เล่มที่ 13
ชีวิตชนบทไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การเปลี่ยนแปลงชีวิตในชนบท

            ชนบทได้มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดเวลา เริ่มจากเมื่อคนในชนบทมีจำนวนมากขึ้น ที่ดินทำกินที่ทำอยู่เดิมก็ไม่พอ จำเป็นต้องขยายพื้นที่เพาะปลูก โดยการบุกเบิกพื้นที่รกร้างว่างเปล่า หรือที่ป่า ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นที่พื้นที่ราบสูง ไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูกข้าว แต่เหมาะกับ การปลูกพืชไร่ จำพวกข้าวโพด ข้าวฟ่าง มันสำปะหลัง ปอ และอ้อย วิถีชีวิตของคนชนบท จึงเปลี่ยนไปจากการทำนาบนที่ราบลุ่ม ไปสู่การเพาะปลูกพืชไร่บนพื้นที่ดอนเพิ่มขึ้น เดิมคนชนบทปลูกข้าว โดยเก็บส่วนหนึ่งไว้บริโภค ส่วนที่เหลือจึงนำไปขาย แต่เมื่อมาทำการเพาะปลูกพืชไร่ จึงต้องเอาผลิตผลของพืชไร่เหล่านี้มาขาย แล้วจึงนำรายได้มาซื้อข้าวบริโภค ทำให้เกิดการค้าขายและตลาด แพร่กระจายกว้างขวางขึ้น ในสังคมชนบทมากขึ้นทุกที
ผลมะม่วงหิมพานต์
ผลมะม่วงหิมพานต์
            การเปลี่ยนแปลงในสังคมชนบท เริ่มจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนคนในชนบท มีผลทำให้ต้องขยายพื้นที่การเพาะปลูก และต้องเปลี่ยนชนิดของพืชผลจากการเพาะปลูกข้าว เป็นการปลูกพืชชนิดอื่นตามความเหมาะสมของพื้นที่ สภาพที่ชาวชนบททำมาหากิน และกินอยู่ โดยอาศัยธรรมชาติก็ค่อยๆ หมดไป การค้าขาย และอาศัยเงินเป็นปัจจัย ก็มีความสำคัญเพิ่มขึ้นทุกที ชีวิตของชาวชนบทจึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัว เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว
ไร่ข้าวโพด
ไร่ข้าวโพด
            นอกจากการย้ายถิ่นที่อยู่ ไปทำการเกษตรกรรมยังที่แหล่งอื่นแล้ว ในระยะที่ผ่านมา วิถีชีวิตของคนชนบทบางส่วน ยังเปลี่ยนไปในรูปแบบต่างๆ กันคือ
            ก. คนชนบทบางส่วนละการทำงานภาคเกษตร และเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองใหญ่ๆ หรือ กรุงเทพฯ คนเหล่านี้เข้าทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง ร้านค้า ตลอดจนรับจ้างทำงานในบ้านที่อยู่อาศัยของคนในเมือง
ไร่มันสำปะหลัง พืชไร่ที่ทำรายได้ดี นิยมปลูกในพื้นที่ที่ไม่เหมาะกับการปลูกข้าว
ไร่มันสำปะหลัง พืชไร่ที่ทำรายได้ดี นิยมปลูกในพื้นที่ที่ไม่เหมาะกับการปลูกข้าว
            ข. คนชนบทที่เปลี่ยนการประกอบอาชีพ จากการเป็นเกษตรกร หันมาประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น เป็นพ่อค้า ช่างก่อสร้าง ช่างไม้ ช่างปูน การ รับจ้างขนส่ง ฯลฯ แต่คนเหล่านี้ก็ยังอาศัยอยู่ในท้องถิ่นชนบทของตน

อาชีพช่างก่อสร้าง อาชีพหนึ่งที่ชาวชนบทหันมารับจ้างทำทั้งในเมืองใหญ่ ๆ และในท้องถิ่นเมื่อละจากการทำงานภาคเกษตรอาชีพช่างก่อสร้าง อาชีพหนึ่งที่ชาวชนบทหันมารับจ้างทำทั้งในเมืองใหญ่ๆ และในท้องถิ่นเมื่อละจากการทำงานภาคเกษตร

