เล่มที่ 13
การละเล่นของไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การละเล่นของหลวง

            การละเล่นของหลวงที่มีมาแต่กรุงศรีอยุธยา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ หมายถึง การละเล่นที่แสดงในพระราชพิธีต่างๆ ไม่ได้หมายความว่า แสดงหน้าที่นั่งในเขตพระราชฐาน ข้างนอกก็แสดงได้ เท่าที่ปรากฏในหนังสือต่างๆ และภาพจิตรกรรมฝาผนัง มีอยู่ ๕ อย่าง คือ ระเบ็งโมงครุ่ม กุลาตีไม้ แทงวิสัย และกระอั้วแทงควายผู้เล่นเป็นชายล้วน มีครั้งเดียวในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๕ โปรดเกล้าฯ ให้ผู้หญิง คือ นางเถ้าแก่เล่นระเบ็งแทนชาย ในงานโสกันต์ พระเจ้าน้องยาเธอ และพระเจ้าน้องนางเธอ ๕ พระองค์ มีปรากฏในพระราชนิพนธ์โคลงดั้นเรื่องโสกันต์

ระเบ็ง

            ระเบ็งเป็นการละเล่นในชุดพระราชพิธีที่แปลกกว่าอย่างอื่น คือ แสดงเป็นเรื่องมาจากเทพนิยาย เนื้อร้องกล่าวถึง เทวดามาบอกให้บรรดากษัตริย์ร้อยเอ็ดเจ็ดพระนครไปเขาไกรลาส ระหว่างเดินทางก็เดินชมนกชมไม้ไป จนพบพระกาลมาขวางทางไว้ กษัตริย์เหล่านั้นไม่รู้จัก ก็ไล่ให้หลีกทางไป เงื้อธนูจะยิง พระกาลกริ้วมาก จึงสาปให้สลบ แล้วพระกาลเกิดสงสาร จึงถอนคำสาบให้ฟื้นดังเดิม แล้วขอร้องให้กลับเมืองดังเดิม กษัตริย์ก็เชื่อฟังกลับเมือง

            การแต่งกาย ผู้เล่นเป็นกษัตริย์น้อยใหญ่ แต่งกายเหมือนกันทุกคน นุ่งสนับเพลา นุ่งผ้าเกี้ยว สวมเสื้อคอตั้งแขนยาว ปล่อยชายไว้นอกผ้านุ่ง มีผ้าคาดพุง ศีรษะสวมเทริด มือถือธนู
การเล่นระเบ็ง
การเล่นระเบ็ง
            ผู้เล่นเป็นพระกาลแต่งกายได้ ๒ แบบ คือ เครื่องแต่งตัวเหมือนผู้เล่นเป็นกษัตริย์น้อยใหญ่ สวมเสื้อครุยทับ ศีรษะสวมลอมพอก (ชฎาเทวดาตลก สีขาว ยอดแหลมสูง) หรือแต่งตัวยืนเครื่อง ทรงเครื่องเหมือนกษัตริย์ในละครรำ แต่ไม่สวมเสื้อ

            การเล่นในสมัยก่อนใช้ฆ้อง ๓ ใบเถาเรียกว่า "ฆ้องระเบง" ตีรับท้ายคำร้องทุกๆ วรรค โดยตีลูกเสียงสูงมาหาต่ำ จากต่ำมาหาสูง ปรากฏในพระราชนิพนธ์โคลงดั้น เรื่อง "โสกันต์" ต่อมาใช้ปี่พาทย์บรรเลง เริ่มต้นจะบรรเลงเพลง "แทงวิสัย" ซึ่งเป็นจังหวะที่เหมาะกับการเต้นของผู้เล่นเป็นกษัตริย์น้อยใหญ่ ซึ่งจะมีจำนวนเท่าไรก็ได้ ให้พอกับเวที หรือสนามที่เล่น เมื่อเต้นไปสุดเวที ผู้เล่นที่อยู่หัวแถวจะร้องต้นบทว่า "โอละพ่อถวายบังคม" ผู้เล่นทั้งหมดจะร้องรับพร้อมๆ กันว่า "โอละพ่อถวายบังคม" ผู้เล่นทำท่าถวายบังคมไปด้วย เป็นการรำถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดิน

