เล่มที่ 13
ชีวิตชนบทไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เขตชนบทยากจน

            สำหรับชนบทอีกส่วนหนึ่ง ที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เราอาจเรียกได้ว่า "เขตชนบทยากจน" คนชนบทในเขตนี้ ยังมีความเป็นอยู่ในสภาพเดิม หรือเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย บ้านเรือนส่วนใหญ่ยังเป็นกระท่อมหลังคามุงจาก อาหารการกินก็พึ่งผักหญ้า พวกสัตว์และแมลงที่อยู่ตามธรรมชาติในท้องถิ่น น้ำกินน้ำใช้ก็อาศัยบ่อน้ำบาดาล หรือสระน้ำสาธารณะ ที่มีอยู่ในหมู่บ้าน เจ็บไข้ได้ป่วย ก็อาศัยยากลางบ้าน ยาแผนโบราณ หรือในบางท้องที่ ก็รักษาทางไสยศาสตร์ การทำมาหากินก็ใช้แรงงานโคกระบือในการไถนา ข้าวที่กินก็ใช้วิธีตำและฝัดข้าว การหุงหาอาหารก็ใช้ฟืน ยังไม่มีไฟฟ้าต้องใช้ตะเกียงลาน

            ใน พ.ศ. ๒๕๐๕ ประมาณว่ามีคนยากจนใน ชนบทถึงร้อยละ ๕๗ เมื่อมีการพัฒนาชนบท อัตราของคนยากจนในชนบท ก็ลดลงตามลำดับ จนถึงประมาณร้อยละ ๓๓ ใน พ.ศ. ๒๕๑๘ - ๒๕๑๙ แม้กระนั้น บ้านเมืองของเราก็ยังมีคนยากจนอยู่ในชนบทจำนวนมาก ถึงประมาณ ๑๑ ล้านคนใน พ.ศ. ๒๕๒๒ คนเหล่านี้กระจายอยู่ในภาคต่างๆ ดังตารางต่อไปนี้

ตารางแสดงจำนวนคนยากจนในชนบทแยกเป็นรายภาค

ภาค

อัตราความยากจน
ในชนบท ๒๕๑๘–๑๙
(ร้อยละ)

จำนวนคนในชนบท ๒๕๒๒
(คน)

จำนวนคนยากจน

(คน)

(ร้อยละ)

  ตะวันออกเฉียงเหนือ
  เหนือ
  ใต้
  กลาง

๔๕
๓๔
๓๓
๑๕

๑๓,๓๗๒,๘๗๗
๗,๙๑๑,๐๓๘
๔,๗๑๙,๕๖๔
๘,๓๓๙,๑๓๖

๖,๐๑๗,๗๙๕
๒,๖๘๙,๗๕๓
๑,๕๕๗,๔๕๖
๑,๒๕๐,๘๗๐

๕๒.๓
๒๓.๓
๑๓.๕
๑๐.๙

  ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพัฒนาชนบทยากจนในระยะ
          ของแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๕

            ความยากจนของคนชนบทเหล่านี้ อาจแสดงให้เห็นได้ในรูปของความอดอยากหิวโหย และขาดแคลน ไม่มีอาหารการกิน หรือไม่มีความรู้ในเรื่องอาหารเพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย เนื่องจากคนชนบทยากจนส่วนใหญ่ ซึ่งอยู่ในภาคอีสานจะทำนา โดยการพึ่งน้ำฝน ถ้าปีไหนฝนแล้ง ข้าวก็เสียหาย มีไม่พอกิน นอกจากนั้น ในปีปกติคนชนบทยากจนนี้ ก็สามารถปลูกข้าวได้พอเหลือขายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากสภาพของพื้นที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ ดินบางแห่งมีปัญหาเรื่องดินเค็ม ทำให้ผลิตผลของข้าวที่ปลูกมีจำกัดประมาณ ๒๐-๒๕ ถังต่อไร่ เท่านั้น
การไถนาโดยอาศัยแรงงานของควาย
การไถนาโดยอาศัยแรงงานของควาย
            นอกจากการขาดแคลนข้าวแล้ว ยังขาดแคลนอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ที่ให้โปรตีนแก่ร่างกาย คนชนบทส่วนนี้ จะมีโอกาสกินปลาเฉพาะในฤดูฝน และฤดูน้ำ โดยเฉลี่ยเพียงคนละ ๑๐ กิโลกรัมต่อปีเท่านั้น ซึ่งเป็นอัตราการกินปลาที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับอัตรามาตรฐาน ที่มนุษย์แต่ละคนกินปลา คือ ประมาณ ๔๐ กิโลกรัมต่อปี ส่วนการกินไก่นั้น แม้ชาวชนบทส่วนใหญ่จะเลี้ยงไก่ไว้เพื่อกิน ครัวเรือนละ ๑๐-๑๒ ตัว แต่ก็มักจะมีปัญหาเรื่องโรคระบาดทุกปี คือ โรคอหิวาต์ หรือโรคระบาดอื่นๆ ของไก่ ทำให้ไก่ต้องตายถึงร้อยละ ๘๐-๙๐ ทำให้คนชนบทยากจนหนึ่งครัวเรือน ต้องใช้เวลาถึง ๔๐ วันจึงจะได้กินไก่หนึ่งตัว ในขณะที่คนในกรุเทพฯ มีโอกาสกินไก่หนึ่งตัวในทุกๆ ๓ วัน