            ค. คนชนบทที่ยังประกอบอาชีพทางการเกษตร โดยทำนาในช่วงฤดูฝนที่เรียกกันว่า "นาปี" พอช่วงฤดูแล้งที่ว่างงานในไร่นา คน ชนบทเหล่านี้ก็จะทำงานอื่นๆ เช่น งานหัตถกรรมพื้นบ้าน ได้แก่ การจักสานกระบุง ตะกร้า การทอ ผ้า ทอเสื่อ เพื่อไว้ใช้และขายเป็นรายได้แก่ครอบครัว หรือทำงานในสาขาอุตสาหกรรมและอื่นๆ เพื่อเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ครอบครัว

การจักสานกระบุง ตะกร้า เป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านอย่างหนึ่ง ที่ชาวชนบททำ ในช่วงที่ว่างงานในไร่นาการจักสานกระบุง ตะกร้าเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านอย่างหนึ่งที่ชาวชนบททำในช่วงที่ว่างงานในไร่นา

            ง. คนชนบทที่ประกอบอาชีพทางการเกษตร โดยการปลูกข้าวหรือพืชไร่ และในช่วงที่มีเวลาว่างจากการเกษตร ก็จะรับจ้างทั่วไป เช่น ขุดดิน เลื่อยไม้ และซ่อมแซมบ้านเรือนให้แก่เพื่อนบ้านในท้องถิ่น หรืออพยพไปหางานทำในสาขาการเกษตร และนอกการเกษตรในท้องที่อื่นๆ และ บางส่วนก็เข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯ
การรับจ้างเตรียมดิน งานอีกอย่างหนึ่งที่ชาวชนบททำในช่วงที่ว่างงานในไร่นา
การรับจ้างเตรียมดิน งานอีกอย่างหนึ่งที่ชาวชนบททำในช่วงที่ว่างงานในไร่นา
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงชีวิตของ คนในชนบท

            ในสมัยเดิมที่คนในชนบทเกือบทั้งหมด ต้องพึ่งธรรมชาติ กล่าวคือ การประกอบอาชีพทางการเกษตร ต่างก็ต้องพึ่งน้ำฝน ที่ตกตามฤดูกาลเหมือนกัน ในสมัยนั้นความแตกต่างในฐานะของคนชนบทมีไม่มากนัก ต่อมาการพัฒนาชนบทของรัฐบาล ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการ มีผลทำให้ฐานะความเป็นอยู่ของคนในชนบทแตกต่างกันมากขึ้นทุกปี ปัจจัยสำคัญๆ ซึ่งมีส่วนเปลี่ยนแปลงฐานะของคนชนบทบางส่วนอาจสรุปได้ดังนี้