            ต่อจากรำถวายบังคมแล้ว ผู้เล่นจะแปรแถวอย่างเป็นระเบียบ แล้วผู้เล่นก็ร้องบทต่อไป ลุกขึ้นเต้น ปากก็ร้องบทไปเรื่อยๆ เมื่อยกขาขวา จะทำท่าเอาลูกธนูตีลงไปบนคันธนู วางขาขวายกขาซ้าย เหยียดมือขวาออกไปข้างตัวจนสุดแขน เป็นท่าง้างธนู จนกระทั่งมาพบพระกาล
ตัวอย่างบทถวายบังคมตอนหนึ่งมีว่า
โอละพ่อขอถวายบังคม
โอละพ่อประนมกรทั้งปวง
โอละพ่อบัวตูมทั้งปวง
โอละพ่อบัวบานทั้งปวง ฯลฯ
มีบทเดินดง ชมนก ชมไม้ บทปะทะ พบพระกาล บทพระกาลสาป และบทคืนเมือง


โมงครุ่ม (มงครุ่ม)

            เป็นการละเล่นมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา การแต่งตัวของผู้เล่นเหมือนกับระเบ็ง มือถือไม้กำพด คือ กระบองสั้น แต่มีด้ามยาว มีกลองประกอบการเล่น กลองใหญ่เหมือนกลองทัด หน้ากว้างประมาณ ๕๕ เซนติเมตร ผู้เล่นแบ่งออกเป็นกลุ่ม จะมีกี่กลุ่มก็ได้ กลุ่มละ ๔ คน กลุ่มหนึ่งมีกลองโมงครุ่ม ๑ ใบ อยู่ตรงกลางด้านหน้ามีผู้เล่น ๑ คน มายืนตรงหน้าคอยตีโหม่ง บอกท่าทาง ให้ผู้เล่นทำตาม
การเล่นโมงครุ่ม หรือมงครุ่ม
การเล่นโมงครุ่ม หรือมงครุ่ม
            เมื่อผู้ตีโหม่งให้สัญญาณ ผู้เล่นเข้าประจำที่แล้ว คนตีโหม่งจะร้อง "อีหลัดถัดทา" และตีโหม่ง ๒ ที แล้วบอกท่าต่างๆ ผู้เล่นจะยักเอว ซ้ายที ขวาที จะร้อง "ถัดถัดท่า ถัดท่าท่าถัด" จนกว่าคนตีโหม่งจะให้สัญญาณเปลี่ยนท่า ผู้ตีโหม่ง จะรัวสัญญาณ ให้ผู้เล่นหยุดยืนอยู่กับที่ ด้วยวิธีร้องบอกว่า "โมงครุ่ม" ตีโหม่ง ๒ ที (มงๆ) ผู้เล่นจะใช้ไม้กำพดตีหนังกลอง ซ้ายที ขวาที (ดังครุ่มๆ) ผู้ตีโหม่งจะรัวสัญญาณให้ผู้เล่นหยุด แล้วบอกท่าใหม่ ท่าที่เล่นมีมากมายหลายท่า เช่น ท่าบัวตูม ท่าบัวบาน ท่าลมพัด ท่ามังกรฟาดหาง พระจันทร์ทรงกลด เมขลาล่อแก้ว รามสูรขว้างขวาน ฯลฯ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัตติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์ท่ารำโบราณไว้ในสาส์นสมเด็จ การเล่นแบบนี้บางท่านเรียก "อีหลัดถัดทา" ที่เรียกว่าโมงครุ่ม สันนิษฐานว่า คงจะเรียกชื่อตามเสียงโหม่ง และเสียงกลองที่ดัง

กุลาตีไม้

            ในสมัยโบราณคงจะเล่นคู่กันกับ "โมงครุ่ม" เพราะการแต่งตัวเหมือนกัน ถือไม้กำพดเหมือนกัน ปัจจุบันแยกออกเป็นการละเล่น ๒ ชนิด คือ กุลาตีไม้ไม่มีดนตรีประกอบ ผู้เล่นจะแบ่งเป็นกลุ่มกี่กลุ่มก็ได้ ตามความเหมาะสมกับสถานที่ กลุ่มหนึ่งต้องมีจำนวนคู่ นั่งคุกเข่าหันหน้าเข้าหากัน ล้อมเป็นวงกลม วางไม้กำพตพาดทับกันไว้ตรงด้านหน้า เริ่มเล่นด้วยการร้อง แล้วตบมือให้เข้ากับจังหวะ แล้วจะหยิบไม้กำพตตีเป็นจังหวะ แล้วหันไปตีกับคนซ้ายและขวา แล้วลุกขึ้นยืนตีกันเป็นคู่ๆ ท่าที่ขยับย่าง และใช้ไม้กำพตตีกันจะเป็นไปตามจังหวะเพลงที่ร้อง ทำซ้ำๆ เรื่อยๆ ไปตอนจะเลิก ผู้เล่นตีกันเป็นคู่ๆ ออกไปจากสถานที่เล่น
การเล่นกุลาตีไม้
การเล่นกุลาตีไม้
บทร้องประกอบมีว่า

