพื่อการเพาะปลูกในฤดูฝน เช่น เหมืองฝายต่างๆ เกษตรกรสามารถปลูกข้าวนาปี โดยใช้กรรมวิธีการเกษตรแผนใหม่ ซึ่งให้ผลิตผลสูง โดยมีการควบคุมระดับน้ำได้ดีพอสมควร นอกจากนั้น ก็มีการปลูกพืชอายุสั้น เช่น บางแห่งอาจมีการปลูกถั่วต่างๆ ก่อนหรือหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าว ลักษณะของเขตชนบทปานกลางนี้ กระจายอยู่ทั่วไปในทุกภาคของประเทศ | |
วัวแรงงานสำคัญของชาวชนบท | |
เกษตรกรในเขตชนบทปานกลางนี้มีรายได้จากผลิตผลพืชไร่เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากข้าวที่ปลูกส่วนใหญ่เก็บไว้บริโภคในครัวเรือน รายได้ของเกษตรกรในเขตนี้ จะมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับภาวะของฝน และราคาของพืชไร่ในแต่ละปี ถ้าปีใดฝนตกตามฤดู พืชผลดี และราคาในตลาดสูง เกษตรกรก็มีรายได้มาก ถ้าปีใดฝนขาดช่วง หรือฝนแล้ง พืชผลเสียหาย รายได้ก็น้อย ดังนั้น เกษตรกรในเขตชนบทปานกลาง จึงมีความเสี่ยงภัยในด้านรายได้พอสมควร และบางส่วนก็มีหนี้สินติดต่อกัน เนื่องจากมีความจำเป็นต้องกู้มา เพื่อการผลิต แต่ในด้านฐานะความเป็นอยู่ คนชนบทในเขตนี้ส่วนใหญ่เรียกได้ว่า "พออยู่พอกิน" คือ มีข้าวไว้กิน หรือมีรายได้พอ ที่จะซื้อหาอาหาร และสิ่งของเครื่องใช้ได้พอเพียง |