            ปัจจัยประการแรก ได้แก่ การควบคุมธรรมชาติ เช่น การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกในฤดูน้ำหลาก และเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ เพื่อการเพาะปลูกในฤดูแล้ง การเพาะปลูกโดยอาศัยน้ำจากเขื่อนนี้ มีผลทำให้ชาวนาสามารถปลูกข้าวในฤดูแล้ง ที่เรียกกันว่า "นาปรัง" โดยทำการเพาะปลูก และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม ทำให้ผลิตผลของข้าวเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นแม้ในปีใดที่ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ชาวนาที่อยู่ในบริเวณที่สามารถรับน้ำ จากเขื่อนชลประทานนี้ได้ ทางเขื่อนก็จะปล่อยน้ำที่กักเก็บไว้มาให้ชาวนา เพื่อใช้ในการเพาะปลูกในปีนั้น ทำให้ชาวนาเหล่านี้ ไม่ต้องรอพึ่งฝนตามธรรมชาติ เขื่อนใหญ่ๆ ของประเทศที่ให้น้ำ เพื่อการเพาะปลูกแก่คนชนบทเหล่านี้ เช่น เขื่อนภูมิพล หรือที่เรียกกันว่า เขื่อนยันฮี ที่จังหวัดตาก และเขื่อนสิริกิติ์ ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นต้น ในการทำการเกษตรโดยอาศัยชลประทานนี้ ยังมีการปรับปรุงที่ดิน เพื่อให้มีการส่งน้ำเข้าออกในที่ดินการเกษตรได้สะดวก และเหมาะสมอีกด้วย อย่างไรก็ดี เขื่อนใหญ่ๆ เหล่านี้ จะสร้างได้เป็นบางแห่ง ตามแม่น้ำสายสำคัญๆ เท่านั้น ดังนั้น การใช้ระบบชลประทาน จึงมีอยู่เฉพาะในพื้นที่ชนบทบางแห่งเท่านั้น พื้นที่ชลประทานขณะนี้มีมากในภาคกลาง และภาคเหนือ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้นั้น มีพื้นที่ชลประทานน้อยมาก เนื่องจากภูมิประเทศไม่อำนวย
เขื่อนน้ำเชิญ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น เขื่อนกักเก็บน้ำเพื่อการชลประทานแห่งหนึ่ง
การกักเก็บน้ำด้วยระบบชลประทาน ช่วยให้มีน้ำเพียงพอ สำหรับการเพาะปลูกในฤดูแล้ง
            นอกจากการควบคุมธรรมชาติแล้ว ได้มีการ นำความรู้ทางการเกษตรมาใช้ โดยนำพันธุ์พืชใหม่ที่ให้ผลิตผลเพิ่มมากขึ้น สามารถต้านทานโรคได้ดีขึ้น และเหมาะสมกับสภาพของพื้นที่มาใช้ แทนพันธุ์พืชเก่า หรือพันธุ์พื้นเมืองที่ใช้กันมานาน เช่น ข้าว กข. พันธุ์หมายเลยต่างๆ ทั้งข้าวเหนียว และข้าวเจ้าให้ผลิตผลเพียง ๖๗-๗๕ ถังต่อไร่ เทียบกับข้าวพันธุ์พื้นเมือง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ผลิตผลเพียง ๒๕-๓๐ ถังต่อไร่ ข้าวซิวแม่จันเป็นพันธุ์ข้าวชนิดข้าวเหนียว ที่สามารถปลูกได้ ทั้งในพื้นที่ราบมีน้ำขัง และพื้นที่ดอน ให้ผลิตผลประมาณ ๔๐ ถังต่อไร่ เมื่อเทียบกับข้าวไร่พันธุ์พื้นเมือง ซึ่งให้ผลิตผลประมาณ ๒๐-๒๕ ถังต่อไร่ ข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ หมายเลย ๑ และ ๒ ให้ผลิตผลประมาณ ๔๐๐- ๕๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ เทียบกับข้าวโพดพันธุ์พื้นเมือง ให้ผลิตผลประมาณ ๒๕๐-๓๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ เป็นต้น

การรับจ้างเตรียมดิน งานอีกอย่างหนึ่งที่ชาวชนบททำในช่วงที่ว่างงานในไร่นาอ้อย พืชที่มีอัตราราคาพืชผลสูง ทำให้ชาวชนบทหันมาปลูกกันมาก

            ราคาของพืชผล ก็มีส่วนทำให้คนชนบทเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิต ซึ่งทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของคนเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไป เช่น ในอดีต ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปลูกข้าวเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาราคาปอและมันสำปะหลังสูง คนชนบทบางส่วน ก็เพิ่มเนื้อที่ปลูกปอ และมันสำปะหลังกันมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงชนิดของพืชผล และราคาพืชผลที่สูงขึ้นนี้ มีผลทำให้ฐานะของคนชนบทดีขึ้นด้วย ในท้องถิ่นที่สามารถเพาะปลูกพืชที่มีราคาสูง รายได้ของคนชนบทนั้นๆ ก็จะสูงตามไปด้วย เพราะการเพาะปลูกแต่ละอย่าง จะให้ผลตอบแทนไม่เท่ากัน เช่น ในปีการเพาะปลูก ๒๕๒๕ - ๒๕๒๖ การใช้เนื้อที่ ๑ ไร่ เพื่อการ ปลูกพืชต่างชนิดกัน จะทำให้ได้กำไร หรือรายได้ที่แตกต่างกันคือ ถ้าปลูกข้าวได้กำไร ๕๗๙ บาท ปลูกข้าวโพดได้กำไร ๒๐๖ บาท ปลูกมันสำปะหลัง ได้กำไร ๖๗๗ บาท และปลูกอ้อยได้กำไร ๘๐๐ บาท อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนเหล่านี้ จะเปลี่ยนแปลงไปทุกปี นอกจากนั้น พืชชนิดที่ให้ผลตอบแทนสูงนั้น อาจสามารถทำการเพาะปลูกได้เพียงบางแห่งเท่านั้น ในเขตที่ไม่สามารถเพาะปลูกพืชเหล่านี้ได้ คนชนบทเหล่านั้น ก็ยังคงได้รับผลตอบแทนต่ำอยู่เช่นเดิม