ศักดานุภาพล้ำ   แดนไตร
สิทธิครูมอบให้   จึงแจ้ง
ฤทธาเชี่ยวชาญชัย   เหตุใคร นาพ่อ
พระเดชพระคุณปกเกล้า   ไพร่ฟ้าอยู่เย็น
แทงวิสัย

            เป็นการละเล่นที่ใช้เวลาไม่นานนักเพียงชั่วแห่ขบวนโสกันต์ ผู้เล่นแต่งตัวสวมเสื้อผ้ารุ่มร่าม ผัดหน้าติดหนวดเครา คล้ายตัวเสี้ยวกาง ของจีน ศีรษะสวมเทริด มือถือหอกหรือทวน ผู้เล่นจะใช้ปลายอาวุธแตะกันข้างบนบ้าง ข้างล่างบ้าง เต้นเวียนไปเวียนมา ซ้ายที ขวาที ตามทำนอง และจังหวะของปี่พาทย์ที่บรรเลงประกอบ เพลงนี้บางท่านว่า ชื่อเพลง "แทงวิสัย"

กระอั้วแทงควาย

            กระอั้วแทงควายเป็นการเล่นของทวายหรือของพม่า มอญ มีผู้เล่น ๔ คน คำว่า "กระอั้ว" ไม่ใช่ภาษาไทย เป็นภาษาทวาย เป็นชื่อสามีของนาง "กะแอ" ผู้เล่นชุดนี้มี ๔ คน คือ ตากระอั้ว นางกะแอ และควาย ซึ่งใช้ผู้เล่น ๒ คน อยู่ในชุดควาย คือ เป็นตอนหัวควาย ๑ คน และตอนท้ายอีก ๑ คน ผู้เล่นเป็นกระอั้วใส่เสื้อกะเหรี่ยงยาว ชายเสื้อคลุมถึงน่อง หัวใส่ลองเป็นเกล้าผมสูง ถือหอกใหญ่ ใบกว้าง ทำด้วยกระดาษ ผู้ที่เล่นเป็นนางกะแอ แต่งตัวเป็นผู้หญิง ผัดหน้าขาว แต้มไฝเม็ดใหญ่ หัวสวมผมปีก นุ่งผ้าถุง ใส่เสื้อเอว ห่มผ้าแถบสีแดงห้อยบ่า กระเดียดกระทาย ถือร่ม ในขณะเล่นใช้ร่มคอยค้ำควายไว้ เพื่อป้องกันตัว

            การดำเนินการแสดงไม่มีอะไรแสดงว่า ยุ่งยากมากนัก เพราะเป็นการเล่นสนุกๆ ให้เกิดความขบขันมากกว่าอย่างอื่น เป็นการแสดงการล่าควาย ในระหว่างที่แสดง ก็ทำท่าขบขันต่างๆ เช่น การหลอกล่อ หลบหนี การไล่ติดตามระหว่างควายและตากระอั้ว ประกอบกับการทำท่าทางตกอกตกใจของนางกะแอ จนผ้าห่มหลุดลุ่ย เป็นที่สนุกขบขันเฮฮา และท่าทางดีใจของสองผัวเมีย เมื่อแทงควายได้สำเร็จ เป็นต้น

นอกจากการละเล่นทั้ง ๕ อย่างแล้ว ยังมีการรำเบิกโรงชื่อว่า "ประเลง" คำว่าประเลงอาจ มาจากคำว่า "บรรเลง"

ประเลง

            เป็นการละเล่นของหลวงที่เก่าแก่มาก โดยเฉพาะใช้เป็นรำเบิกโรง ผู้แสดงแต่งตัวเป็นเทวดา สวมหน้า ศีรษะโล้น (ไม่มียอดแหลม) สองมือถือหางนกยูง มาร่ายรำตามขบวนเพลงต่างๆ รำประเลงนี้ ก็เป็นวิธีหนึ่งที่เรียกว่า ปัดรังควาน ขับไล่สิ่งอปมงคลให้หายไป นำสิริมงคลมาสู่โรงและผู้แสดง