ผลกระทบเมื่อก๊าซโอโซนในบรรยากาศชั้นสตราโทสเฟียร์ถูกทำลาย
เมื่อก๊าซโอโซนในบรรยากาศชั้นสตราโทเฟียร์ถูกทำลาย จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่อง ๒ กรณี คือ
๑. พลังงานความร้อนบนพื้นโลกมากขึ้น
๒. รังสีอัลตราไวโอเลตในช่วงคลื่นซึ่งเป็น อันตรายต่อสิ่งที่มีชีวิตผ่านลงมาถึงพื้นโลกมากขึ้น
รังสีซึ่งมีผลต่อกระบวนการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายสีเขียว
จากกรณีทั้งสองดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อภูมิอากาศได้หลายอย่าง เช่น
๑. ความร้อนอาจจะทำให้น้ำแข็งในบริเวณ ขั้วโลกใต้ละลายมากขึ้น
๒. ความร้อนจะทำให้น้ำในมหาสมุทรขยายตัว ทำให้เกิดความแปรปรวนทางน้ำ
๓. จากการรับรังสีอัลตราไวโอเลตเพิ่มขึ้น จึงทำให้พืชชั้นต่ำ เช่น แพลงก์ตอน สาหร่าย ไดอะตอม ยูกลีนอยด์เกิดการกลายพันธุ์ (mutation) ได้ ส่วนใบพืชชั้นสูงจะมีการสังเคราะห์แสงลดลง เพราะเซลล์คลุมรอบปากใบ (guard cell) ได้รับอันตรายจากแสง จะปิดปากใบจนวัตถุดิบ ไม่สามารถผ่านเข้าไปในใบได้เช่นเดิม จึงเป็นเหตุทำให้การสังเคราะห์แสงลดลง
๔. รังสีอัลตราไวโอเลต จะทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในสัตว์ หรือเกิดโรคมะเร็งขึ้นที่เปลือกตา และอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น แกะและม้า ถึงแม้จะมีขนห่อหุ้มร่างกาย ซึ่งจะช่วยลดอันตรายลงได้ก็ตาม แต่ในอวัยวะซึ่งขาดเม็ดสี (melanin) เช่น เปลือกตา และอวัยวะสืบพันธุ์ ถ้าได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตต่อเนื่องในระยะยาว ก็อาจทำให้ตาเปื่อย หรือเกิดโรคมะเร็งที่ตาและอวัยวะสืบพันธุ์ได้
๕. สำหรับมนุษย์นั้น ได้ใช้รังสีอัลตราไวโอเลต เมื่อมีอยู่พอควรในการเปลี่ยนสารที่ผิวหนังให้เป็นวิตามินดีสาม ซึ่งป้องกันโรคกระดูกอ่อน และฟันผุ แต่ถ้าได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตมากไป เช่น ผู้ที่อาบแดดเป็นประจำ หรือชาวไร่ชาวนาที่ต้องตากแดดเป็นประจำ จะทำให้มีผิวกร้านหนา เพราะเซลล์แบ่งแยกตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น นอกจากนั้นผิวจะมีรอยย่นสีคล้ำหรือจาง ทำให้ดูแก่เกินวัย และในที่สุดอาจเกิดมะเร็งที่ผิวหนัง คนผิวคล้ำเช่น ชาวเอเชีย และชาวแอฟริกามีเม็ดสีอยู่ในผิวมาก สามารถสะท้อน และดูดซึมรังสีส่วนเกินได้ดีกว่า คนผิวขาว ดังนั้นจึงเกิดอันตรายจากรังสีอัตราไวโอเลตต่อคนผิวขาวมากกว่าคนผิวคล้ำ
สำหรับดวงตาที่รับแสงแดดกล้าเกินไปในระยะยาว จะเกิดเนื้อติ่งที่หัวตา และเป็นมะเร็งที่เยื่อบุชั้นนอกของนัยน์ตา หรือเป็นต้อกระจกได้