            ค่าจ้างและโอกาสในการทำงาน โดยที่ชนบทเขตต่างๆ มีความแตกต่างกัน ทำให้คนชนบทในเขตที่ไม่มีงานทำในฤดูแล้ง ต้องเดินทางจากท้องถิ่นของตน มารับจ้างทำงานการเกษตร และนอกการเกษตรในเขตที่มีงานให้ทำ หรือมีค่าจ้างสูงกว่าการรับจ้างทำเกษตรในท้องถิ่นของตน จะเห็นตัวอย่างได้ จากการที่คนชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ได้มารับจ้างตัดอ้อยในภาคกลาง ซึ่งได้ค่าจ้างใน พ.ศ. ๒๕๓๐ ประมาณ ๖๕-๗๐ บาทต่อวัน หรือการรับจ้างกรีดยาง ในภาคใต้ ซึ่งได้ค่าจ้างไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ บาทต่อวัน นอกจากนี้โอกาสในการทำงาน หรือระยะเวลาที่จะมีงานให้ทำนั้นก็ต่างกัน การรับจ้างทำนาในภาคอีสานจะมีงานให้ทำไม่เกิน ๙๐ วัน ใน ๑ ปี เพราะเขตชนบทในภาคอีสานนั้น ส่วนใหญ่ยังปลูกข้าวได้เฉพาะฤดูฝนเท่านั้น ส่วนฤดูแล้งส่วนใหญ่จะไม่มีน้ำเพียงพอ เพื่อใช้ในการปลูกข้าว หรือพืชไร่อื่นๆ ได้เลย ส่วนการรับจ้างกรีดยางในภาคใต้ จะมีโอกาสได้ทำงานถึง ๒๐๐ วันใน ๑ ปี สำหรับการรับจ้างนอกการเกษตร ได้แก่ การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม และการรับจ้างทั่วไปในเมืองหรือกรุงเทพฯ ได้รับค่าจ้างตามพระราชบัญญัติกฎหมายแรงงาน คือ ในต้น พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้วันละ ๗๘ บาท และอาจมีงานทำตลอดทั้งปี แต่งานเหล่านี้ก็มีไม่มากพอ สำหรับคนชนบทจำนวนมากของเรา ซึ่งไม่สามารถทำการเกษตรในฤดูแล้ง

การรับจ้างกรีดยางในภาคใต้ อาชีพที่ให้รายได้ดีและมีช่วงการทำงานยาวนานการรับจ้างกรีดยางในภาคใต้ อาชีพที่ให้รายได้ดี และมีช่วงการทำงานยาวนาน

            บริการสาธารณะ บริการสาธารณะประเภทต่างๆ ของรัฐบาลก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งมีผลช่วยทำให้เกิดความแตกต่าง ในสภาพชีวิตของคนชนบทในบางพื้นที่ คนชนบทมีโอกาสได้รับบริการพื้นฐานที่มีคุณภาพดี เช่น ในด้านการสาธารณสุข และการศึกษา เป็นต้น บริการเหล่านี้ ทำให้คนชนบทในบางท้องที่มีความรู้เพียงพอแก่การดำรงชีพ และมีสุขภาพดี แต่ในบางท้องที่ชนบท คนชนบทจำนวนมากก็ยังไม่มีโอกาสได้รับบริการเหล่านี้อย่างทั่วถึง หรือในบางกรณี ก็เป็นบริการที่มีคุณภาพไม่ดี คนชนบทส่วนหลังนี้ ต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บ การขาดธาตุอาหารที่จำเป็น และการขาดความรู้ที่จำเป็นแก่การประกอบอาชีพ เป็นต้น