สารมลพิษและบทบาทต่อความร้อนของโลก
สารมลพิษส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบรรยากาศชั้นล่างคือ ชั้นโทรโพสเฟียร์ เช่น มีเทน (CH
4) ไนโตรเจนออกไซด์ (NO
x) คาร์บอนไดออกไซด์ (CO
2) คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) คลอโรฟลูออโรคาร์บอน (chlorofluorocarbons) และโอโซน เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ก๊าซโอโซนในบรรยากาศชั้นโทรโพสเฟียร์นี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และถือเป็นสารมลพิษ โดยทั่วไปไม่ควรนำไปปะปนกับก๊าซโอโซนในชั้นสตราโทสเฟียร เพราะบรรยากาศในสองชั้นนี้มักไม่ใคร่ผสมปนเปกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีชั้นโทรโพพอสคั่นอยู่ สารมลพิษอื่นๆ ก็เช่นกัน มักไม่ใคร่มีโอกาสขึ้นไปสูงถึงชั้นสตราโทสเฟียร์ ยกเว้นแต่เมื่อ
ก. เกิดลมพายุรุนแรงในบรรยากาศชั้นบน
ข. เป็นก๊าซเฉื่อยไม่ทำปฏิกิริยากับสาร มลพิษอื่นๆ ได้ง่าย จึงคงตัวอยู่นานและลอยขึ้นสูงเป็นลำดับ เช่น คลอโรฟลูออโรคาร์บอน ไนทรัสออกไซด์ (N
2O) เป็นต้น
ค. เกิดมลพิษในชั้นสตราโทสเฟียร์ เช่น เครื่องบินคอนคอร์ดของอังกฤษ และฝรั่งเศส และเครื่องบิน Tu-144 ของสหภาพโซเวียต มีเพดานบิน อยู่ที่ระดับความสูง ๑๗ กิโลเมตร โบอิ้ง2707 ของสหรัฐอเมริกา มีเพดานบินที่ระดับ ๒๐ กิโลเมตร เป็นต้น จึงเกิดออกไซด์ของไนโตรเจน ไฮโดรเจนออกไซด์ ฯลฯ
เมื่อมีก๊าซไนโตรเจน (N) ออกซิเจน (O) และโอโซน (O
3) ในบรรยากาศชั้นสูง อาจมีปฏิกิริยาจนเกิดไนทรัสออกไซด์ (N
2O) ก๊าซนี้สามารถเก็บกักความร้อนไว้ได้เช่นเดียวกันกับ มีเทน และก๊าซอื่นๆ ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป
สารมลพิษบางชนิดทำให้โลกร้อนขึ้น แต่มีบทบาทแตกต่างกัน สามารถจำแนกออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. ทำลายโอโซนในชั้นสตราโทสเฟียร์ จึงทำให้โลกรับพลังงานความร้อนโดยตรงจาก ดวงอาทิตย์มากขึ้น
๒. มีมลพิษในบรรยากาศชั้นล่างที่หุ้มห่อ ผิวโลกมากขึ้นกว่าปกติ สารมลพิษเหล่านี้จะเก็บกักรังสีโลก หรือความร้อนไว้มากกว่าปกติเช่นกัน