ไอน้ำ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซโอโซนและก๊าซออกซิเจนช่วยดูดซึมรังสีต่าง ๆ ในบรรยากาศ
ชั้นของบรรยากาศ
บรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกมีอยู่หลายชั้น และไม่เป็นเนื้อเดียวกันตลอด จะแตกต่างกันตามเวลา ตำแหน่งสถานที่ หรือความสูง ตามอุณหภูมิ หรือตามความเข้มข้นขององค์ประกอบทางเคมี เนื่องจากอุณหภูมิมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ มากกว่าองค์ประกอบอื่นๆ ฉะนั้นถ้าถืออุณหภูมิเป็นเกณฑ์ จะแบ่งบรรยากาศออกได้ เป็น ๔ ชั้น คือ
ก. ชั้นโทรโพสเฟียร์ (troposphere)
เป็นชั้นที่อยู่ประชิดผิวโลก ยิ่งระดับสูงขึ้น อุณหภูมิจะเย็นลงเป็นลำดับ คือ จะลดลงในอัตราประมาณ ๖.๕ องศาเซลเซียสต่อกิโลเมตร อากาศที่เย็นลง เมื่ออยู่สูงขึ้นไป จะมีการกระจายตัว หรือเคลื่อนไหวในแนวดิ่ง จึงมีการผสมผสานกันเป็นอย่างดีพอสมควร บรรยากาศชั้นนี้ในแถบเส้นศูนย์สูตรมีความสูงประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ส่วนบริเวณขั้วโลกทั้งสอง จะสูงเพียง ๑๐ กิโลเมตร
ข. ชั้นสตราโทสเฟียร์ (stratosphere)
เป็นชั้นบรรยากาศที่ ๒ ที่มีระดับความสูงประมาณ ๕๐ กิโลเมตร บรรยากาศชั้นนี้ยิ่งสูงขึ้น อุณหภูมิจะสูงขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งถึง ๒๗๐ องศาเคลวิน หรือใกล้ศูนย์องศาเซลเซียส ในบรรยากาศช่วงนี้ มีก๊าซโอโซน (ozone) เกิดขึ้นตามธรรมชาติแผ่เป็นชั้น จึงนิยมเรียกส่วนนี้ว่า ชั้นโอโซน (ozone layer) ก๊าซนี้ทำหน้าที่ดูดซึมบางส่วนของรังสีดวงอาทิตย์ โดยเฉพาะบางส่วนของรังสีอัลตราไวโอเลต จึงมีผลทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น อากาศในชั้นนี้ จึงไม่เคลื่อนที่ในแนวดิ่ง เป็นเหตุมิให้มีการผสมผสานในบรรยากาศตามควร
ช่วงต่อระหว่างส่วนล่างของสตราโทสเฟียร์ และโทรโพสเฟียร์ เรียกว่า โทรโพพอส (tropopause) เป็นชั้นที่มีความสูงระยะสั้นๆ ที่มีอุณหภูมิคงที่
ค. ชั้นเมโซสเฟียร์ (mesosphere)
เ ป็นชั้น บรรยากาศที่เย็นที่สุด ยิ่งความสูงเพิ่มขึ้น อุณหภูมิ จะลดลง ในระดับความสูง ๘๕ กิโลเมตรโดยประมาณ อุณหภูมิจะลดลงถึง ๑๗๕ องศาเคลวิน หรือ -๙๘ องศาเซลเซียส ลูกอุกกาบาต (meteors) มักจะเริ่มลุกเป็นไฟ เมื่อเข้าสู่บรรยากาศชั้นนี้ ช่วงต่อระหว่างชั้นสตราโทสเฟียร์กับ เมโซสเฟียร์จะมีชั้นย่อยเรียกว่า สตราโทพอส (stratopause) ซึ่งมีอุณหภูมิคงที่ตลอดความสูง เช่นเดียวกับโทรโพพอส
ง. ชั้นเทอโมสเฟียร์ (thermosphere)
หรือ บางครั้งเรียกชั้นไอโอโนสเฟียร์ (ionosphere) เป็นบรรยากาศชั้นสูงสุด ซึ่งอุณหภูมิจะสูงขึ้นตามระดับความสูง และจะมีอุณหภูมิเกิน ๑,๐๐๐ องศาเคลวิน รังสีเอกซ์ และรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ จะทำให้อิเล็กตรอนจากอะตอม และโมเลกุลหลุดออกเป็นอิสระ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางไฟฟ้า และเคมีต่อโมเลกุลของก๊าซในบรรยากาศชั้นนี้ จึงเกิดสมบัติในการนำไฟฟ้า และการสะท้อนคลื่นวิทยุเอเอ็ม กลับไปยังโลก
ระดับความเข้มข้นของโอโซนในชั้นบรรยากาศ
ที่มา: UNEP, 1987 ๑๙๘๗