เล่มที่ 13
นาฏศิลป์ไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ระบำ

            ระบำ หมายถึง การแสดงที่มุ่งหมายความสวยงาม และความบันเทิงเป็นสำคัญ ไม่มีเรื่องราว ผู้แสดงจะมีจำนวนเท่าใดก็ได้ อาจเป็นระบำเดี่ยว คือ รำคนเดียว ระบำคู่ รำ ๒ คน หรือระบำหมู่ รำหลายๆ คน

            ระบำหมู่สมัยโบราณก็คือระบำที่เรียกว่า "ระบำสี่บท" มักจะเป็นการจับระบำของเทวดากับนางฟ้า เรียกว่า ระบำสี่บท เนื่องจาก มีทำนองเพลงร้อง และบรรเลงดนตรีอยู่ ๔ เพลง คือ เพลงพระทอง เพลงเบ้าหลุด เพลงสระบุหร่ง (อ่านว่า สะหระบุหร่ง) และเพลงบหลิ่ม (อ่านว่า บะหลิ่ม) ในสมัยโบราณท่านแต่งคำร้องเป็นเพลงละบท จึงเป็น ๔ บทจริงๆ สมัยต่อมา มักจะลดบทร้องให้สั้นเข้า เป็นบทละ ๒ เพลง และบางทีก็ลดเพลงลงเหลือเพียง ๒ เพลง หรือเพลงเดียวก็มี ซึ่งจะเรียกระบำสี่บทไม่ได้ แต่การรำยังคงใช้แบบของระบำสี่บทอยู่ตามเดิม

            ต่อมา ได้มีผู้คิดระบำอื่นๆ ขึ้นอีกหลายอย่าง บางทีก็ร้องแล้วดนตรีรับเหมือนระบำสี่บท บางทีก็ร้องและคลอดนตรีไปพร้อมๆ กัน ซึ่งวิวัฒนาการไปตามสิ่งแวดล้อม และกาลสมัย เช่น

ระบำย่องหงิด (หรือ ยู่หงิด)
ระบำดาวดึงส์
ระบำกฤดาภินิหาร
ระบำนพรัตน์
ระบำกฤดาภินิหาร
ระบำกฤดาภินิหาร
ปัจจุบันนี้มีจนถึงระบำสัตว์ต่างๆ ซึ่งเป็นการรำเลียนท่าสัตว์นั้นๆ เช่น

ระบำม้า ประกอบเพลงอัศวลีลา
ระบำนกยูง ประกอบเพลงมยุราภิรมย์
ระบำกวาง ประกองเพลงมฤคระเริง
ระบำควาย ประกอบเพลงบันเทิงกาสร
ระบำช้าง ประกอบเพลงกุญชรเกษม
ระบำนพรัตน์
ระบำนพรัตน์
            หัวใจของการแสดงระบำก็คือ ความพร้อมเพรียง ความสวยงาม และเพื่อความบันเทิง ระบำบางชนิดไม่สวยงามเลย แต่เพื่อความบันเทิง เช่น ระบำก็อย จากละครเรื่องเงาะป่า พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ ผู้แสดงทาตัวด้วยสีดำ นุ่งผ้าสั้น เรียกว่า "เลาเตี้ยะ" ถือไม้ซาง เรียกว่า "บอเลา"