            นอกจากเรื่องอาหารการกินแล้ว คนชนบทยากจน ยังขาดแคลนโคกระบือ ที่ใช้ในการทำไร่ ไถนา ในชนบทภาคเหนือ และภาคอีสาน มีคนชนบทจำนวนมาก ที่มีที่ดิน หรือเช่าที่ดิน แต่ไม่มีโคกระบือ และต้องเช่าจากคนอื่น ในเขตชนบทบางแห่ง คนยากจนต้องหาเงินค่าเช่าไปจ่ายให้เจ้าของโคกระบือล่วงหน้า ก่อนนำมาใช้งาน ถ้าไม่มีเงินก็ไม่มีใครยอมให้เช่า ปีนั้นก็ไม่ต้องทำนากัน หรือในชนบทบางแห่งอาจให้ค่าเช่าทีหลังได้ แต่ค่าเช่าก็สูง คิดเป็นข้าว ๕๐-๑๐๐ ถังต่อการเช่าโคกระบือ ๑ ตัวในหนึ่งฤดูทำนา ทำให้ข้าวที่เหลือเก็บไว้ เพื่อกินในครอบครัวของคนชนบทยากจนเหล่านี้ น้อยลงยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการซ้ำเติมภาวะความยากจนแก่พวกเขา
กระท่อม ที่อยู่อาศัยของชาวชนบทยากจน
กระท่อม ที่อยู่อาศัยของชาวชนบทยากจน
            ความยากจนของคนชนบทยังแสดงออกในลักษณะของความเจ็บไข้ได้ป่วย เช่น โรคพยาธิ โดยเฉลี่ยคนชนบทเป็นโรคพยาธิร้อยละ ๖๓ บางหมู่บ้านในภาคอีสาน จะเป็นโรคพยาธิกันถึงร้อยละ ๑๐๐ โรคโลหิตจางก็เป็นกันมาก ชาวนาในภาคอีสานเป็นโรคโลหิตจางถึงกว่าร้อยละ ๙๐ มีผลทำให้พลังรับรู้ และการเรียนรู้ต่ำลง ร่างกายอ่อนแอ และประสิทธิภาพการทำงานลดลง โรคติดเชื้อก็เป็นกันมาก เพราะกินอาหารไม่เพียงพอ ขาดสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย ทำให้ขาดภูมิคุ้มกันโรค กลไกของอวัยวะต่างๆ ทำงานไม่ดี ติดเชื้อได้ง่าย เช่น ท้องเดิน ตับอักเสบ ไทฟอยด์ นิวมอเนีย มีคนไข้ในชนบทจำนวนมาก ที่ตายในโรงพยาบาล ด้วยโรคติดเชื้อนี้
            สิ่งที่แสดงถึงความยากจนในชนบทอีก ประการหนึ่งก็คือ ความไม่รู้ ซึ่งรวมถึงการด้อยการศึกษา และการขาดความรู้ในสภาพแวดล้อมที่จะสามารถช่วยตนเองได้ ไม่รู้ถึงวิธีที่จะปรับปรุงการผลิตให้ผลิตผลเพิ่มขึ้น ไม่มีความรู้เรื่องการป้องกันตนเองจากโรคภัยไข้เจ็บ และป้องกันโรคระบาดของสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านของพวกเขา